xs
xsm
sm
md
lg

กำลังใจแด่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

วันนี้อยากให้กำลังใจดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ที่กำลังถูกตำรวจแจ้งข้อหา นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

ก่อนอื่นเมื่อเอ่ยชื่ออาทิตย์ อุไรรัตน์ เราพูดได้เต็มปากว่านี่เป็นปูชนียคนหนึ่งของแผ่นดิน ทั้งในบทบาททางการเมืองและในวงการการประกอบอาชีพธุรกิจ

ความกล้าหาญของดร.อาทิตย์นั้นเป็นการประจักษ์จนได้รับสมญานามว่า วีรบุรุษประชาธิปไตย เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ได้ใช้ความกล้าหาญในการเปลี่ยนชื่อพล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ที่ฝ่ายคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) คณะรัฐประหารในตอนนั้นต้องการให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ดร.อาทิตย์เห็นว่า หากให้คนของ รสช.สืบทอดอำนาจต่อบ้านเมืองจะไม่เกิดความสงบจึงเปลี่ยนชื่อเป็นนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ดร.อาทิตย์เพิ่งเล่าให้ฟังไม่นานมานี้ผ่านหนังสือแกะดำโลกสวยว่า ได้บอก นายไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ว่าไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะบ้านเมืองจะพัง และเกิดการนองเลือด จึงต้องเสนอชื่อ นายอานันท์ และจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ใต้บันไดพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ตอนนั้นดร.อาทิตย์โทรศัพท์หานายอานันท์ พร้อมกับบอกว่า กำลังจะเข้าเฝ้าเดี๋ยวนี้ อาจารย์เตรียมรับนะ จากนั้นได้ถามหาพิมพ์ดีด และขอให้เจ้าพนักงานพิมพ์ตามคำบอก ว่า เสนอชื่อนายอานันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศชาติบอบช้ำมามากแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีทางเลือก นอกจากเสนอให้ตั้งนายกรัฐมนตรี เพื่อยุบสภา พอกราบทูลเสร็จก็เสนอให้เซ็น พระองค์ไม่ทรงตรัสอะไรเลย

ในหนังสือระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นเลขาธิการสภาฯ ทำหน้าที่อัญเชิญพระบรมราชโองการไปที่บ้านนายอานันท์ โดยทรงรับสั่งให้ประธานสภาฯ อยู่ก่อน พร้อมกับตรัสว่า “กล้าหาญมาก สมกับเป็นรัฐบุรุษ” และได้หยิบเอกสาร งานเขียน แนวทางพัฒนาประเทศ ใส่ถุงกระดาษเอกสารส่งให้

เมื่อดร.อาทิตย์วางมือจากการเมืองมาสร้างมหาวิทยาลัยรังสิต แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน แต่เห็นได้ว่า ดร.อาทิตย์มิได้มุ่งแต่จะประกอบธุรกิจการศึกษา แต่นำมหาวิทยาลัยออกมาร่วมกิจกรรมกับสังคมในหลายเรื่อง เรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทต่อสังคมทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตลอดเวลาจนเป็นที่ประจักษ์ และมีบทบาทโดดเด่นเหนือมหาวิทยาลัยอื่นทั้งของรัฐและเอกชน

ในวันนี้วีรบุรุษประชาธิปไตย กำลังกลายเป็นจำเลยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สังคมเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป เพราะข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า

“ปฏิรูปตำรวจ?
แต่งตั้งตำรวจเรียบร้อยหรือยัง มีข่าวกระจายทั่วไป...

ข้อความทั้งหมดคงได้อ่านผ่านข่าวไปแล้ว

ว่าไปแล้วสิ่งที่ดร.อาทิตย์ต้องการสื่อจากข้อความดังกล่าวก็คือ การปฏิรูปองค์กรตำรวจซึ่งเป็นเสียงเรียกร้องร่วมกันของคนในสังคม ผมคิดว่าไม่เพียงแต่ กปปส.เท่านั้นที่เรียกร้องเรื่องนี้ในระหว่างชุมนุม แต่คิดว่า แม้แต่คนต่างขั้วต่างสีการเมืองก็อยากให้ปฏิรูปองค์กรตำรวจเหมือนกัน

