xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาอยู่ที่ค่าแรงขั้นต่ำนั้นต่ำเกินไป หรือ ฝีมือแรงงานและความรู้ต่ำเกินไปกันแน่

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

แฟ้มภาพ
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร (นิด้า)


วันนี้เป็นวันแรงงาน (May Day) ก็ขอกราบคารวะพี่น้องแรงงานทุกท่านที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ผลักดันเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า สิ่งที่เราเห็นกันซ้ำๆ ทุกๆ ปีคือการรณรงค์ให้มีการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพื่อเป็นมาตรการปกป้องสังคม (Social Protection) สำหรับผมไม่ขัดข้องกับเรื่องดังกล่าว แต่ขอนำเสนอมุมมองที่แตกต่างออกไป ผมไม่เชื่อว่าการปกป้องสังคมเช่น การกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้

ทุกวันนี้ประเทศไทยก้าวพ้นมาจากประเทศด้อยพัฒนามาเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ซึ่งเศรษฐกิจไทยไม่ไปไหนสักที ขณะที่มาเลเซียมีแนวโน้มจะก้าวหน้าไปกว่าเราแล้ว ปัญหาใหญ่คือระบบเศรษฐกิจไทยไม่มีการสร้างคุณค่า (Value Creation) เราจะเป็นคนรับจ้างผลิตของเป็น OEM ไปกันเรื่อยๆ ไม่มีนวัตกรรม ขายสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ยางพารา สินค้าเกษตรต่างๆ แทนที่จะผลิตเป็นอาหารเพื่อส่งออก ที่เราพูดว่าเราจะเป็นครัวของโลก หันไปดูมาเลเซียเถิดครับผม เป็นครัวของโลกที่แท้จริง ทั้งๆ ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศไทยเรามากมาย ปัญหาคือไทยเราไม่ได้สร้างเศรษฐกิจที่มีความรู้เป็นฐาน (Knowledge-based economy) ซึ่งต้องอาศัยคนงานที่มีความรู้ (Knowledge Worker) เป็นหลัก

ทุกวันนี้เราขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labor) โดยเป็นขาดในเชิงปริมาณ งานที่อันตราย งานที่สกปรก งานที่หนักมาก (Dirty, Dangerous, and Demanding Jobs: 3Ds jobs) เช่น งานประมง คนงานก่อสร้าง หาคนไทยทำไม่ได้แล้ว ต้องอาศัยแรงงานต่างชาติ เช่น พม่า บางจังหวัดของประเทศไทยมีคนพม่ามากกว่าประชากรไทย เช่น สมุทรสาคร

เรามีการว่างงานแฝงในภาคเกษตรสูงมาก แต่อัตราการว่างงานโดยภาพรวมต่ำ เกษตรกรไทยนั้นทำงานเฉพาะฤดูดำนาและฤดูเกี่ยวข้าว และมีผลผลิตต่อไร่ต่ำมาก เกษตรกรหนึ่งคนให้ผลผลิตที่ต่ำเกินไปขาดความรู้และไม่มีเทคโนโลยีในด้านการเกษตร ชาวนาสุพรรณบุรีชื่อ ชัยพร ทำนาสองคนสามีภรรยา ใช้ความรู้ความอุตสาหะ ทำกันสองคนได้หลายร้อยไร่ และได้เงินเป็นล้านๆ อย่างนี้คือมีความรู้และมีฝีมือ ไม่ได้ว่างงานแฝงด้วยครับผม มีงานทำทั้งปี

อันที่จริงประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และเรามีคนในวัยแรงงานลดลงจนแรงงานนั้นหายากและทำให้ขาดแคลนแรงงาน แต่ที่ขาดแคลนยิ่งกว่าคือ แรงงานฝีมือ (Skilled Labor) และคนทำงานที่มีความรู้ (Knowledge Worker)

การขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ อาจจะทำให้เกิดผล สองอย่าง อย่างแรก คือ โรงงานต่างๆ จะย้ายฐานการผลิต (Relocation) ไปยังประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่า เช่น โรงงานจำนวนมาก relocate ไปที่เวียดนามหรือบังคลาเทศหรือปากีสถาน เป็นต้น อย่างที่สองก็จะมีการนำหุ่นยนต์อัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามาแทนที่คนงานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ถ้าเป็นอย่างนี้ มองไปข้างหน้าไม่ยากที่จะเห็นภาพโรงงานต่างๆ ปิดตัวลงและปลดคนงานออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ ใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์แทนคนให้มากที่สุด

ผมว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ค่าแรงขั้นต่ำ อยู่ที่ทักษะฝีมือแรงงาน ความรู้ของแรงงานไทยนี่แหละครับผม

