ผู้จัดการรายวัน360-กทค. ตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ค่าเสียหาย กรณีแจสเบี้ยวจ่ายเงินประมูลคลื่น 900MHz คาดรู้ผล 12 เม.ย.นี้ เตรียมเปิดประมูลใหม่ปลายมิ.ย. ปรับเงื่อนไขเพิ่มเงินค้ำประกันสูงขึ้น หวั่นซ้ำรอยเดิม ส่งเรื่องนายกฯ รับทราบสัปดาห์หน้า "วิษณุ" ระบุ กสทช. ต้องยึดเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาททันที และฟ้องเรียกค่าเสียหาย ย้ำประมูลใหม่ หากได้ต่ำกว่าเดิม ต้องเก็บส่วนต่างจากแจส "พิชญ์"โต้จ่ายแค่ 644 ล้านแล้วจบ เรียกร้องอีกไม่ได้ เอไอเอสยันพร้อมเข้าร่วมประมูลใหม่ ด้าน "เกศรา"เผยแจสยังไม่รู้ค่าเสียหาย ต้องรอให้ กสทช.ตัดสินลงโทษก่อน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เห็นชอบให้สำนักงานดำเนินการ 2 เรื่อง เกี่ยวกับ กรณีที่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz คือ ตั้งคณะทำงานเรียกร้องค่าเสียหาย และการแก้ไขหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 MHz ใหม่ โดยจะต้องนำรายละเอียดทั้ง 2 เรื่องนี้ เสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบภายในสัปดาห์หน้า ซึ่ง กสทช. ได้ทำตามกฎหมายอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนหัวหน้า คสช. จะใช้มาตรา 44 ในเรื่องนี้หรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับหัวหน้าคสช.
สำหรับการตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินค่าเสียหายนั้น สำนักงานจะเชิญตัวแทนที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะทำงาน ประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานกฤษฎีกา กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย รองเลขาธิการสายงานกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ รองเลขาธิการสายงานกิจการโทรคมนาคม โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวต้องวิเคราะห์ทุกอย่างที่ กสทช. จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ รวมถึงการพิจารณาในการยึดใบอนุญาตทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ รวมถึงกิจการโทรคมนาคมที่แจสได้รับจาก กสทช.ด้วยว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งต้องได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน เพื่อนำเสนอที่ประชุม กทค.และเสนอที่ประชุม กสทช.ในวันที่ 12 เม.ย.2559
ขณะที่การแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งใหม่ ก็ต้องนำเสนอที่ประชุม กสทช. ในวันเดียวกันด้วย ซึ่งต้องแก้ไขเงื่อนไขการประมูลในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.การแก้ไขราคาเริ่มต้นการประมูลในเบื้องต้น ต้องยึดตามมติ กทค. ที่ใช้ราคาเริ่มต้นการประมูลในราคาสุดท้ายที่แจสชนะการประมูล คือ จำนวน 75,654 ล้านบาท ทั้งนี้ จะนำราคาสุดท้ายที่ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายนำเสนอ คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เสนอราคาสุดท้ายที่ 73,722 ล้านบาท บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เสนอราคา 70,180 ล้านบาท บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น เสนอราคา 75,965 ล้านบาท ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วย
2.เงื่อนไขการวางเงินค้ำประกันที่จะเปลี่ยนจากการวางเงินค้ำประกันที่ 5% ของมูลค่าคลื่นความถี่ จำนวน 644 ล้านบาท โดยจะเปลี่ยนเป็นเริ่มจาก 10-30% ของราคาคลื่นความถี่เริ่มต้น ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท
3.แก้ไขเงื่อนไขการประมูลที่เกี่ยวข้องจะต้องสอดคล้องกับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บีริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุด การอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 (มาตรการเยียวยาฯ) ซึ่งต้องให้ใบอนุญาต 30 วัน หลังมีผู้ชนะการประมูลมาชำระเงิน ตามที่ศาลปกครองกลางได้สั่งให้กสทช.ดำเนินการ กรณีการขยายระยะเวลาเยียวยาลูกค้า 2G คลื่น 900 Mhz ออกไปจนถึงวันที่ 14 เม.ย.ดังที่เคยเป็นข่าวไปแล้ว
"จะนำไปประชาพิจารณ์ ระหว่างวันที่ 18 เม.ย.-23 พ.ค.2559 ซึ่งต้องใช้เวลา 30 วัน เพื่อนำเข้าที่ประชุม กทค. อีกครั้งหนึ่งก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 31 พ.ค.2559 พร้อมประกาศเชิญชวนผู้สนใจประมูลวันที่ 20มิ.ย.2559 และรับซองการประมูล คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลใหม่ได้ช่วงปลายเดือนมิ.ย.2559"นายฐากรกล่าว
นายฐากรกล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ดีแทค เสนอราคาเริ่มต้นการประมูลที่ราคา 16,080 ล้านบาท และไม่เห็นด้วยที่ ทรูฯ จะเข้าร่วมประมูลในครั้งใหม่นี้นั้น ต้องบอกว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เพราะมติ กทค. ได้สรุปมาแล้วว่า ทรูฯ สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ส่วนราคาเริ่มต้นต้องไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท
ส่วนเรื่องที่แจสส่งหนังสือถึง ตลท. ถึงสาเหตุที่มาชำระเงินไม่ทันวันที่ 21 มี.ค. เนื่องจากนายทุนจากประเทศจีนดำเนินการร่วมทุนไม่ทัน ซึ่งกว่าจะเสร็จต้องใช้เวลาถึงเดือนเม.ย. และทาง กสทช. ก็ไม่ได้ผ่อนปรนเงื่อนไขใดๆ ให้นั้น ตนเองยืนยันว่าไม่ได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการจากแจสในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่างถึงกรณีแจสไม่มาชำระค่าใบอนุญาต 4จีว่า กสทช. ต้องยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งเป็นเช็คเงินสดราว 644 ล้านบาททันที รวมถึงต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูล 4 จีที่ผ่านมา และจัดให้มีการประมูลคลื่น 900 MHz ช่วงนี้ใหม่ ส่วนการที่ กสทช. จะเสนอพล.อ.ประยุทธ์ ให้ใช้มาตรา 44 จัดให้มีการประมูลใหม่ คงไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนขนาดนั้น เพราะกสทช. สามารถดำเนินการเองได้ และมีประกาศชัดเจนว่าจะจัดประมูลใหม่ในช่วงไม่เกิน 1 ปี แต่ต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่า และถ้าราคาต่างกัน ก็ต้องฟ้องร้องส่วนต่าง และถ้ายังประมูลไม่ได้ใน 1 ปี ก็ต้องประมูลต่อ โดยยึดหลักที่ต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่าที่ประมูลได้เช่นกัน
เมื่อถามว่า แนวทางประมูลใหม่เดิมประมูลไว้ที่ 7 หมื่นล้าน หากประมูลใหม่ได้ต่ำกว่า ส่วนต่างที่เกิดขึ้นต้องแจสโมบายต้องจ่ายใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ แต่หากมีโต้แย้งในหลักการก็เถียงไป ก็ไปว่ากันที่ชั้นศาล
สำหรับแนวคิดออกมาตรา 44 ให้สิทธิผู้ประมูลที่เสนอราคาเป็นอันดับถัดมาว่าต้องการชำระค่าประมูลในราคาเดียวกันเพื่อได้คลื่น 900 MHz หรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าหากจะทำอย่างนั้นต้องออกกฎหมายให้ กสทช. จะเป็นกฎหมายปกติ หรือกฎหมายไม่ปกติก็ตาม แต่เมื่ออันดับ 2 ถูกเลื่อนขึ้นมา ในแง่สังคมคงรับยาก มันได้อย่างคือเร็ว แต่ในแง่สังคมคือถูก และกลายเป็นคนปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่างเสียเปรียบ คนที่เสนอราคาต่ำกว่าไม่ควรจะได้ และกติกานี้เมื่อไม่บอกล่วงหน้าพอเปลี่ยนทีหลังก็ลำบาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็คิดว่าเรื่องอย่างนี้อาจจะเกิดขึ้น แต่จะเตรียมทางหนีทีไล่ได้อย่างไร เพราะทุกอย่างมาตามตรอก ออกทางประตู
ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่ แต่ต้องขอรอดูเงื่อนไขและราคาตั้งต้นที่มีการปรับปรุงใหม่ก่อน
ขณะที่นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงกรณีมาตรการตรวจสอบ และระงับการซื้อขายหุ้น และ DW ในหลักทรัพย์อ้างอิงของ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2559 ที่ผ่านมา และเปิดให้ซื้อขายได้อีกครั้งในวันที่ 23 มี.ค.2559 ว่า JAS ได้ชี้แจงว่าที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นได้ เนื่องจากติดขัดในด้านคู่สัญญาพันธมิตรจากจีนที่ไม่สามารถผ่านการอนุมัติเพื่อนำส่งเงินงวดแรกได้ทัน ทำให้บริษัทต้องถูกริบเงินค้ำประกัน ส่วนความเสียหาย JAS ยังประเมินไม่ได้ เพราะต้องรอให้ กสทช. พิจารณาบทลงโทษเสร็จก่อน ถึงจะแจ้งผู้ถือหุ้นของบริษัท และ ตลท. ได้ ขณะที่การซื้อหุ้นคืน ตลท. ได้จับตาดูมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเม.ย.ที่จะถึงนี้อยู่ โดยยืนยันว่า มีการติดตามบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JAS ได้แจ้งเพิ่มเติมต่อตลาดหลักทรัพย์ โดยระบุว่า แจส โมบายต้องถูกริบเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาท แต่แจสโมบายและกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากประกาศ กสทช. ไม่ได้ระบุให้ผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบในความเสียหายใดๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาท และเหตุดังกล่าวนี้ ก็ไม่ได้เป็นเหตุเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมอื่นๆ ที่กลุ่มบริษัทได้รับจากสำนักงาน กสทช. และใช้ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทยังสามารถดำเนินการได้โดยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ เงินประกันการประมูลดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของแจส คิดเป็น 1.27% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท และเงินประกันการประมูลดังกล่าวมาจากทุนชำระแล้วของบริษัท แจสโมบาย และเงินที่บริษัทให้กู้ยืม ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในปี 2559 รวมจำนวน 644 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS หลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลดเครื่องหมาย SP ปิดตลาดวันที่ 23 มี.ค.ที่ 3.56 บาทลดลง 0.12 บาท เปลี่ยนแปลง -3.26% มูลค่าการซื้อขาย 3.5 หมื่นล้านบาท
วันเดียวกันนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือบอร์ด กทค. และ กสทช. ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 4จี ของแจส ว่า หลังจากชนะประมูลแล้ว แต่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าประมูลงวดได้ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบในเรื่องแจสมีการปั่นหุ้นหรือไม่