ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เอเจนซี- เด็กหนุ่มจากหมู่บ้านชนบทห่างไกล ด้อยโอกาสทางการศึกษา สร้างประวัติศาสตร์ เมื่อเขาได้รับเลือกให้เป็นนักศึกษาชาวจีนคนแรก ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีประสาทปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สถาบันอุดมศึกษาอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี และมีชื่อเสียงระดับโลกเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา
ทุกคนเฝ้ารอฟังกันว่า เขาจะเอ่ยวาทะ ที่สูงส่งอันใดบ้าง ในฐานะตัวแทนของผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตและสถาบันศึกษาวิชาชีพชั้นสูง 13 สถาบันของฮาวาร์ด
ทว่า นักศึกษาสายเลือดมังกรผู้นี้กลับพูดถึงเรื่องที่เขาถูกแมงมุมกัดเมื่อสมัยยังเด็ก !
เบื้องหน้าผู้ฟังจำนวน 32,000 คน ซึ่งมีทั้งคณาจารย์ คณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย เหล่าบัณฑิต พ่อแม่ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า รวมทั้งสตีเวน สปิลเบิร์ก ผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลิวูด เจ้าของรางวัลออสการ์ 3 สมัย ซึ่งได้รับเชิญให้ขึ้นแท่นบรรยาย หรือ โพเดียม กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีด้วยนั้น เหอ เจียง ดุษฎีบัณฑิตสาขาชีวเคมี ประจำปี 2559 กล่าวว่า เมื่อครั้งที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ผมถูกแมงมุมมีพิษกัดที่มือขวา ผมวิ่งไปหาแม่ให้ช่วย แต่แทนที่แม่จะพาไปหมอ ท่านกลับจุดไฟเผามือของผม
ตอนแรกแม่เอาผ้าฝ้ายห่อมือผมทบกันหลายชั้น จากนั้น ราดด้วยเหล้าจนโชก ท่านให้ผมคาบตะเกียบอันหนึ่ง แล้วจึงจุดไฟ ความร้อนซึมแทรกผ้าอย่างรวดเร็ว และเริ่มย่างมือ ผมอยากตะโกนร้อง เพราะความเจ็บปวดแสบร้อน แต่ก็ร้องไม่ออก เพราะตะเกียบอันนั้น ผมได้แต่มองดูมือตัวเองไหม้อยู่ 1 นาทีก็แล้ว 2 นาทีก็แล้ว กระทั่งแม่ดับไฟ
เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านมานาน 15 ปีแล้ว เขากล่าวในสุนทรพจน์ต่อไปว่า เดี๋ยวนี้เขาสามารถมองเห็นแล้วว่า วิทยาศาสตร์อยู่เบื้องหลังการรักษาแบบบ้าน ๆ ของแม่ แต่เขาก็รู้อีกด้วยว่า มีวิธีรักษา ที่มีอันตรายและเจ็บปวดน้อยกว่านี้
อย่างไรก็ตาม เหอกล่าวว่า สิ่งที่ยังรบกวนจิตใจเขาอยู่ก็คือแม้เรามีความรู้ ที่สามารถแบ่งปันร่วมกัน แต่ก็ยังมีสถานที่ที่อยู่ห่างไกลอีกมากมายเหลือเกิน ที่ผู้คนยังต้องใช้ไฟรักษาคนถูกแมงมุมกัดกันอยู่
ในการให้สัมภาษณ์นักข่าว หลังจากชนะการคัดเลือกจากคณะกรรมการ ซึ่งต้องผ่านการแข่งขันถึง 3 รอบ เหอเล่าว่า เขาเติบโตในครอบครัวที่ยากจนในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของมณฑลหูหนัน ซึ่งไม่มีรถยนต์ โทรศัพท์ ไฟฟ้า แม้กระทั่งน้ำประปา พ่อของเขาเรียนไม่จบชั้นมัธยม จึงหมดโอกาสหางานดี ๆ ทำในเมืองใหญ่ ดังนั้น พ่อจึงเข้มงวดให้เขาและน้องชาย ซึ่งมีคนเดียว ขยันเรียนหนังสือ เพื่อจะได้มีชีวิตไม่ลำบากเหมือนพ่อ
เหอฟันผ่าอุปสรรคชีวิตที่แร้นแค้น จนในที่สุดก็สามารถเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (ยูเอสทีซี) ในเมืองเหอเฟย เมื่อปี 2552 และในปีเดียวกันก็ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อจนถึงระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
