xs
xsm
sm
md
lg

หมัดนี้เพื่อสังคม “ครูเจ” จิตอาสาสอนฟรีมวยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“เจ-ณัฐพงศ์ จิตพินิจ” หนุ่มนักบริหารขอขีดเส้นทางชีวิตสู่งานจิตอาสา ในฐานะ “ครูสอนมวยไทย” บนความชื่นชอบและหลงใหลในศิลปะการต่อสู้มวยไทย เขาเลือกสวมนวมก้าวรับหน้าที่ครูอาสาสอนศิลปะการต่อสู้ให้เด็กและเยาวชนไทยตามสวนสาธารณะ โดยไม่คิดสตางค์แม้แต่บาทเดียว ทว่าเป้าหมายเดียวของเขาไม่ใช่กระสอบทรายที่อยากพุ่งชน แต่เป็นการอนุรักษ์ศิลปะแม่ไม้มวยไทยให้ดำรงค์อยู่ในสังคมไทยต่อไป

“มวยไทยเป็นสมบัติของชาติ ครูอยากเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียน เมื่อก่อนไม่มีใครสนใจ แต่พอมวยไทยเป็นกีฬาของดาราขึ้นมา ทุกคนจึงเริ่มทำธุรกิจมวยไทย เริ่มเอามวยไทยมาหากิน แต่จริงๆ เมื่อก่อนก็สอนตามข้างวัดได้ บรรพบุรุษเราเขาส่งต่อกันมาแบบนั้น เพราะฉะนั้นครูเลยคิดว่าเอามาสอนแบบนี้แหละ ตามสวนสาธารณะไปเลย”

“ณัฐพงศ์ จิตพินิจ” หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาต่างเรียกกันถนัดปากว่า “ครูเจ” หนุ่มจิตอาสาหัวใจหล่อ ซึ่งได้ส่งต่อวิชาชีพแม่ไม้มวยไทยที่ถูกสั่งสมไว้ตลอดช่วงชีวิตสู่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ด้วยการเข้ามารับบทบาทเป็นครูจิตอาสาสอนศิลปะมวยไทยโดยไม่คิดสตางค์ เขาได้พูดถึงมวยไทยในอดีต ก่อนเล่าถึงที่มาที่ไปในการรับหน้าที่สอนมวยไทยในสวนสาธารณะต่อจากนี้

“ผมเป็นครูมวยไทยอยู่แล้วครับ เมื่อ 2-3 ปีก่อน ได้เปิดค่ายมวยแต่มีช่วงหนึ่งที่ปิดค่ายไป เพราะตอนนั้นเป็นช่วงที่มวยไทยเริ่มฮิตขึ้นมา ผมเลยไปสอนที่ฟิสเนส แต่ที่ฟิสเนสค่าเรียนมันแพง คนที่เขาอยากเรียน อย่างเด็กๆ ที่เคยเรียนกับผมที่ค่ายเดิม เขาไม่สามารถเรียนได้เพราะไม่มีตังไปจ่ายเรียนแพงๆ แบบนั้น
ผมเลยลาออกจากฟิสเนสและออกมาเปิดค่ายเหมือนเดิม มันเลยมีความคิดขึ้นมาว่า อยากให้เด็กที่เขาไม่มีโอกาส เหมือนคนที่เขาไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะไปจ่ายค่าเรียน ให้เขาได้เรียนมวยไทยฟรี เลยเริ่มจากไปสอนที่สวนสาธารณะ ผมกับทีมก็ตระเวนไปสอน”

 
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูเจเกิดแรงบันดาลใจในการสอนมวยไทยให้เด็กๆ ทว่าหนึ่งในเหตุผลเหล่านั้นคงเป็นเพราะมาจาก “ความชื่นชอบ” และอยากอนุรักษ์ศิลปะแม่ไม้มวยไทยเอาไว้ให้อยู่ในสังคมไทย จึงทำให้เขาสามารถทำสิ่งดีๆ ให้สังคมได้อย่างมีความสุขและไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย

“เราแค่ไปทำในสิ่งที่เราชอบ ผมตั้งใจอยากเปิดโอกาสให้คนที่เขากำลังออกกำลังกายกันอยู่ ให้เขารู้ว่าตอนนี้เริ่มมีมวยไทยและเขาจะไปเรียนได้ที่ไหน ผมเลยไปสอนให้เขาที่สวนเลย สอนให้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้เขาได้มีโอกาสลองมาใส่นวม ลองมาต่อยมวยไทยดู ผมตั้งใจทำให้มันเป็นไปในเชิงอนุรักษ์

อย่างเราเห็นคนที่เขาเต้นแอโรบิกกัน เรามาคิดว่ามวยไทยจริงๆ มันก็เล่นในสวนสาธารณะได้ เรามาฝึกท่า ออกหมัด เข่า ศอก เรียนเบสิกพื้นฐาน ลดความรุนแรงเรื่องของการต่อสู้ออกไป เหลือเพียงแค่ว่าเรียนเพื่ออนุรักษ์ เพื่อออกกำลังกาย เรียนได้ทุกเพศ-ทุกวัย ที่ผมสอนเรียนมีตั้งแต่เด็ก 6 ขวบ ยันอายุ 65 เลยก็มี”

ครูเจเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่าก่อนหน้านี้เขาได้สอนมวยไทยเชิงวิทยาทานมาแล้วกว่า 2 ปี ส่วนการรับหน้าที่ครูอาสาเต็มตัวนั้นได้เริ่มทำมาแล้วราวๆ 3 เดือน ซึ่งชั่วโมงการสอนจะอยู่ในช่วงเย็นที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก โดยทีมงานที่ครูเจจัดหาไปนั้นเขาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อแลกกับรอยยิ้มของเด็กๆ ที่มาเรียน นั้นถือเป็นค่าตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดแล้ว

“สอนทุกวันครับ ช่วง 6 โมง - 2 ทุ่ม ที่สวนชมน่าน ลานน้ำพุเฉลิมพระเกียรติ สวนสาธารณะริมแม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก ส่วนทีมงานที่ไปครูเจเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้ เหมือนกับพอครูมีรายได้จากการทำยิมมวยมาแล้ว ก็นำส่วนนี้ไปสนับสนุนให้เยาวชนที่เขาไม่มีโอกาสมาเรียนได้เรียนฟรี

มีทีมงาน 3 คนที่เป็นครู มีผู้ช่วยครูอีก 2 คน และมีนักมวยที่เป็นเด็กๆ ในค่ายก็จะไปช่วยสอน เหมือนเราปลูกฝังเขาว่า หนูมาอยู่กับครู หนูได้รับโอกาสที่ได้เรียนฟรีแล้ว หนูก็ต้องรู้จักถ่ายทอดให้กับคนที่เขาไม่มีโอกาส เราปลูกฝังเขาและก็ส่งเขาออกไปให้ทำกิจกรรมดีๆ ข้างนอก”

 
คิดอย่างไรที่มีคนบางส่วนมองว่ามวยไทยคือกีฬาป่าเถื่อนและเจ็บตัว? ผู้สัมภาษณ์อดสงสัยไม่ได้จึงขอเอ่ยถามครูเจในฐานะที่เป็นครูสอนศิลปะมวยไทย เขาครุ่นคิดอยู่พักก่อนจะให้คำตอบ “บางทีคนที่เขาอยากเรียนมวยเขายังมีความคิดแบบนั้นอยู่ ถ้าเราไม่ออกไปทำให้เขาดูในที่สาธารณะ เขาก็จะไม่รู้ว่ามวยไทยจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นกีฬาเจ็บตัวอย่างที่เข้าใจ”

ฟังดูแล้วต้องขอให้ครูเจช่วยขยายความต่อ ถึงภาพลักษณ์ของกีฬามวยไทยว่าเป็นกีฬาที่ใช้ความรุนแรง จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่กล้าส่งลูกหลานไปเรียนศิลปะการต่อสู้มวยไทยเท่าใดนัก ทว่านี่จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายถึงคำถามที่ว่า ทำไมเขาถึงต้องออกไปสอนมวยไทยในที่สาธารณะ