การปฏิรูปองค์กรตำรวจนี้น่าจะเป็นฉันทามติร่วมกันของคนในชาติก็ว่าได้

จะเห็นว่า ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อหาหมิ่นประมาท เพียงแต่บอกว่า หากการสอบสวนพบว่าข้อความดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นประมาทก็จะถูกดำเนินคดีข้อหานี้ด้วย

แต่เท่าที่ผมดูแล้วข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง เพียงแต่กล่าวขึ้นมาลอยๆ ว่า มีข่าวกระจายกันโดยทั่วไปว่าเท่านั้นเอง ไม่มีส่วนไหนที่พูดว่ามีการซื้อขายตำแหน่ง ไม่ได้บอกว่าใครจ่าย ใครเป็นคนรับเงิน

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษก ตร. กล่าวว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เตรียมออกหมายเรียกดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กรณีโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก “Arthit Ourairat” เข้าสอบปากคำ เนื่องจากการโพสต์ข้อความดังกล่าว ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับความเสียหาย เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบ และหากการสอบสวนพบว่าข้อความดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นประมาท ก็จะถูกดำเนินคดีข้อหานี้ด้วย และอยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผลว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.ที่เคยโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันก่อนหน้านี้หรือไม่

เมื่อตำรวจแจ้งข้อหาว่า มีการนำ “ความเท็จ” เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ก็ต้องพิสูจน์ว่า ตรงไหนที่ดร.อาทิตย์โพสต์แล้วเป็นความเท็จ ตรงไหนเป็นความจริง จะบอกว่า ซื้อขายตำแหน่งดร.อาทิตย์ก็ไม่ได้เขียนอย่างนั้น บอกเพียงว่า มีข่าวกระจายทั่วไปว่า ขึ้นผู้กำกับ ต้อง…ขึ้นรองผู้บังคับการ ต้อง...ไม่มีที่ตรงไหนที่ยืนยันว่าใครรับอะไรจากใคร

เรื่องนี้จริงหรือเท็จเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่สังคมโดยทั่วไปรับรู้กันอยู่ แน่นอนว่า อาจหาคนมายืนยันไม่ได้ เพราะถ้ามายืนยันว่า ตัวเองกระทำแบบนั้นก็อาจจะมีความผิดเสียเอง แต่ถามว่า สังคมคิดอย่างไร คำตอบก็คงจะบอกได้ว่ารู้ๆ กันอยู่

ที่นี้มาดูเรื่อง “ความเท็จ” กับ “ความเชื่อ”

ความเท็จ หมายถึง การโกหกหลอกลวง พูดในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง

ความเชื่อ หมายถึง การยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริง หรือมีการดำรงอยู่จริง โดยอาศัยประสบการณ์ตรง การไตร่ตรอง หรือการอนุมาน

ผมว่า สิ่งที่ดร.อาทิตย์พูดนั้นเป็นความเชื่อครับไม่ใช่ความเท็จ และความเชื่อจะเป็นเรื่องจริงก็ได้ไม่จริงก็ได้ คนอาจจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ เช่น บางคนเชื่อว่าผีมีจริง การโพสต์ข้อความเรื่องผีถือเป็นการนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์มั้ย ผมว่าไม่น่าจะใช่นะครับ

ดังนั้น ผมคิดว่า สิ่งที่ดร.อาทิตย์พูดนั้นเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นการพูดกันโดยทั่วไป ลองเดินจากบ้านแล้วไปถามคนที่เจอคนแรก เขาอาจจะไม่กล้าพูดถ้าให้ตอบต่อสาธารณะเพราะกลัวภัยจะมาถึงตัวแบบดร.อาทิตย์ที่แค่กล่าวลอยๆ ก็ถูกดำเนินคดี แต่ถ้าให้กระซิบกระซาบกันแล้ว ผมเชื่อว่า คำตอบก็คงเป็นไปตามความเชื่อที่ฝังลึกมานานในสังคมนั่นแหละ

ความเชื่อจึงไม่ใช่ความเท็จ แม้ว่าความเชื่อจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ได้ ไม่เชื่อก็ลองถามสิครับว่าคนเขาเชื่อเรื่องนี้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น