xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใต้ร่มพระบารมี 70 ปี แห่งการครองราชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 มาถึงวันนี้ 9 มิถุนายน 2559 นับเป็น 70 ปีที่พสกนิกรชาวไทยได้อยู่ใต้ร่มพระบารมีแห่งการเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติด้วยความอยู่เย็นเป็นสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ด้วยวาระอันเป็นมหามงคลนี้ รัฐบาลและปวงชนชาวไทยได้พร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองแสดงความจงรักภักดีถวายเป็นราชสักการะ โดยในการนี้ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า “การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี” กำหนดการจัดงานฉลองระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ถึง 9 มิถุนายน 2560

ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติตามคำกราบบังคมทูลของรัฐบาลขณะมีพระชนมายุ 17 พรรษาสืบมาจวบจนถึงทุกวันนี้ เป็นระยะเวลา 70 ปีแล้วที่พระองค์ทรงปกครองราชอาณาจักรไทยให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ทรงนำประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤตการณ์ปัญหาต่างๆ ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพ ยังผลให้ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงเป็นปึกแผ่นตลอดมา

ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร พระราชกรณียกิจนานัปการนั้น ล้วนอำนวยคุณประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ จึงปรากฏพระเกียรติคุณแผ่ไพศาลไปยังนานาประเทศ เป็นที่ประจักษ์พระปรีชาสามารถทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ทรงยึดมั่นในพระปฐมบรมราชโองการและพระราชสัตยาธิษฐาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงอาณาประชาราษฎร์และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักพัฒนาอย่างแท้จริง ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยเฉพาะการเสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาค เป็นผลให้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรที่ต้องเผชิญปัญหาการทำกินและการดำรงชีพที่ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ จึงทรงคิดค้นทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกรเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข้ง เรียกว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่”

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกว่า ตลอดเวลา 70 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรทั่วทุกภูมิภาคนานัปการ ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติ

พระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของคนไทย ซึ่งทั่วโลกก็ได้ประจักษ์และกล่าวขานถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านต่าง ๆ จะเห็นได้จากการจัดงานครองราชย์ครบ 60 ปี ได้มีพระมหากษัตริย์ และผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสดังกล่าวถึง 30ประเทศทั่วโลก พร้อมยกย่องถวายพระเกียรติยศสูงสุด ถือเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุด

“สำหรับพระราชกรณียกิจ และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่เป็นที่ประจักษ์สู่สายตาชาวไทยและทั่วโลกจำแนกได้ คือ 1. ทรงเป็นพระราชาที่เป็นสง่าแห่งแคว้น 2. ทรงเป็นที่พึ่งของประชาชน ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาจราจร การทำมาหากิน น้ำ การศึกษา โรงพยาบาล เป็นต้น 3.ทรงเป็นต้นแบบแห่งคุณธรรม และ 4. ทรงเป็นต้นแบบการผสมผสานโบราณราชประเพณีกับความร่วมสมัย”นายวิษณุอธิบาย

นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริแก้ไขบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของราษฎร ซึ่งต่อมาปรากฏเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ โดยทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการอยู่อย่างสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงครอบคลุมชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตร ชลประทาน ที่ดิน ป่าไม้ ประมงและปศุสัตว์

โครงการพระราชดำริโครงการแรกเริ่มในพุทธศักราช 2495 ได้แก่ ถนนพระราชทานสายหัวหิน - ห้วยมงคล ซึ่งเป็นถนนเข้าหมู่บ้านห้วยมงคล มีพระราชดำริเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบริเวณบ้านห้วยมงคล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยพระราชทานรถบูลโดเซอร์เกลี่ยดินสร้างเส้นทาง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการอื่นๆ ในลำดับต่อมา

ถึง พ.ศ. 2540ประเทศไทย ประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่ราษฎร เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน ความพอเพียงมีคุณลักษณะ 3 อย่าง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หากนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสังคมและทรัพยากรบุคคลอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีความสุข

นิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือที่รู้จักกันในนาม “อาจารย์ยักษ์” ที่บ่มเพาะหลักคิดและหลักปฏิบัติผ่าน“ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิตที่แสดงผลสัมฤทธิ์ของการนำศาสตร์พระราชาด้านการจัดการดิน น้ำ ป่า มาฟื้นฟูระบบนิเวศจนสามารถพลิกฟื้นดินดานสร้างระบบนิเวศที่สมดุลต่อระบบการผลิตภาคการเกษตร พัฒนาสู่ชุมชนที่ดำเนินวิถีชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้ถ่ายทอดความ “เข้าใจ เข้าถึง เศรษฐกิจพอเพียง” แบบย่นย่อที่เข้าใจง่ายโดยสรุปคุณลักษณะสำคัญของ“ความพอเพียง” คือ พอดีกับตัวเอรา พอดีกับฐานะและกำลังของเรา อธิบายเป็นภาษาชาวบ้านคือทำอะไรก็ตามต้องพอดี จะกินก็พอดี จะอยู่ก็พอดี หากอธิบายเป็นภาษาวิชาการ อาจบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตน แต่ที่สำคัญมากกว่าคำอธิบายคือ การทำให้ “ความพอดี” นั้นเกิดขึ้นได้จริง โดยพระองค์ท่านตรัสว่า มีสองเงื่อนไขสำคัญที่จะนำมาซึ่งความพอเพียง คือ “ความรู้”และ “คุณธรรม” ความรู้จึงเป็นเรื่องใหญ่และต้องรู้หลายด้าน หากนำภาษาธรรมะมากำกับก็ต้องใช้ธรรมข้อ“สัปปุริสธรรม” คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักประชุมชน รู้จักบุคคล นอกจากจะรู้รอบรู้ครบทุกด้านแล้ว ยังต้องรอบคอบและระมัดระวังในการลงมือทำ

