xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รุก รบ จบไม่สวย “ศานิตย์” ถูกขย้ำเลือดสาด บทเรียนต้องจำ อย่าใช้กฎหมาย“กด”ประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทำดีมาตลอดพอพลาดนิดเดียวกลายเป็น “งานเข้า” สองสามวันที่ผ่านมากระแสโลกโซเชียลฯถล่ม พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. อย่างหนัก ฐานไม่ยอมทำตามกระแสสังคม แถมยังใช้ “ไม้ตาย” ขู่จะเล่นงานบรรดานักเลงคีย์บอร์ดในข้อหาหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน

แต่ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์กัน ลองมาอ่านความเห็นของ แฟนเพจ ทนายคู่ใจ ได้ออกมาโพสต์ข้อความด้านกฎหมาย เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว หลังมีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยข้อความ ระบุว่า…

จากประเด็นร้อนที่ทางตำรวจจะแจ้งจับคนโพสต์ ด่าตำรวจ “พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. กล่าวถึงกรณีมีผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีไม่แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กับวัยรุ่น 7 คน ที่ก่อเหตุรุมทำร้ายร่างกายพ่อค้าขายขนมปังขาพิการจนถึงแก่ความตาย ซึ่งตนอาจจะต้องพิจารณาบุคคลที่โพสต์แสดงความคิดเห็นคดีดังกล่าว โดยบางคนโพสต์แสดงความคิดเห็นโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะเข้าข่ายความผิดหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่”

เป็นเสมือนการปิดปากข่มขู่ประชาชน ที่มีสิทธิจะรับรู้กระบวนการยุติธรรมของหน่วยงานรัฐที่กินเงินเดือนภาษีประชาชนว่า คดีที่สังคมสนใจนั้น จะได้รับความเป็นธรรมแค่ไหนเพียงใด อีกทั้งผู้ต้องหายังเป็นลูกของตำรวจด้วยกันเอง ยิ่งเป็นสิ่งที่สังคมประณามกันหนักขึ้นไปอีก
 
คำถามที่น่าสนใจว่า สิทธิการวิพากษ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐของประชาชนหายไปตั้งแต่เมื่อไร แม้รัฐธรรมนูญจะถูกฉีกไปก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในแง่การแสดงความคิดเห็น จะเป็นเรื่องต้องห้ามทั้งหมด

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 4 ที่ใช้กันอยู่ ก็ยังรับรองสิทธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครอง

ซึ่งแน่นอนแม้จะอยู่ในสภาวะสถานการณ์พิเศษ แต่สิทธิทางกฎหมายเราก็ยังอยู่ครบตราบเท่าที่ไม่ได้ไปยุ่งการเมือง คำถามคือ การวิพากษ์การทำงานของตำรวจมันไปยุ่งการเมืองตรงไหน เมื่อคนเขาถามหาความยุติธรรมให้คนตายเท่านั้นเอง แน่นอนอาจจะมีคนไม่พอใจบ้างตามประสาชาวบ้าน เขาก็ต้องแสดงออกในมุมของเขา ที่เขาสามารถคิด พิมพ์ เขียน พูด หรือแม้แต่การโพสต์ลงโซเซียล เพื่อแสดงออกให้เห็นว่า เรื่องนี้ ตัวเขารับไม่ได้นะกับสิ่งที่ตำรวจทำ เขาอาจจะแสดงความคิดในมุมของนักกฎหมาย หรือนักวิชาการไม่ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีสิทธิ์พูดถึงเรื่องนี้เลย 
 
วันนี้ผมค่อนข้างผิดหวังที่ทางตำรวจออกมาแถลงข่าวว่า จะดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์วิพากษ์ตำรวจด้วยข้อหา “หมิ่นประมาท” ซึ่งแน่นอนผมบอกเลยว่า สุดท้ายคงพ่วง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีโทษจำคุก 5 ปีมาด้วยแน่ ๆ แต่ในกฎหมายหมิ่นประมาทบ้านเราในเรื่องที่เป็นการวิพากษ์การทำงานสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐ มีกรณีที่ศาลฎีกายกฟ้องคนวิพากษ์มาแล้ว เป็นกรณีเดียวกันในลักษณะที่ทางตำรวจจ้องจะจับนี่เลยครับ

