ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นเวลา 4 ปีแล้วที่ 3 พันธมิตรภาคเอกชนอย่างสยามพิวรรธน์ ร่วมกับ MQDC แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศร่วมทุนในอภิมหาโปรเจกต์มูลค่าโครงการกว่า 5 หมื่นล้านบาท จนถึงวันนี้แม้ว่าโครงการริมน้ำเจ้าพระยาในชื่อ “ไอคอนสยาม” จะดำเนินการก่อสร้างไปได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์
หากแต่ในห้วงเวลานี้ดูเหมือนผู้บริหารโครงการยังมีความพยายามที่จะสร้างกระแสเพื่อสร้างพื้นที่บนหน้าข่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อผลประโยชน์ทางด้านแหล่งเงินทุน เพิ่มความมั่นใจต่อคู่ค้าที่ให้ความสนใจในโครงการ หรือผู้บริโภคที่กำลังมองหาอาคารที่พักอาศัยในระดับไฮเอนด์
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 คืออีกครั้งที่ไอคอนสยาม ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น “อภิมหาโครงการเมืองแห่งการใช้ชีวิตสู่โลกอนาคต” เปิดเผยข้อมูลครั้งสำคัญของโครงการที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่ขนาด 750,000 ตารางเมตร
โดยองค์ประกอบหลักได้แก่ ศูนย์การค้า 2 อาคาร คือ ไอคอนสยาม (Main Retail & Entertainment) พื้นที่ 500,000 ตารางเมตร และไอคอนลักซ์ (Luxury Wing) พื้นที่ 25,000 ตารางเมตร และยังมีคอนโดมิเนียมอีก 2 อาคาร ภายใต้แบรนด์แมกโนเลีย วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนท์ ณ ไอคอนสยาม และเดอะเรสซิเดนท์ แอท แมนดาริน โอเรียนเต็ล รวมไปถึง “7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งไอคอนสยาม” อัตลักษณ์ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ
ดูเหมือนว่าการสร้างกระแสหรือปรากฏการณ์ดูจะเป็นงานถนัดของผู้บริหารหญิงจากสยามพิวรรธน์ เมื่อชฎาทิพ จูตระกูล ในฐานะกรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด เปิดเผยว่า “ไอคอนสยามจะเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไทย ในการเนรมิตโครงการที่ยิ่งใหญ่สมบูรณ์แบบ และสร้างบรรทัดฐานใหม่ของคำว่า ล้ำเลิศในทุกมิติที่จะเป็นการสร้าง Paradigm ใหม่ของวงการอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งยังเป็นการจุดประกายความเรืองรองของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชาวโลกชื่นชม”
หมุดหมายหนึ่งของไอคอนสยามคือความพยายามที่จะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดระยะทาง 10 กิโลเมตร เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก (New Global Destination) กระนั้นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งความเจริญด้านคมนาคม พื้นที่ริมตลิ่งที่ถูกจับจองสำหรับโครงการที่พักอาศัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ภูมิทัศน์ของแม่น้ำสายหลักของกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
แม้ในอดีตแม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกใช้เป็นเส้นทางคมนาคม แหล่งทำกินทางน้ำ แต่ปัจจุบันแม่น้ำเจ้าพระยาถูกชูให้เป็นจุดขายสำหรับที่พักอาศัย แหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของโบราณสถาน แหล่งมรดกที่มากด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์กว่า 20 แห่ง นอกเหนือจากนี้ยังมีโรงแรมระดับ 3-5 ดาว มากกว่า 50 แห่ง โครงการที่พักอาศัยทั้งสองฝั่งกว่า 200 โครงการ รวมไปถึงโครงการใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งของภาครัฐและเอกชน
