ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ความวิตกต่อ“ไวรัส ซิกา”ที่ ฝ่ายการแพทย์ และฝ่ายจัดการแข่งขันโอลิมปิก ริโอ เกมส์ คณะทำงานของประธานาธิบดี ดิลมา รูสเซฟฟ์ แห่งบราซิล หรือ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC หรือสมัชชาสมาคมโอลิมปิกแห่งชาติ รวมถึงองค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีต่อบราซิล เจ้าภาพโอลิมปิก ที่จะมีขึ้น ในวันที่ 5-21 สิงหาคมนี้ ว่าจะสามารถรับมือการระบาดของไวรัสซิกาได้มากน้อยเพียงใด
องค์กรเหล่านี้ ให้ความเห็นไปในทิศทางคล้ายๆกัน คือ“นักกีฬาทุกคนสบายใจได้ หากไม่ใช่ผู้หญิงตั้งครรภ์ย่อมไม่มีความเสี่ยง”
แต่หลายประเทศ ก็ไม่อาจเสี่ยง เช่น คณะกรรมการโอลิมปิกสหรัฐ แจ้งต่อสมาคมกีฬาสหรัฐว่า นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่กลัวติดเชื้อไวรัสซิกา ไม่ควรเดินทางไปร่วมมหกรรมโอลิมปิกรีโอ 2016 เดือนสิงหาคมนี้
“เจ้าหน้าที่ได้แจ้งต่อสมาคมกีฬาต่าง ๆ เรื่องคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) ที่ขอให้สตรีมีครรภ์หรือผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ที่ไวรัสซิการะบาด ปัจจุบันมีแล้ว 33 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกา”
ความเห็นจากหลายองค์กรมีขึ้น หลังมีการแสดงความเห็นของแพทย์จากแคนาดา ที่ระบุว่า IOC และWHO จะเป็นองค์การที่โหดร้ายที่สุดในโลก หากไม่เลื่อนการแข่งขันโอลิมปิกออกไป เนื่องจากอาจทำให้เชื้อไวรัสซิกา ที่ส่งผลให้เด็กทารกในครรภ์มารดามีขนาดศีรษะเล็กกว่าปกติ แพร่กระจายออกไปผ่านทั้งทางนักกีฬา และผู้คนที่มุ่งหน้ามาชมการแข่งขันในบราซิล
กระแสในอเมริกา รุนแรงทำเอาเหล่า “นักกีฬาซูเปอร์สตาร์” หลายคน เช่น ทีมบาสเก็ตบอลของสหรัฐอเมริกา “ดรีมทีม” อย่าง สตีเฟ่น เคอร์รี่ และ เลบรอน เจมส์ ขอถอนตัว แต่ สตาร์ฯอย่าง “คาร์เมโล แอนโทนี่” นักบาสคนแรกที่รับใช้ชาติในโอลิมปิกมากสุด 4 สมัย ระบุว่า “แม้หลายฝ่ายจะกังวลเรื่องไวรัสซิก้า แต่เขาได้ปรึกษาแพทย์และภรรยาแล้ว ก่อนตัดสินใจมาร่วมทีมครั้งนี้ ซึ่งตัวเขามองว่า การรับใช้ชาติคือเกียรติประวัติที่ยิ่งใหญ่และพร้อมพาทีมป้องกันแชมป์ให้ได้”
โปรกอล์ฟหลายคน “เจสัน เดย์” โปรมือ 1 โลกชาวออสเตรเลียน ประกาศไม่เข้าร่วมแข่งขัน เนื่องจากหวั่นเกรงไวรัสซิกาที่กำลังระบาดหนัก 2 โปรชาวไอร์แลนด์เหนือ รอรี แม็คอิลรอย กับ แกรม แม็คดาวล์ รวมทั้ง “วีเจย์ ซิงห์” อดีตโปรมือ 1 โลกจากฟิจิ, “แบรนเดน กราซ” จากแอฟริกาใต้ ก็จะไม่เดินทางไปร่วมแข่งขัน
ต่างกับ “เกาหลีใต้” ที่เตรียมพร้อมสู่โอลิมปิก 2016 ประเทศบราซิล มีข่าว “เปิดตัวชุดนักกีฬาผลิตแบบพิเศษ เคลือบสารป้องกันยุงที่เป็นพาหะเชื้อไวรัสซิกา” โดยยูนิฟอร์มชุดนี้ ถูกออกแบบให้เป็นชุดเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวปิดมิดชิด และที่สำคัญคือ ตัวผ้าทำมาจากใยสังเคราะห์เคลือบด้วยสารเคมีที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถป้องกันยุงซึ่งเป็นพาหะของเชื้อไวรัสซิกา ที่ยังคงระบาดในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ รวมไปถึงที่บราซิลได้
“จะให้นักกีฬาใช้สวมใส่ตลอดงานพิธี รวมไปถึงตอนเข้าพักที่หมู่บ้านนักกีฬา แต่สำหรับในช่วงระหว่างการแข่งขัน ตามกฎของโอลิมปิกแล้ว จะไม่อนุญาตให้นักกีฬาสวมชุดยูนิฟอร์ม แต่ทั้งนี้ ผู้เข้าแข่งขันก็สามารถใช้สเปรย์ฉีดป้องกันได้ ก่อนไปแข่งขัน ทางการของเกาหลีใต้จะทำการเรียกนักกีฬาประชุมอีกครั้ง เพื่อให้คำแนะนำเรื่องการป้องตัวจากติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างรัดกุม”โฆษกกระทรวงกีฬาเกาหลีใต้ให้ข่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
กลับมาที่ประเทศไทย ล่าสุดมีนักกีฬาผ่านเข้ารอบร่วมแข่งขันในมหกรรมโอลิมปิกอย่างต่อเนื่อง เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม “พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เรียกประชุมคณะกรรมการ กรณีพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย
“ที่ประชุมยังได้มีการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในกลุ่มนักกีฬา และบุคลากรคนอื่น ๆ ที่จะเดินทางไปร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ประมาณเดือน ส.ค. นี้ ด้วย เบื้องต้นต้องมีการให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองก่อนการเดินทาง โดยจากนี้จะมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง”
ทราบว่า ในวันที่ 4 กรกฎาคม นี้ ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เตรียมแผนการจัดอบรมให้คำแนะนำแก่นักกีฬาไทยชุดโอลิมปิก ทั้งเรื่อง สารต้องห้าม , ไข้เหลือง , ไวรัสซิกา ที่โรงแรมเดอะแกรนด์โฟร์วิง ไว้แล้ว
“นายสกล วรรณพงษ์” ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ได้เตรียมความพร้อมในการเตรียมนักกีฬาไทย “ทัพแรก” ที่จะเดินทางเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2016 ด้วยการเตรียมฉีดวัคซีนให้กับนักกีฬาและสต๊าฟโค้ช ที่จะเดินทางไปแข่งขัน เพื่อป้องกันไวรัสซิกาในเบื้องต้น พร้อมทั้งได้กำชับให้ทุกสมาคมกีฬาฯ เดินทางถึง เมืองริโอ เดอ จาเนโร ล่วงหน้าก่อนเป็นเวลา 10 วันตามกฎของโอลิมปิกสากล ซึ่งคาดว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ไม่น่าจะมีปัญหา
ขณะที่ “นายแพทย์อำนวย กาจีนะ” อธิบดีกรมควบคุมโรค เร่งรัดให้มีมาตรการที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับการส่งตัวนักกีฬาไปแข่งขันโอลิมปิก “ตามมาตรฐานสากล” เช่น มีการตรวจร่างกายก่อนเดินทาง ระหว่างที่อยู่ในรีโอเดจาเนโรจะต้องมีมาตรการในการดูแลตัวเอง อาทิ การทายาป้องกันยุง ป้องกันไม่ให้ยุงกัด หลังจากหลับมาถึงประเทศไทยต้องตรวจร่างกายและติดตามต่อเนื่องไปสักระยะ โดยเฉพาะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ผู้หญิง ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงประสานงานกับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในการป้องกันเรื่องนี้อยู่
แม้ทางการไทย จะมีแผนรับมือไว้ล่วงหน้าเป็นเดือน ๆ แต่ก็ยังมีความกังวลตามมา “นายพิมล ศรีวิกรม์” นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมฯแรกๆที่แสดงความกังวลต่อไวรัสซิกา
“สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย มีความกังวลเรื่องไวรัสซิกา แทนนักกีฬาที่จะเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกที่บราซิล ด้วยเหตุนี้จึงเปลี่ยนแปลงแผนเก็บตัวและฝึกซ้อม ช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ จากรัฐเซาเปาโล ของบราซิล เปลี่ยนไปเก็บตัวที่ประเทศอังกฤษก่อน 10 วัน แล้วจึงบินไปเก็บตัวต่อที่บราซิล ในวันที่ 10 สิงหาคม เพื่อความปลอดภัยของทั้งนักกีฬาและสต๊าฟโค้ช”
รวมถึง "สมากีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย" รศ.ดร.ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์ รองเลขาธิการฯก็ยอมรับว่า “อาจจะต้องยกเลิกแผนการส่งนักชกโอลิมปิกไทยไปฝึกซ้อมล่วงหน้าที่บราซิล 1 เดือน เพราะยังมีเรื่องไวรัสซิกา ที่กำลังระบาดในแถบอเมริกาใต้ ที่ต้องระวัง อาจต้องยกเลิกแผนนี้ และให้เข้าหมู่บ้านนักกีฬาตามโปรแกรมเดิมคือ 25 ก.ค. นี้ ก็คิดว่ามีเวลาเพียงพอสำหรับปรับตัวกับสภาพอากาศ ก่อนลงชกในโอลิมปิก 2016 ระหว่าง 5-21 ส.ค. นี้ ที่บราซิล”
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นว่า การจัดอบรมให้คำแนะนำแก่นักกีฬาไทยชุดโอลิมปิก ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ นอกจากทางการกีฬาแห่งประเทศไทย จะประกาศอัดฉีกเงินสิบ ๆล้านให้กับนักกีฬาแล้ว กกท. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นว่า “สามารถเอาอยู่” ให้ความรู้กับนักกีฬาอย่างรอบครอบเป็นที่สุด และหวังว่า คงไม่ถึงกับต้องเบิกงบประมาณใหม่ เพื่อผลิตชุดพิเศษป้องกันพาหะจากยุงแบบเกาหลีใต้