ศาลให้เหตุผลว่าเป็นการวิพากษ์ไปตามข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนมาโดยสุจริตทั้งสิ้น เห็นไหมครับการวิพากษ์ การสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้า ที่ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้นะครับ

อ้างอิงฎีกาที่ 3546/2558

เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชน มีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบ โดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่า โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย

โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง

เอาล่ะครับ..ทนายโซเชียลฯ เขาอรรถาธิบายพอทราบเป็นสังเขปกันแล้ว และได้คัดมาแบบจัดหนัก-จัดเต็มก่อนที่จะนำมาพูดคุยกัน

ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความ “พลาด” ของท่านรักษาการณ์ น.1 อย่างเต็มเปา เพราะอันที่จริงแล้วคดี “ปังหอม”ที่มีลูกชายตำรวจกับสมัครพรรคพวกตกเป็นผู้ต้องหารวม 7 คนนั้น แม้สังคมจะช่วยกันกดดัน มีการออกเคมเปญ “ลูกตำรวจแล้วไง” ปรากฏว่าไม่ใช่ติดธรรมดาแต่ “ลุกพรึ่บ” จนพล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ในฐานะผู้รับผิดชอบ ต้องรีบออกมาชี้แจง

แต่ไม่รู้ว่าผิดพลาดตรงไหน อาจจะเครียดๆ กับโผแต่งตั้งตำรวจ หรือติดบุคลิกท่านผู้นำจึงสื่อสารไปอย่างตรงๆ ไม่อ้อมค้อมว่าเหตุที่ตัดสินใจดำเนินคดีฆ่าคนโดยเจตนา ไม่เอาฆ่าโดยไตร่ตรองก็เพราะตำรวจได้พิจารณาไปตามพยานหลักฐานอย่างรอบครอบที่สุดแล้ว

ตรงนี้ไม่เท่าไหร่ จะวุ่นก็ต้องสร้อยที่ น.1 เปรียบเทียบว่า ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับประชาชนจะรู้สึกเช่นไร พูดไปพูดมาก่อนจบยังทำปืนลั่น ขู่ว่าจะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับคนโพสต์ข้อความต่างๆ ด้วย...แค่นั้นเองอารมณ์ที่กรุ่นๆ อยู่แล้วก็เลยกลับหลังหันแว้งมาที่ รรท.น.1 อย่างเต็มเขี้ยว

ต้องถือว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ...ความจริงแล้วถ้าให้พูดตามเนื้อผ้า บทบาทของนายตำรวจท่านนี้ถือว่ามีความเป็น “ผู้นำ” อย่างเต็มตัว ใช่-ไม่ใช่ท่านแสดงเองโดยไม่ต้องหลบอยู่ข้างหลัง เพราะการออกมาแย้งกับอารมณ์สังคมนั้น ไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน
 
อย่างเก่งก็หาเรื่องทะเลาะกับนักข่าว หรือ อบรมจรรยาบรรณนักข่าว!!??

เรื่องรูปคดีที่ถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดงนั้นสุดท้ายสังคมก็ต้องลดความร้อนแรงด้วยเหตุด้วยผลซึ่งคำสัมภาษณ์ของ นายปรเมศวร์ อินทชุมชน รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด น่ารับฟัง มีเหตุมีผลและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายจริงๆ กล่าวคือ 1. ผู้เสียหาย 2. ผู้ต้องหา 3. ตำรวจ
รองอธิบดีอัยการ ตั้งข้อสังเกตว่า คดีนี้มีภาพคลิปหลายขั้นหลายตอนมากที่สุด มีการนำพยานมาให้ปากคำอย่างครบถ้วน เพื่อให้สังคมหายความเคลือบแคลงสงสัย

