xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปไตยด้อยค่า : เหตุนำมาซึ่งเผด็จการ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

วันแห่งการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จ และการประชามติที่ใกล้เข้ามา บรรดานักวิชาการผู้ยึดมั่นการเลือกตั้งเป็นสรณะในระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และนักการเมืองซึ่งอาจสูญเสียโอกาสทางการเมือง อันเกิดจากเนื้อหารัฐธรรมนูญได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงคัดค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองประเด็นดังต่อไปนี้

1. ที่มาและอำนาจของ ส.ว.

จากการข่าวที่ปรากฏทางสื่อแขนงต่างๆ ทาง คสช.ได้แสดงเจตนาผ่านไปยัง กรธ.ต้องการให้มี ส.ว. 250 คน และมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ทั้งให้ ส.ว.มีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ด้วย

แต่จากข่าวที่ปรากฏต่อมาว่า ทาง กรธ.มีการแบ่งรับแบ่งสู้ โดยยอมให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน และอีก 50 คนให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่ยอมให้มีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

2. กระบวนการเลือกตั้ง

ทาง คสช.ต้องการให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และไม่ต้องการให้เสนอรายชื่อผู้จะเป็นนายกฯ 3 คน

แต่จากข่าวที่ปรากฏมีแนวโน้ม กรธ.ให้ใช้บัตรใบเดียว และยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้ที่จะเป็นนายกฯ 3 คน

ไม่ว่า กรธ.จะยอมในบางเรื่อง และไม่ยอมในบางเรื่อง ทางฝ่ายผู้คัดค้านก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้องการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และไม่มีอำนาจไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ดังนั้น เนื้อหาของรัฐธรรมนูญถึงแม้จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช.ทุกประเด็น แต่ก็ยังคงขัดแย้งกัน ความต้องการของนักวิชาการและนักการเมืองอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้ จึงเชื่อได้ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว ทางฝ่ายนักวิชาการและนักการเมืองผู้มีความเห็นแย้งโดยยึดรูปแบบประชาธิปไตยในโลกตะวันตก ก็คงเห็นด้วยอยู่ดี และความเห็นด้วยของพวกเขาก็ฟังได้ในทางวิชาการ

แต่ในขณะเดียวกัน เจตนารมณ์ของ คสช.ที่ส่งให้ กรธ.ดำเนินการโดยอ้างความจำเป็นทางการเมือง ซึ่งเน้นความสงบเรียบร้อยในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีก็ฟังได้ ในทางการปกครองเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ทั้งฝ่ายค้านคือนักวิชาการ และนักการเมือง จึงถือได้ว่ามีเหตุผลในทางวิชาการ แต่ทั้งนักวิชาการ และนักการเมืองคงจะลืมไปว่าประเทศไทยนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน คนไทยได้เห็นการปกครองทั้งระบอบเผด็จการ และระบอบประชาธิปไตยมาแล้วหลายครั้งหลายหน ในลักษณะที่ทั้งสองระบบผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามา แต่ก็ไม่ทำให้ประเทศไทยมีระบบใดระบบหนึ่งอยู่ต่อเนื่องยาวนาน

ดังนั้น จึงน่าอนุมานได้ว่า การปกครองทั้งสองระบอบมีข้อบกพร่องที่ให้คนไทยยอมรับได้หรือไม่ก็คนไทยนั่นเองคือตัวปัญหาที่ทำให้การปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยยั่งยืนไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้านำการปกครองทั้งสองระบบนี้ซึ่งผ่านมาในอดีตมาเปรียบเทียบกัน โดยยึดประโยชน์ของประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก ก็จะพบว่ามีข้อดีและเป็นประโยชน์เหมาะสมกับภาวะแวดล้อมของสังคมไทย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้นำรัฐบาลเป็นหลัก จะเห็นได้ดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลในระบอบเผด็จการที่มีผู้นำเด็ดขาด และทำประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวม ก็ได้รับการยอมรับจากประชาชน เช่น รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นตัวอย่างที่ดีในประเภทนี้

2. รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย (ถึงแม้จะไม่เต็มใบ แต่มีผู้นำซื่อสัตย์ สุจริต ทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ได้รับการยอมรับจากประชาชน เช่น รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดีในประเภทนี้

จากตัวอย่างข้างบนพอจะสรุปได้ว่า ทั้งรัฐบาลในระบอบเผด็จการ และระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นรัฐบาลดีและทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้ ถ้าได้ผู้นำที่ดี ในทางกลับกัน ไม่ว่ารัฐบาลในระบอบใดก็เป็นรัฐบาลที่ดีเลวได้ ถ้าได้ผู้นำรัฐบาลที่ไม่ดี ทำเพื่อตัวเองและพวกพ้อง แสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ จะเห็นได้จากรัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้การนำของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกประชาชนขับไล่เนื่องจากใช้อำนาจในการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ และรัฐบาลในระบอบเผด็จการภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งถูกประชาชนขับไล่ในปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา

จากตัวอย่างทั้งดีและไม่ดีที่ยกมาเป็นตัวอย่างทั้งสองระบบการปกครอง มีทั้งข้อดีและข้อเสียขึ้นอยู่กับผู้นำเป็นหลัก ดังนั้นปัญหาในเรื่องนี้มิได้อยู่ที่ระบอบการปกครอง แต่อยู่ที่คน ดังนั้น จึงมีการบ้านให้คิดว่า แล้วจะทำอย่างไรจึงจะได้คนดีมาเป็นผู้นำรัฐบาล อย่ามัวแต่คิดด้วยหลักการเพียงอย่างเดียว ขอให้ค้นหาวิธีการด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น