ความหอมหวานของพื้นที่สามารถเรียกความสนใจจากนักลงทุนได้เป็นอย่างดี แม้จะมีผลกระทบทางอ้อมต่อชุมชนเก่าแก่ที่อยู่ริมแม่น้ำ หากพื้นที่นั้นอยู่บนทำเลที่นักลงทุนหมายตา ทั้งนี้หลังจากไอคอนสยามประกาศขายโครงการที่พักอาศัยจากแบรนด์แมกโนเลีย จำนวน 379 ยูนิตหมดแล้ว และคอนโดมิเนียม แบรนด์แมนดารินถูกจับจองไปว่า 40 เปอร์เซ็นต์
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับโครงการไอคอนสยาม โดยเฉพาะโครงการที่พักอาศัยซึ่งนับได้ว่ามีราคาแพงที่สุดบนทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยา คือ แมกโนเลีย วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนท์ ณ ไอคอนสยาม ที่สามารถปิดการขายได้ภายในเวลา 2 เดือน แม้ว่าไทยและทั่วโลกกำลังประสบสภาวะเศรษฐกิจ แต่จากเหตุดังกล่าวก็สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติได้อย่างดี
และแม้ว่าศูนย์การค้าเพิ่งเปิดให้จองพื้นที่หลังจากแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 แต่เนื่องจากการได้รับเสียงตอบรับตั้งแต่เปิดเผยข้อมูลโครงการเมื่อปี 2557 สามารถเรียกความสนใจจากผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่จากทั่วโลก ซึ่งแสดงเจตจำนงที่จะจับจองพื้นที่ตั้งแต่ยังไม่เปิดให้จอง ด้วยเป้าหมายของไอคอนสยามที่จะสร้าง Iconic Flagship Store ขนาดใหญ่ ทำให้ไอคอนสยามตัดสินใจทุ่มเงินลงทุนอีกครั้งเพื่อขยายพื้นที่เฟส 2 ของโครงการจำนวน 5 ไร่ ภายใต้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยเป็นรูปแบบของการทำสัญญาเช่านาน 30 ปี เพื่อรองรับผู้ประกอบการที่สนใจจะสร้างสินค้าไทยเพื่อจำหน่ายในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งรูปแบบของโครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษา และคาดการณ์ว่าจะเริ่มก่อสร้างในปลายปีนี้
หากพื้นที่เฟส 2 ของไอคอนสยามเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามาใช้พื้นที่ในการกระจายสินค้า นับว่าไอคอนสยามเป็นกลุ่มทุนที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนรอบข้าง ทั้งนี้ยังคงต้องดูความคืบหน้าและนโยบายของโครงการต่อไป
นอกเหนือจากการขยายพื้นที่โครงการแล้ว โครงการมูลค่า 5 หมื่นกว่าล้านยังมองการณ์ไกลและฉลาดที่จะใช้โครงข่ายคมนาคมให้เกิดประโยชน์และสามารถเชื่อมต่อประสานเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้บริโภค รวมไปถึงลูกค้าของไอคอนสยามในอนาคต ด้วยการสนับสนุนเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท ให้แก่ กทม. เพื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนสายรอง Golden Line ซึ่งเชื่อมต่อจาก BTS สายสีเขียวอ่อนจากสถานีกรุงธนบุรี ผ่านไอคอนสยาม ไปจนถึงโรงพยาบาลตากสิน ซึ่งมีความยาว 2.7 กิโลเมตร ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปลายปี 2017
กระนั้นดูเหมือนกว่าการวางรากฐานเชื่อมต่อระบบคมนาคมแบบรางบริเวณด้านหน้าไอคอนสยาม จะยังไม่เพียงพอต่อการเป็นอภิมหาโครงการริมแม่น้ำ เพื่อให้ครอบคลุมทุกระบบขนส่ง บริษัทไอคอนสยามจึงวางแผน เตรียมสร้างท่าเรือเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและลูกค้าของโครงการถึง 4 ท่าเรือ ประกอบด้วย 1. ท่าเรือ Exclusive Pier สำหรับลูกค้าคอนโดมิเนียมหรือเรือส่วนตัว 2. ท่าจอดเรือสำหรับรับ-ส่งลูกค้า 3. ท่าเรือสำราญ 4. ท่าเรือข้ามฟากสาธารณะ