“ในส่วนของการนำไปปฏิบัติและขยายผลนั้น หัวใจสำคัญ คือ การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่บอก แค่สอน เพราะการทำให้ดูดีกว่าพูดอย่างเดียว ดังนั้นพระองค์ท่านจึงทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พระองค์ท่านเป็นกษัตริย์ เป็นประมุขของประเทศ ท่านวางตัวเป็นที่ยอมรับของทั้งโลก ได้รับการยอมรับว่าเป็นกษัตริย์ที่มีความเป็นกษัตริย์ที่สมบูรณ์และครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก แสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านรอบรู้ในฐานะของท่าน ท่านระมัดระวังเสมอในการดำเนินชีวิตทุกย่างก้าว และมีคุณธรรมกำกับชีวิตถึง 10 ข้อ นั่นคือ ทศพิธราชธรรม”

นายนิวัฒน์กล่าวด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของประเทศนี้ เสด็จฯ ไปทั่วทุกภาคของประเทศภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี เพื่อที่จะรู้จักแผ่นดินนี้ รู้จักคนที่อยู่อาศัยในแผ่นดิน การครองแผ่นดินของพระองค์จึงเป็นไปโดยธรรม

“ท่านเห็น “คน” แต่เดี๋ยวนี้วิถีการพัฒนาของประเทศบ้านเรากำหนดกันแบบ “ไม่เห็นคน”เราเห็นแต่เงินเป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคนจะอยู่อย่างไร คนไทยต้องมีความสำคัญเท่ากับแผ่นดินไทย การบริหารประเทศจึงต้องเห็นทั้งภูมิศาสตร์และคน เพื่อที่จะออกแบบและตัดสินใจให้เหมาะกับภูมิสังคมของเรา”อาจารย์ยักษ์แจกแจง

ขณะที่ สเตฟาโนส โฟทีโอ ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ กล่าวปาฐกถาเนื่องการประชุมวิชาการเรื่อง “ความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเชีย” ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีแนวทางที่สอนให้ตระหนักถึงความสุขที่ไม่ได้ผูกพันกับเงินเพียงอย่างเดียว แต่ให้นึกถึงความสามารถและความเหมาะสมในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นประโยชน์และรับผิดชอบ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาให้ได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียมกันในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนอกจากจะเป็นแนวทางเสริมพลังการพัฒนาที่สำคัญ ยังมีความสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของเอเชียเป็นอย่างยิ่ง เพราะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเล็งเห็นคุณค่าของคนและสิ่งแวดล้อม กลไกของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับและเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับชาติ จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกไปสู่ความสำเร็จได้

และทั้งหมดนั้นคือพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ซึ่ง “ประชาชนของพระราชา” พร้อมใจกันเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในวาระอันเป็นมหามงคล 70 ปีแห่งการครองราชย์

ล้อมกรอบ//

พระราชพิธีสำคัญเนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ ทรงเป็นพระมิ่งขวัญและศูนย์รวมความรักความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ ภายหลังจากที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 แล้ว ในรัชกาลของพระองค์มีพระราชพิธีสำคัญที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลแห่งการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ โดยสังเขปตามลำดับ ดังนี้

พระราชพิธีรัชดาภิเษก

พุทธศักราช 2514พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 25 ปี 9 มิถุนายน 2514รัฐบาลและปวงชนชาวไทย จึงพร้อมใจกันขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานเฉลิมฉลองในมหามงคลสมัยนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาติบ้านเมือง จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาบรรจบครบ25 ปี ในการนี้ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 8 - 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2514 โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี

พระราชพิธีเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้หมื่นวันเศษ

สืบเนื่องจากวันที่5 ธันวาคม พุทธศักราช 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา และเป็นปีที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้หมื่นวันเศษ สำนักพระราชวัง ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงกราบทูลกำหนดจัดงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองตามแบบครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบหมื่นวัน เมื่อพุทธศักราช 2438 ซึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญพระกุศลเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นพระราชประเพณีสืบไปภายหน้า โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชสิริราชสมบัติ สมโภชพระราชลัญจกร สถาปนาพระอริยศักดิ์พระราชวงศ์ สถาปนาสมณศักดิ์พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ

โดยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาและพระราชพิธีเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้หมื่นวันเศษโดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก

พุทธศักราช 2531 นับเป็นมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี 22 วัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 ซึ่งเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชเจ้า และนับจากวันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 เป็นต้นไป ถือว่าพระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดให้มีการพระราชพิธีเฉลิมฉลอง รวม 3วัน คือ วันที่ 2, 3 และวันที่ 5กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวมงานพระราชกุศลรัชมังคลกับพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกเป็นงานเดียวกัน เรียกว่า พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก

พระราชพิธีกาญจนาภิเษก

พุทธศักราช 2539ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน 2539จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รัฐบาลและประชาชน จัดงานเฉลิมฉลอง พระราชทานชื่อพระราชพิธีว่า “พระราชพิธีกาญจนาภิเษก” ชื่อการจัดงานว่า“งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี” กำหนดขอบเขตการจัดงานเฉลิมฉลองระหว่างวันที่ 1มกราคม พุทธศักราช 2538 จนถึงวันที่ 31ธันวาคม พุทธศักราช 2539

พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

พุทธศักราช 2549ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ เถลิงถวัลยราชสมบัติครบ60 ปี 9มิถุนายน 2549 จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รัฐบาลและประชาชน จัดงานเฉลิมฉลอง พระราชทานชื่อพระราชพิธีว่า “พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60ปี” ชื่อการจัดงานว่า “งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี”กำหนดขอบเขตการจัดงานเฉลิมฉลองระหว่างวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2548จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2549



กำลังโหลดความคิดเห็น