“อย่างเมื่อก่อนเขาจะมองว่าการเรียนมวยไทยคือ ต้องส่งลูกไปต่อยมวยให้ไปเจ็บตัว เป็นกีฬาป่าเถื่อน แต่ตอนนี้หลายๆ ที่เขาหันมาฝึกมวยไทยในเชิงอนุรักษ์กันมากขึ้น ให้เด็กไทยได้เรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัว
เหตุผลที่เราไปทำตรงนั้นคือ ไปทำให้พ่อแม่เขาเห็นด้วย ว่ามวยไทยเป็นแบบนี้ ทัศนคติเขาจะได้เปลี่ยนไปด้วย ผู้หญิงบางคนไปเต้นแอโรบิก มีความคิดว่าไม่เอาหรอก ต่อยมวยเจ็บตัว แต่คือเราอยากให้เขามีศิลปะป้องกันตัวไว้ติดตัว เราก็ไปทำให้เขาดู เขาอาจจะสนใจลองมาเรียนมวยกับเราดูบ้าง”


 
บนเส้นทางการเป็น “ผู้ให้” ยังคงทอดยาวต่อไปด้วยแสงสว่างแห่งความหวัง แม้สิ่งที่ครูเจได้เริ่มสร้างไว้ อาจไม่ได้รับผลตอบแทนที่มีมูลค่ามากมายเท่าไหร่นัก หากแต่วัดกันที่คุณค่าของการทำความดีนั้น คงตีค่าเป็นกำไรชีวิตให้แก่เขามากมายมหาศาล นี่จึงเป็นกำลังใจดีๆ ที่ผลักดันให้ครูเจมีแรงในการทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคมต่อไป

“ตอนนี้ครูรู้สึกภูมิใจนะว่าในจังหวัดพิษณุโลก มีที่อื่นเริ่มทำแล้ว ตามโรงเรียนเขาเริ่มเอาไปทำ มันรู้สึกดีที่ว่าคนไทยหันมาร่วมกันอนุรักษ์มวยไทยมากขึ้น เราเห็นเด็กๆ เขามาเรียนแล้วมีความรู้สึกดี แค่พ่อแม่เขามานั่งรอลูกเรียนมวย ครูเห็นก็มีความสุขแล้ว 
ถือว่าเรายังทำอะไรเพื่อใครได้หลายอย่าง ก่อนหน้านี้ครูจบวิศวะฯ พอวันหนึ่งครูมาทำธุรกิจและธุรกิจมันไปไม่ค่อยดี ครูเลยหันมาสอนมวยไทย มันเลยรู้สึกว่าความรู้ที่เรามี มันก็มีประโยชน์ เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น ต้องแบ่งปันให้กับคนอื่นเขา ไม่งั้นถ้าเก็บไว้กับตัวเองก็ตายไปไม่รู้เอาไปทำไม มันไม่มีประโยชน์”

สุดท้ายนี้ ครูเจได้ฝากถึงผู้ที่สนใจอยากเรียนมวยไทย แต่ยังมีความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ที่จะทำความรู้จักกับกีฬาประเภทนี้อยู่ ซึ่งครูเจเองอยากให้ลองเปิดใจเรียนรู้กีฬาชนิดนี้ และเชื่อว่ามวยไทยจะให้ประโยชน์กับหลายๆ คนอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อนแน่นอน

“อยากฝากให้เปิดใจ เปิดโอกาส เปิดตัวเองให้ลองมาใส่นวมชกมวยกันดูสักครั้งหนึ่ง เพราะมวยไทยมีอะไรดีๆ มากกว่าที่เราคิด มันไม่มีความรุนแรงหรอก ความรุนแรงคือการแข่งขันบนเวที แต่เรามีหน้าที่อนุรักษ์ เราเป็นคนไทยเราก็เรียนรู้เอาไว้ เป็นวิชาติดตัวปกป้องเราได้ ดูแลครอบครัวคนที่เรารักได้”


เรื่องโดย : พิมพรรณ มีชัยศรี
ขอบคุณภาพประกอบจาก Jay Indies


กำลังโหลดความคิดเห็น