ช่างไม้เก่งๆ ผมรู้ว่าค่าแรงวันละ 2,000 บาทนะครับผม ย้ำ 2,000 บาทต่อวัน ฝีมือดีมากๆ ออกแบบและทำ Furniture ระดับ Hi-End มีงานทำไม่ขาดสาย ต้องจองคิวกันทีเดียวครับผม อย่างนี้คือฝีมือล้วนๆ ไม่ต้องสนใจค่าแรงค่าจ้างขั้นต่ำอะไรเลย

ช่างไฟฟ้าเก่งๆ ก็มีรายได้วันละเป็นพัน เช่นกัน ทุกวันนี้หาช่างมาซ่อมบ้านหรือสร้างบ้านยากมาก และค่าแรงไม่ได้ถูกค่าจ้างเดินหลอดไฟนี่คิดกันเป็นจุดนะครับผม จุดหนึ่งสองร้อย สามร้อย วันหนึ่งเดินสายไฟสักห้าหลอดก็พันห้าร้อยบาทแล้วครับผม หายากด้วย ที่ฝีมือเรียบร้อยนะครับ ไม่ใช่ฝีมือกระจอก ทำงานไม่เรียบร้อย

ผมไปดื่มกาแฟแถวแยกอโศก สุขุมวิท พนักงานเสิร์ฟ เป็นคนฟิลิปปินส์ พูดภาษาไทยไม่ได้ ผมต้องพูดภาษาอังกฤษกับเขา ลองถามดูเขาก็ไม่ปิดบังว่ามาจากฟิลิปปินส์ คาใจเดินไปถามเจ้าของร้านเลยว่าทำไมไม่จ้างคนไทย เจ้าของร้านตอบ หาคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษดีๆ ไม่ได้ ลองไปเดินแถวสุขุมวิทเถิดครับผม พนักงานโรงแรม บริกรในร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นคนฟิลิปปินส์แทบทั้งนั้น เพราะหาคนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แล้วรายได้ดีนะครับ บริการลูกค้าต่างชาติมีสตางค์ ทิปหนักมือกันทั้งนั้นครับ

ตกลงปัญหาอยู่ที่ค่าแรงขั้นต่ำ หรือปัญหาอยู่ที่แรงงานไทยไร้ความสามารถ ไม่มีการพัฒนาตนเอง ทักษะด้านภาษานั้นสำคัญมากและไม่ใช่เฉพาะภาษาอังกฤษด้วย ภาษาจีนเราก็มีปัญหา คนจีนที่มาเที่ยวเยอะๆ เราก็ไม่มีไกด์จีนเพียงพอนะครับผม คนจีนนั้นพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ และเขาก็ไม่ค่อยจะสนใจเรียนภาษาอังกฤษกันด้วย เพราะจีนเองก็เป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่ง

ทุกวันนี้โลกเราพูดถึงทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่คนเราต้องมีทักษะในการคิด การวิเคราะห์ การสื่อสาร การเจรจาต่อรอง การแก้ปัญหา การวางแผน ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิพากษ์ วิจารณญาณกันแล้ว ประเทศเรายังไม่ไปไหนครับผม

แท่งอาชีวะศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่เป็นที่นิยม ไม่สามารถผลิตคนที่มีทักษะเก่งกาจได้เช่นในอดีต สมัยก่อนถ้าต้องการคนเก่งภาษา ทุกคนจะนึกถึง บพิตรภิมุข ถ้าจะเก่งด้านคหกรรมศาสตร์ ก็จะนึกถึงโชติเวช โรงเรียนการเรือน เก่งด้านภาพพิมพ์ ภาพถ่าย เราก็จะนึกถึงทุ่งมหาเมฆ หรือนึกถึงเก่งบัญชี เราก็จะนึกถึงพาณิชยการพระนคร แต่ทุกวันนี้ผลิตกันสะเปะสะปะทุกสาขาจนขาดอัตลักษณ์ไป

ส่วนอุดมศึกษาไทยก็เป็นที่นิยมมาก มีค่านิยมบ้าปริญญา อยากจะเรียนแบบจ่ายครบ จบง่ายกัน มหาวิทยาลัยไทยนิยมผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ทางสังคมศาสตร์ กันมากมายเหลือเกิน เกินกว่าความต้องการเพราะคนไทยนิยมเรียน ในขณะที่สายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ กลับขาดแคลนอย่างหนัก โดยเฉพาะพยาบาล

เทคโนโลยีจะมาแทนคนหมดแล้ว หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ จะมาแทนที่คนทั้งหมด ค่าแรงงานขั้นต่ำอะไรนั้นก็จะหมดความหมาย

ทางรอดคือคนต้องเก่งกว่าหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ ไม่อย่างนั้น หุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์จะมาแทนคน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การพัฒนาตนเองจึงจำเป็นมากที่สุด ประเทศไทยจึงจะไปรอดและก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้ เราต้องพัฒนาคนเพื่อให้ประเทศพัฒนาไปได้ และเมื่อถึงจุดนั้น ค่าแรงขั้นต่ำ ก็อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญนัก เพราะทุกคนมีคุณค่าเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำไปเรียบร้อยแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น