หนุ่มบ้านนอกรู้จักประเทศอเมริกาจากหนังสือและภาพยนตร์ เขาเกิดอาการช็อกทางวัฒนธรรม
“ การเรียนหนังสือที่ฮาวาร์ด ทุกคนรอบข้างผมล้วนแต่โดดเด่น ตอนนั้นภาษาอังกฤษของผมยังไม่คล่องเท่าตอนนี้ ผมหมดความมั่นใจ และเริ่มสงสัยกระทั่งว่าผมจะเรียนที่นี่ต่อไปได้ยังไง”
แต่เมื่ออาศัยเวลา ในที่สุดเหอก็ปรับตัวได้
“ วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยในอเมริกาที่ผมชอบก็คือความหลากหลาย และมีการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย” เขากล่าว
“ ตราบใดที่คุณมุ่งมั่นแสวงหา มีการสื่อสารกับอาจารย์ คบหาเพื่อน คุณย่อมได้พบสิ่งน่าสนใจต่าง ๆ”
ระหว่างเรียนที่ฮาวาร์ด เหอรับจ็อบติววิชาให้นักศึกษาปริญญาตรีที่บ้าน และนี่เองที่ทำให้เขาทราบเรื่องการสมัครแข่งขัน
เหอไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่า จะได้รับเกียรติให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ขณะที่พ่อแม่ของเหอให้กำลังใจลูกชายมาโดยตลอดการแข่งขัน
“พอผมได้รับคัดเลือก พ่อกับแม่พลอยมีความสุขไปกับผมด้วยอย่างมาก”
แม้แต่อาจารย์ที่ยูเอสทีซีก็ไม่เคยคาดคิดเช่นกันว่า นักศึกษาจากจีนจะได้มีโอกาสยืนอยู่หลังโพเดียม อันเลอเลิศของฮาวาร์ด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงเข้าแข่งขันครั้งนี้
“ ผมต้องการให้มีเสียงดังจากประเทศจีนให้ได้ยินมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ” เหอ ซึ่งยังรักการอ่านวรรณกรรมต่างชาติด้วยนั้นตอบเรียบ ๆ
ในฐานะนักศึกษาวิทยาศาสตร์ สุนทรพจน์ของเขาจะมุ่งเรื่องการแบ่งปันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโลกสมัยใหม่ ที่ยังได้รับอย่างไม่เท่าเทียมกันในดินแดนต่าง ๆ จีน โดยมีอาจารย์ท่านหนึ่งช่วยตรวจแก้ไขร่างสุนทรพจน์ และฝึกทักษะการอ่านท่ามกลางสาธารณชน
“ฮาร์วาร์ดทำให้เรากล้าฝันถึงสิ่งอันยิ่งใหญ่ ทำให้เราอาจเอื้อมเปลี่ยนแปลงโลก ณ ที่นี่ในวันประสาทปริญญาบัตร เราอาจกำลังนึกถึงจุดหมายปลายทาง ที่ใหญ่โตและการผจญภัย อันยิ่งใหญ่ ที่รอเราอยู่ สำหรับผมนั้น กำลังคิดถึงพวกชาวนาในหมู่บ้านของผม ประสบการณ์ที่ผ่านมาเตือนใจผมว่า สำหรับนักวิจัยแล้วการส่งต่อความรู้ของเราไปถึงผู้ที่จำเป็นต้องได้รับอย่างยิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพียงใด ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ ที่เรามีอยู่แล้ว เราก็อาจทำให้หมู่บ้านของผมและอีกหลายพันหมู่บ้าน ที่เหมือนกัน ก้าวสู่โลก ที่ทุกเมื่อเชื่อวันพวกคุณและผมไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่มีค่าอะไร นี่คือผลกระทบ ที่เราทุกคนสามารถทำได้ แต่มีคำถามว่าเราจะพยายามทำหรือไม่เท่านั้น”
ปัจจุบัน เหอทำงานระดับหลังปริญญาเอกด้านชีววิศวกรรม (bioenginerring) ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ( เอ็มไอที) โดยกำลังศึกษาวิธีคัดกรองยา โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย และการตรวจหาโรคมะเร็งในระยะแรก
เหอคิดถึงบ้านเกิดและกลับไปเยี่ยมอยู่เสมอ