MGR Online - พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาฯ พร้อมที่ปรึกษาและผู้บริหารการศึกษาลงพื้นที่จังหวัดตาก รับฟังและรมดมความเห็น หวังขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตาก เตรียมความพร้อมให้คนไทยอยู่ในประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ที่วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จังหวัดตาก พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อม พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คณะผู้บริหารการศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ร่วมประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตาก ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมและแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ รวมถึงทิศทางการพัฒนาและความต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตาก โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ผู้แทนส่วนราชการภาคเศรษฐกิจและสังคม หัวหน้าหน่วยราชการและผู้อำนวยการสถานศึกษาในพื้นที่เข้าร่วมการประชุม
สำหรับการลงพื้นที่ดังกล่าวก็เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้เป้าหมายเดียวกัน คือ “คนไทยมีศักยภาพพร้อมอยู่ในประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ” โดยในการประชุมได้มีการระดมความคิดเห็นการจัดการศึกษาในพื้นที่รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก การนำเสนอหลักสูตรสำหรับเตรียมการผลิตกำลังคนตามความคาดหวังของภาคเศรษฐกิจและสังคมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก การนำเสนอนวัตกรรมลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ชายแดนตะวันตก และการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศึกษาธิการภาค 17 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 1 และ เขต 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 38 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดตาก วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก รวมไปถึงการนำเสนอมุมมองของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก จากตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ ได้แก่ นายอำเภอแม่สอด นายกเทศมนตรีนครแม่สอด ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ตัวแทนฝ่ายความมั่นคง (ทหาร) และตัวแทนภาคประชาชน
พล.อ.สุรเชษฐ์ ประธานในการประชุมกล่าวว่า พื้นที่จังหวัดตากโดยเฉพาะในอำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด และอำเภอพบพระ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง รัฐบาลจึงพิจารณาและกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบบูรณาการจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่หรือเรียกว่า “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนในมิติต่างๆ อันส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และการพัฒนาประเทศโดยรวมมีความก้าวหน้า โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดบูรณการการดำเนินงานเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง ตามแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้น “เสริมสร้างความเข้าใจ ใฝ่รู้ภาษา มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ เท่าทันเทคโนโลยี สามัคคีอาเซียนภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยมีศักยภาพพร้อมอยู่ในประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ” ด้วย 6 ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่สำคัญ ทั้งนี้ การพัฒนาของทางจังหวัดหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคนและเตรียมกำลังคนให้มีความพร้อม สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่และการพัฒนาประเทศโดยรวม ด้วยการจัดการศึกษาในพื้นที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป