xs
xsm
sm
md
lg

ส่งหมายเรียก"ธัมมชโย" พระลูกวัดโต้คืนเงินแล้วจบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-ดีเอสไอนำหมายเรียก "ธัมมชโย" ไปส่งให้ถึงวัด แจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร หลังมีชื่อรับเช็คคดีโกงเงินสหกรณ์ฯ คลองจั่นกว่า 800 ล้านบาท นัดพบพนักงานสอบสวน 8 เม.ย.นี้ พร้อมเรียก "ศศิธร โชคประสิทธิ์" มาพบด้วย หลังมีชื่อสลักหลักเช็ค "บิ๊กต๊อก"กำชับดำเนินการตามกฎหมาย พระลูกวัดโต้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เผยคืนเงินไปแล้ว ถือว่าจบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 มี.ค.) สำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้นำหมายเรียกไปยัง พระเทพญาณมหามุนี (พระไชยบูลย์ สุทธิผล หรือพระธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในฐานะผู้ต้องหากระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร เพื่อให้ไปพบพนักงานสอบสวน ณ สำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ อาคารรัฐประศาสน์ภักดี (ศูนย์ราชการ อาคาร B) ชั้น 8 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 เม.ย.2559 เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ พระธัมมชโย ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดียักยอกและฉ้อโกงทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินรายใหญ่ของวัดพระธรรมกาย โดยคดีความที่โยงถึงพระธัมมชโยมากที่สุด คือ สำนวนที่ดีเอสไอตรวจสอบเส้นทางการเงินจากเช็ค 878 ฉบับ ที่นายศุภชัย สั่งจ่ายออกไป พบว่ามีการสั่งจ่ายเป็นเช็ค ระบุว่า “บริจาค” ไปยังวัดพระธรรมกาย และพระลูกวัด รวมไปถึงบัญชีของพระธัมมชโย เป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานจากพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดี ดีเอสไอในกรณีดังกล่าวแล้ว ซึ่งตนได้กำชับให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนการชี้แจงความคืบหน้าในคดีดังกล่าวได้ขอให้เป็นดุลยพินิจของอธิบดีดีเอสไอ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในฐานะผู้เสียหายจากการฝากเงินจำนวน 8 ราย ได้ทยอยเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพื่อเอาผิดกับผู้ที่มีรายชื่อรับเช็คปลายทางจากสหกรณ์ฯ

น.ส.ศิวพร เปล่งแสงศรี หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า ได้เข้าร้องทุกข์กับดีเอสไอ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้มีชื่อรับเช็คจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น รวมถึงพระธัมมชโยที่ได้รับเช็คเงินบริจาคหลายครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ไม่มีส่วนรู้เห็นว่ามีการนำเงินฝากของสมาชิกไปบริจาคให้กับวัดพระธรรมกาย จึงขอวิงวอนให้พระธัมมชโยส่งคืนเงินที่ได้รับบริจาคทั้งหมดให้กับสหกรณ์ฯ เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินเก็บสะสมเพื่อยังชีพในช่วงบั้นปลายของชีวิต

พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร หัวหน้าชุดสอบสวนเส้นทางการเงินคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กล่าวว่า หลังมีสมาชิกผู้เสียหายมาร้องให้เอาผิดกับผู้รับเช็ค พนักงานสอบสวนจึงได้มีการประชุมร่วมกับพนักงานอัยการ แล้วมีมติร่วมกันให้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 2 ราย คือ พระธัมมชโย ที่มีชื่อรับเช็คหลายฉบับเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท และมีการกระจายเงินไปยังเครือข่ายของวัดพระธรรมกายในหลายจังหวัด และอีกคน คือ น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ ซึ่งมีชื่อปรากฏสลักหลังเช็คกว่า 100 ล้านบาท ที่โอนให้เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในความผิดฐานช่วยปกปิดซ่อนเร้นอำพราง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้นำหมายเรียกเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไปส่งที่วัดพระธรรมกายแล้ว และมีการเซ็นรับหมายเรียกที่ระบุให้พระธัมมชโยเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่สำนักคดีการเงินการธนาคาร ดีเอสไอ วันที่ 8 เม.ย. เวลา 09.00 น. แล้ว

วันเดียวกันนี้ พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่ดีเอสไอออกหมายเรียกพระธัมมชโยไปพบพนักงานสอบสวนว่า วัดพระธรรมกาย ขอยืนยันในความบริสุทธิ์ของพระเทพญาณมหามุนี และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอชี้แจ้งว่าวัดพระธรรมกายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกรณียักยอกเงินดังกล่าว เพราะเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ทางวัดได้สอบถามนายศุภชัยว่าเงินที่นำมาทำบุญมาจากไหน ได้รับคำตอบว่า กู้ยืมมาจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น และได้คืนแล้ว โดยมีหลักฐาน คือ การตรวจสอบบัญชีประจำปีและรายงานต่อที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ฯ

"ที่มีการถามว่าเงินบริจาคตั้งหลายร้อยล้านบาท ทำไมไม่สงสัยบ้าง ขอตอบว่า นายศุภชัย ไม่ใช่ผู้ทำบุญมากที่สุดของวัด ยังมีผู้ทำบุญมากกว่านายศุภชัยอีกหลายท่าน เมื่อเจ้าตัวมาทำบุญจำนวนมากและบอกว่าทำธุรกิจได้ผลกำไรดีมาก จึงมาทำบุญ ทางวัดจึงไม่ได้สงสัยอะไร"

ส่วนเงินบริจาค ทางวัดได้นำไปใช้ในการก่อสร้างศาสนสถาน เพื่อรองรับคนที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดหมดแล้ว แต่การที่นำเงินบริจาคจำนวน 684 ล้านบาทไปคืนให้แก่สหกรณ์ฯ คลองจั่น โดยกลุ่มลูกศิษย์ได้ตั้งกองทุนรวบรวมเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาบรรเทาความเดือนร้อนแก่สมาชิกผู้ฝากเงินสหกรณ์ฯ นั้น ถือเป็นการช่วยเหลือ และวัดได้รับการขอบคุณจากสหกรณ์ฯ และยังมีการตกลงกันอีกว่าหากศาลตัดสินคดีดังกล่าวแล้ว สหกรณ์ฯ จะมีการคืนเงินเยียวยากลับมาให้กลุ่มลูกศิษย์ที่ตั้งกองทุนด้วย ทั้งๆ ที่เงินบริจาคที่ได้รับมาโดยสุจริต และนำไปสร้างศาสนสถาน ถือเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น