ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คำปลอบใจเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวคืนสู่ความรุ่งโรจน์ที่สุดแล้วกลับมีสัญญาณชัดส่งตรงจากค่ายรถยนต์เบอร์หนึ่ง “โตโยต้า” ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังคงรุ่งริ่ง ออเดอร์หดหาย ต้องปรับลดกำลังการผลิต และในที่สุดก็เลิกจ้างพนักงานผ่าน “โครงการจากด้วยใจ” โดยให้สมัครใจลาออกนับพันคน
ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังตามหลอนไม่เลิก ถึงแม้รัฐบาลจะมีหลายมาตรการออกมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และกระตุ้นการส่งออก แต่ถึงที่สุดแล้วความเป็นจริงที่หนีไม่พ้นก็คือ ภาวะเศรษฐกิจทั้งนอกและในประเทศยังโงหัวไม่ขึ้น และดูท่าว่าเศรษฐกิจที่เป็นภาคการผลิตจะสะท้อนสภาพที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
กระแสข่าวโตโยต้าเตรียมปรับลดพนักงานมีเสียงร่ำลือออกมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อดูจากตัวเลขการผลิตและยอดขายของค่ายรถยนต์โดยรวมที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายมาตั้งแต่ปีก่อนนี้แล้ว กระทั่งข่าวลือกลายเป็นข่าวจริงเมื่อมีรายงานยืนยันในเช้าของวันที่ 4 กรกฎาคม 2559ว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น เลิกจ้างพนักงานเหมาค่าแรง 3 โรงงาน จำนวนกว่าพันคน โดยจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายตามอายุงานของพนักงาน
ในวันถัดมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้สยบกระแสข่าวลือกระฉ่อนเมืองให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้กระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท โดยได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงกรณีการเปิดโครงการสมัครใจลาออกหลังจากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่า เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังชะลอตัว และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ทั้งในและนอกประเทศตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ทำให้บริษัทต้องปรับลดกำลังการผลิต รวมถึงการปรับลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ทำให้รายได้รวมต่อเดือนของพนักงานลดลง
ทางบริษัทได้เปิดโครงการจากด้วยใจ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับพนักงานรับเหมาเข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออก ทั้งนี้ยืนยันว่าพนักงานจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย และพิจารณาจ่ายเงินเพิ่มเติมพิเศษอีกด้วย และหากหากสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ดีขึ้น ทางบริษัทฯยินดีที่จะรับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการกลับเข้ามาทำงาน โดยคงอัตราค่าจ้างพร้อมสวัสดิการตามเดิม รวมทั้งจะมีการนับอายุงานต่อเนื่อง และขอยืนยันว่าบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ฯ ไม่เคยมีนโยบายปลดพนักงาน ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
ระดับโตโยต้าปลดคนงานต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ ด้วยเหตุฉะนี้ กระทรวงแรงงาน โดยนายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงต้องเทคแอคชั่นออกมาแจกแจงว่า โครงการ ‘จากกันด้วยใจ’ ของโตโยต้า เป็นโครงการที่เปิดให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งมีอยู่ในกระบวนการผลิตประมาณร้อยละ40 ของลูกจ้างทั้งหมดราว 750,000 คน หรือราว 800 - 1,000 คน สมัครใจลาออก โดยกำหนดจำนวนแต่ละไลน์การผลิต และได้เปิดรับสมัครเข้าโครงการตั้งแต่วันที่ 4-13 กรกฎาคม 2559 โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2559 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ 800 คน
สำหรับโตโยต้า 3 แห่ง ที่ประกาศโครงการจากกันด้วยใจ ประกอบด้วย โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย(โรงงานสำโรง สำนักงานใหญ่, โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า (นิคมเกตเวย์) อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (โรงงานบ้านโพธิ์) ประกอบรถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก และทำชิ้นส่วนรถยนต์ ต.ลาดขวาง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด(มหาชน)ได้มีการชี้แจงกับลูกจ้างเหมาค่าแรงพร้อมทั้งสัญญากับลูกจ้างเหมาค่าแรงว่าภายใน 1ปีข้างหน้าหากการปรับระบบลงตัวและผลประกอบการดีขึ้นจะรับลูกจ้างเหมาค่าแรงกลับเข้ามาทำงานในอัตราค่าจ้างเดิมสวัสดิการเดิมและนับอายุงานต่อเนื่องด้วย กรณีดังกล่าวมีการจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าที่เรียกว่าเงินพิเศษให้ด้วย แทนการที่จะส่งลูกจ้างเหมาค่าแรงให้กับทางบริษัทต้นสังกัด
แต่อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ กำลังปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตหรือเชิงรูปแบบการผลิต รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตยานยนต์ ซึ่งในส่วนของตัวเลขอุตสาหกรรมยานยนต์ มีบริษัทจำนวนมาก คือ บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ จำนวน 17 บริษัท ภายใต้ 17บริษัทจะมีบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นชิ้นส่วนชุดใหญ่ๆ ทั้งหมด 390 บริษัท ย่อยลงมาจะเป็นพาร์ทต่างๆ ที่เป็นการผลิตชิ้นส่วนเล็ก ๆ ประมาณ 1,250 บริษัท มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องประมาณ 750,000 คน โดยในวงรอบของอุตสาหกรรมยานยนต์ จะเป็นจ้างเหมาช่วง (Sub Contractor) ประมาณ 40% ของ 750,000 คน
และอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองจะเป็นกลุ่มที่ต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นเป็นไปตามความต้องการของตลาด เช่น การใช้ออโตเมติก การใช้ไอที อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง คือบริษัทที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น สมุทรปราการ อยุธยา ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
การปรับลดกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากการส่งออกตกต่ำลงจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ส่งผลสะท้อนผ่านมายังตัวเลขการส่งออกรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้นที่ตัวเลขส่งออกลดลง สินค้าอื่นๆ ที่พึ่งพิงตลาดโลกก็เผชิญกับความผันผวนเช่นเดียวกัน ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา จึงมีการหั่นเป้าส่งออกปีนี้ลงเป็นติดลบจากเดิมที่คาดว่าจะเป็นบวก
กกร.ได้ประเมินภาวะการส่งออกและแนวโน้มเศรษฐกิจภาพรวมในปี2559 พบว่า เศรษฐกิจโลกยังคงผันผวนและไม่แน่นอนโดยเฉพาะหลังประชามติของอังกฤษ (BREXIT) ที่สนับสนุนการถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) ดังนั้นจึงปรับเป้าการส่งออกจากเดิม 0-2% เป็นลบ 2-0% ซึ่งถือว่าไม่มากหากเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก แต่ยังคงเป้าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในระดับ3-3.5% เนื่องจากการลงทุนจากรัฐ การท่องเที่ยว และการบริโภคเริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น
การส่งออกของไทยภาพรวม จากตัวเลข 5 เดือนแรกที่ติดลบ 1.9% ไปแล้ว ทำให้ กกร.ต้องมาประเมินในช่วงครึ่งปีหลังกันใหม่ ซึ่งแม้ว่าสัญญาณจะดีขึ้นแต่ภาพรวมก็ยังคงมองว่ายังมีโอกาสติดลบ 2%-0% แต่ก็ยังมีความหวังว่าสัญญาณต่างๆ และความเชื่อมั่นจะดีขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ปรับรายงานการค้ามนุษย์ของไทยเป็น Tier 2 Watch List
ขณะเดียวกัน นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่าจะดีขึ้นตามบรรยากาศที่เริ่มฟื้นตัว คาดว่าจีดีพีทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 3 เท่าประมาณการครั้งก่อน เพราะผลกระทบจาก Brexit ต่อไทยค่อนข้างจำกัด และมีผลบวกมาจากการลงทุนภาครัฐที่จะนำร่องให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่น ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันยังต่ำ คาดว่าอยู่ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ระดับต่ำที่ร้อยละ 1.5รวมทั้งยังมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินจากภาครัฐที่จะกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเอสเอ็มอี ปัญหาภัยแล้งบรรเทาลง และธุรกิจภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี
ขณะที่ปัจจัยลบ คือ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเปราะบาง ปัญหาโครงสร้างภาคการส่งออกที่สินค้าไทยยังล้าสมัย และหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง
ส่วนแนวโน้มตลาดการเงินในช่วงครึ่งปีหลังBAY ประเมินว่า ยังมีความผันผวนจากผลกระทบที่อังกฤษลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexitส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าสุดในรอบ31 ปี โดยคาดว่าเงินปอนด์อยู่ที่ 1.20 ปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐ สิ้นปีนี้ และต้องจับตาค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากเงินทุนไหลเข้า
โดยมีแนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปี และจะแข็งค่าถึง 35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 1/2560 และ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 2/2560เนื่องจากธนาคารกลางอังกฤษ และยุโรป มีแนวโน้มใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่ม และอังกฤษดอกเบี้ยเหลือร้อยละ0 ในไตรมาส 4 ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบมีมากขึ้น และต่างชาติจะนำเงินมาลงทุนในประเทศเกิดใหม่เพื่อหาผลตอบแทนที่สูง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2559แต่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเดือนธันวาคม หลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐที่จะมีขึ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ขณะที่ค่าเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปีเงินเยนจะแข็งค่ามาอยู่ที่ 0.3620 เยนต่อบาท ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าอยู่ที่ 43.90 ปอนด์ต่อบาท และเงินยูโรอ่อนค่าอยู่ที่ 38ยูโรต่อบาท ดังนั้น เอกชนควรป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง
กล่าวโดยสรุปแล้ว ถึงแม้จะคงเป้าจีดีพีไว้กันที่ 3 - 3.5% แต่ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ตัวเลขส่งออกที่ติดลบ และการเลิกจ้างจากโตโยต้า ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกว่ายังไม่พ้นปากเหว