ส่วนการแจ้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนานั้น นายปรเมศวร์ ได้ยกคดี 6 วัยรุ่นรุมทำร้ายเด็กหนุ่มคนหนึ่งเสียชีวิตที่เคยเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลมาก่อน และกรณีอื่นๆ เช่น นักเรียนยกพวกทำร้ายกัน หรือคดีสะเทือนขวัญกรณี ศักดิ์ ปากรอ ฆ่ายกครัวตระกูลบุญทวีมากถึง 5 ศพ โดยพฤติกรรรมโหดเหี้ยมทารุณจับแขวนคอกับราวบันไดแล้วถีบลงมาทีละคนๆ ต่อหน้าต่อตาคนในครอบครัวจนตายหมดบ้าน

คดีนี้ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เพราะจำเลยรับสารภาพ แต่ติดจริง 18 ปี ตอนนี้พ้นโทษออกจากคุกแล้ว

สิ่งที่รองอธิบดีอัยการ กระตุกเตือนสังคมอย่างดีที่สุดอีกข้อก็คือ ไม่ว่าพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาฆ่าโดยเจตนา หรือไตร่ตรองฆ่า ใครก็ไม่มีสิทธิ์ไปบังคับศาลให้ตัดสินประหารชีวิตผู้ต้องหาได้

นอกจากนั้น เมื่อดูจากคลิปภาพเหตุการณ์แล้วยังเห็นผู้ตายวิ่งเข้าร้านคว้ามีดดาบเข้า-ออกร้าน ซึ่งอยู่ในข่ายสมัครใจทะเลาะวิวาท ดังนั้น ทนายความฝ่ายโจทก์จะเข้ามาร่วมฟ้องกับอัยการไม่ได้... คนที่ติดตามเรื่องนี้ด้วยความสนใจ โดยเฉพาะเป็นกรณีศึกษาในแง่มุมของกฏหมายต่างถึงบางอ้อ

เสียดายก็แต่ลูกสร้อยที่ว่าแต่แรก... หากท่านศานิตย์ ไม่ขู่เล่นงานกับประชาชน อะไรต่อมิอะไรมันก็คงไม่เละแทะ กลายเป็นถูกด่าฟรีไปเปล่าๆ ปลี้ๆ!!??

พูดถึงคดีหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานโดยแถมพ่วงความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เข้าไปด้วย ถ้ากราบได้อยากจะกราบงามๆไปยัง “บิ๊กตำรวจ” ทุกคน กรุณาอย่าเอามาเป็น “ไม้ตาย” ไว้คอยกดหัวประชาชน...ปล่อยให้เป็นเรื่องของท่านผู้นำท่านว่าไปเถิด เพราะในคำวิพากษ์ต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาล หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นที่ทราบกันดีว่ามีทั้งวิจารณ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีสิ่งแอบแฝง

ใครเป็นใครดูกันไม่ยาก และนั่นพอรับฟังได้ว่าเกี่ยวข้องในเรื่องความมั่นคงจริง

ต่างกับตำรวจ...อะไรที่ไม่ถูกต้องหรือมีการกระทำที่ค้านสายตา ค้านความรู้สึกของสื่อและชาวบ้านเขาก็ต้องออกมาโวย ออกมาชี้ให้จัดการให้ถูกต้อง....บางกรณีมีชาวบ้านไปถ่ายคลิปตำรวจ คุณพี่ตำรวจก็ตั้งป้อมจะรับประทานประชาชน...ทั้งเล็กๆ น้อยๆ เรื่อยไปจนถึงเรื่องใหญ่

ในฐานะตำรวจที่มุ่งมั่นแสวงความร่วมมือจากประชาชน แม้จะไม่คิดอะไรเลย แต่ถึงไม่คิดต่อไปก็สมควรคิด
 
สำหรับท่าน รักษาการณ์ น.1 ขอให้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสอนใจ ทำนองน้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง และอย่าใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกันอย่างพร่ำเพรื่อ...อื่นๆ อันเป็นผลงานที่ท่านทำมา เชื่อได้ว่าท่านเข้าไปอยู่ในใจของประชาชนคนกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่...รุก รบ จบเร็ว..ใช้กับโจรผู้ร้าย แต่กับชาวบ้านต้องไม่รุก ไม่รบ ค่อยๆ ทำความเข้าใจ
 
แบบนี้รับรองว่า “จบสวย”แน่นอน



กำลังโหลดความคิดเห็น