xs
xsm
sm
md
lg

ยกระดับการศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ศธ.ปักหมุด“สะเดา” เปิดประตูสู่อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับก้านการศึกษานั้น กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการดำเนินงานในทุกระดับมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเตรียมพร้อมใน 6 ยุทธศาสตร์ 29 กลยุทธ์ และ 10 มาตรการเร่งด่วน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนในช่วงปี 2558 - 2562 ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยมีศักยภาพพร้อมอยู่ในประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ” มีกรอบแนวทางการดำเนินงาน คือ “เสริมสร้างความเข้าใจ ใฝ่รู้ภาษา มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ เท่าทันเทคโนโลยี สานสามัคคีอาเซียน”
สำหรับจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมต่อกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ทางรัฐบาลได้กำหนดให้มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน 10 พื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่บริเวณชายแดนด้วย ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคน และเตรียมกำลังคนให้มีความพร้อม รองรับความต้องการในพื้นที่และการพัฒนาประเทศโดยรวม
ในส่วนของ จ.สงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม 5 พื้นที่แรก ที่เร่งขับเคลื่อนการทำงานในภาพรวม มุ่งเน้นการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยยึดหลักการสำคัญในการขับเคลื่อนปี 2559 คือ การน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานควบคู่กับวิสัยทัศน์ประเทศไทย นโยบายรัฐบาล และหลักประชารัฐ ภายใต้เงื่อนไขวิสัยทัศน์สงขลา 2570 บนฐาน คติพจน์ “เกิดมาต้องทดแทนบุญคุณแผ่นดิน” นำไปสู่การปฏิบัติโดยยึดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ปัญหา และความจำเป็นในพื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมและกรอบร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อนำสงขลาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายงานสัมฤทธิ์ผล ประชาชนพึงพอใจ
กระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่ผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 พื้นที่ ซึ่งได้มีการประชุมขับเคลื่อนไปแล้ว 3 พื้นที่ ได้แก่ จ.นครพนม ตาก และ ตราด
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ (รมช.ศธ.) และ พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ณ ศูนย์การเรียนรู้สู่อาเซียน เทศบาลเมืองสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา ได้ร่วมกับผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารการศึกษา หน่วยงานส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วนได้รับทราบ ประสานงาน นำเสนอ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในการพัฒนาแผนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น สามารถจัดการศึกษาอย่างบูรณาการได้สอดคล้องกับศักยภาพและโอกาสของพื้นที่
ทั้งนี้ การจัดการศึกษาแบบบูรณาการ จะอาศัยสถานศึกษาในการขับเคลื่อนที่มีบทบาทสำคัญในด้านการเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อม มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ และมีการปรับตัวที่จะอยู่ในพื้นที่ได้อย่างมีความสุข ซึ่งในส่วนของ จ.สงขลาได้มีแนวทางดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ กำหนดนโยบายสู่การปฏิบัติการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน พัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนโรงเรียนนำร่อง พัฒนาครูรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจพิเศษ ด้านการใช้ภาษาอังกฤษ มลายู จีน พร้อมผลิตสื่อการเรียนการสอน พัฒนาครูด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พัฒนาหลักสูตรพหุวัฒนธรรม ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษากับโรงเรียนในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ส่งเสริมอาชีพส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน และจัดการเรียนการสอนที่สอดแทรกในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ จัดทำรายวิชาเพิ่มเติม จัดประสบการณ์ตรง ฝึกทักษะในสถานประกอบการ เรียนรู้กับเจ้าของภาษา เรียนรู้จากภูมิปัญญา และลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
การประชุมในวันนั้น พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้มอบแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานที่สำคัญว่า การนำแผนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ ต้องเป็นไปด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ พยายามค้นหาสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่างๆ และร่วมมือกันแก้ไขและฝ่าฟันอุปสรรคอย่างเต็มความสามารถ นอกจากนี้ การบูรณาการร่วมกันต้องอาศัยความร่วมมือที่เข้มแข็ง มีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะ และที่หลักการทำงานที่สำคัญ คือ แผนดี และนำสู่การปฏิบัติที่ดีด้วย งานก็จะเกิดความสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์ก็จะเกิดขึ้น โดยแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการต่อจากนี้ จะมีการเชิญศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 10 จังหวัด เพื่อนำแผนงานและผลการปฏิบัติ ไปทบทวน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาแผนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อก้าวสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล
“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลานี้เป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศของรัฐบาล โดยการจัดการศึกษาแบบบูรณาการมีส่วนสำคัญที่จะสร้างให้เกิดความสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ บริบท และศักยภาพ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรดำเนินงานตามแผนงาน โดยมีหนทางสู่ความสำเร็จ คือ ตั้งใจ มุ่งมั่น ขยัน อดทน เอาใจใส่ หมั่นปรึกษาหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆ มุ่งเน้นภาคปฏิบัติให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และความมั่นคงของประเทศได้อย่างยั่งยืน” พล.อ.สุรเชษฐ์ ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น