ท่ามกลางการแถลงข่าวเปิดเผยข้อมูลสำคัญของโครงการครั้งล่าสุด ภายในงานมีการฉาย VTR ที่เปิดบทสัมภาษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบุคคลจากภาครัฐ ซึ่งเสียงสนับสนุนจากผู้มีเกียรติทั้งหลายน่าจะเป็นผลมาจากการที่ไอคอนสยามพยายามที่จะเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ เสมือนเป็นโครงการนำร่องครั้งแรกในไทยของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำงานร่วมกับภาครัฐตั้งแต่เริ่มต้นวางแผน เพื่อให้มี Infrastructure ที่เอื้ออำนวยความสะดวกที่สุดให้แก่ผู้คนในชุมชนและผู้ประกอบธุรกิจโดยรอบโครงการดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างระบบขนส่งมวลชนรองควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง
ทั้งนี้หากจะมองไอคอนสยามในมุมที่จะสามารถสร้างงานให้เกิดขึ้นได้หลังจากเปิดให้บริการแล้ว ชฎาทิพ ประเมินเรื่องนี้ไว้ว่า “ไอคอนสยามจะเป็นโครงการที่ดึงดูดนักลงทุนและผู้ประกอบการค้าปลีกจากต่างประเทศได้มากมาย ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการจะสามารถสร้างงานได้ไม่ต่ำกว่า 350,000 อัตรา ภายใน 5 ปีที่ดำเนินโครงการจนเปิดดำเนินการ และจะเป็นส่วนสำคัญที่จะเสริมสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้แข็งแกร่งและยั่งยืน อีกทั้งจะเป็นการตอกย้ำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย”
หากเป็นไปตามแผนการดำเนินงานของไอคอนสยาม สิ้นปี 2017 เราน่าจะได้เห็นเงาจากตึกสูงตระหง่านริมน้ำฝั่งธนทอดยาวลงบนผืนน้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ประหนึ่งโชว์รูมที่ไอคอนสยามสามารถนำเสนออัตลักษณ์ของประเทศให้ทุกมิติ ไม่ว่าจะภูมิปัญญาไทย ฝีมืออันประณีตบรรจงในการสร้างสรรค์ เส้นสายสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม
ตามที่ไอคอนสยามได้ประกาศ “แผนแม่บทวิสัยทัศน์แห่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ไปเมื่อปี 2557 ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนผู้ประกอบการริมแม่น้ำทั้งหมด รวมถึงผู้ประกอบการเรือทุกประเภท เพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และร่วมกันทำการตลาดในต่างประเทศ เพื่อช่วยกันจุดประกายให้คนทั้งโลกหันกลับมามองแม่น้ำสายนี้อีกครั้ง ในฐานะจุดศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครที่มีศักยภาพมากอีกแห่งหนึ่ง เป็นการนำเสนอความหลากหลายในมิติของความสุนทรีย์ของกรุงเทพฯ ว่า เป็นมหานครที่ผู้คนทั่วโลกอยากมาอยู่อาศัยมากที่สุด และนักลงทุนอยากจะเข้ามาดำเนินธุรกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ณ เวลานี้สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่อุดมไปด้วยสิ่งก่อสร้าง โบราณสถานสำคัญๆ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเข้าถึงของกลุ่มทุน คงจะทำให้แม่น้ำสายนี้ประหนึ่งพื้นที่จัดแสดงผลงานทางสถาปัตยกรรม และการตกแต่งของอาคารสูงไปเสียแล้ว ความเป็นไปที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นคงจะทำให้ความสมบูรณ์และความเป็นธรรมชาติของแม่น้ำที่ยังพอมีเหลืออยู่ ให้ยังดำรงอยู่ต่อไป เฉกเช่นที่ผลกำไรจากการลงทุนยังคงงอกเงย