xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ฤาชีวิตคนไทยจะไม่สำคัญ จึงต้องหั่นงานวิจัยของตัวเองทิ้ง แทนที่จะวิเคราะห์ให้รัดกุมและปรับปรุงให้ดีขึ้น?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์/ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร

อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ศาสตราจารย์ ดร.นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยโดยมีนางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคม เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยได้ทำงานวิจัยชื่อ ผลลัพธ์และความเป็นธรรมทางสุขภาพ และได้เงินสนับสนุนจาก Rockefeller Foundation และสปสช มีความหนา 208 หน้า ในปี 2557 สามารถดาวน์โหลดได้จาก www.dropbox.com/s/b3ehdua0sajht4n/Worawan-NHSO-survival.pdf?dl=0 และได้นำงานวิจัยดังกล่าวมาแถลงโดยนางวรวรรณเห็นว่า แหล่งที่มา วิธีการจ่ายเงิน และการให้บริการของทั้ง 3 ระบบนั้นแตกต่างกัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เมื่อเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำด้านผลลัพธ์ทางสุขภาพ ระหว่างสิทธิบัตรทองกับสิทธิราชการ พบว่าอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 5 โรค ติดตามตั้งแต่อายุ 60 ปี หลังจากเข้ารับการรักษา 10 วัน พบว่า 82% ผู้ป่วยสิทธิราชการยังคงมีชีวิตอยู่ และ 68% ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองยังคงมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าหลัง 40 วัน พบว่า 57% ผู้ป่วยสิทธิราชการยังคงมีชีวิตอยู่ และ 29% ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองยังคงมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่ามีอัตราการตายแตกต่างกันมากและเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำในยอดเงินที่ใช้ในการรักษา จึงสมควรจัดทำร่าง พ.ร.บ.กำกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐ เพื่อจัดตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน้าที่สร้างความกลมกลืนลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสามกองทุน (ราชการ บัตรทอง ประกันสังคม) ดูรายละเอียดได้ใน ตั้งองค์กรกลางคุม 3 กองทุนประกันสุขภาพรัฐ

จากการศึกษาข้อมูลจากรายงานของ TDRI ผู้เขียนได้คำนวณความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการตายกับการใช้สิทธิบัตรทองและสิทธิราชการ โดยนำอัตราการตายของทั้งสองสิทธิมาหารกันเป็นอัตราส่วน (Ratio) แม้วิธีการนี้จะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดแต่เนื่องจากขนาดตัวอย่างมีขนาดใหญ่มากและคำนวณจากค่าสถิติเชิงบรรยายไม่ใช่ข้อมูลดิบก็ยังคงพบว่าอัตราการตายของสิทธิบัตรทองสูงกว่าสิทธิราชการเกือบ 40% และเมื่อคำนวณแยกเป็นบางโรคสูงกว่าถึง 74% อัตราการตายของโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็ง สูงมาก โดยสูงถึง 1.7 เท่าหมายความว่าถ้าป่วยด้วยโรคกลุ่มนี้ถ้าผู้ถือสิทธิข้าราชการตาย 10 คน ผู้ถือบัตรทองจะตายถึง 17 คน และ การตายมากกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตามปกติถึง 70% เป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และเมื่อพิจารณาการแจกแจงอายุของผู้ใช้สิทธิทั้งสองกลุ่มกลับไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผู้ใช้สิทธิราชการมีอายุที่สูงกว่าเล็กน้อยแต่กลับมีอัตราการตายต่ำกว่า

เมื่อมีอัตราการตายที่แตกต่างกันมากขนาดนี้สปสช และ TDRI ควรศึกษาหาสาเหตุของอัตราการตายที่แตกต่างกัน ในทางระบาดวิทยานั้นต้องสอบสวนหาสาเหตุการตาย (Outbreak investigation) อย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือชีวิตมนุษย์และแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ แต่ทั้งทางสปสช และ TDRI ก็ไม่ได้สนใจที่จะสอบสวนหาสาเหตุการตายมากแตกต่างกัน ผู้เขียนจึงได้สอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพเพื่อสอบสวนหาสาเหตุการตายที่แตกต่างกันทำให้พบว่ามีการรักษาแบบเหมาโหลถูกกว่าใช้วิธีการเดียวกันหมดในการรักษาคนไข้

แต่ทาง TDRI กลับออกมาตอบโต้ว่าอัตราการตายของสิทธิบัตรทองและสิทธิราชการไม่อาจจะเปรียบเทียบกันได้ โปรดดูรายละเอียดได้ใน ทีดีอาร์ไอแจงสิทธิสุขภาพเหลื่อมล้ำสูง ข้าราชการอายุยืนเพราะมีหลายปัจจัยเหนือบัตรทอง เนื่องจากมีปัจจัยอื่นที่แตกต่างกันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในการดูแลสุขภาพ ฐานะทางสังคมเศรษฐกิจ และมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ข้าราชการอายุยืนกว่า

สิ่งเดียวที่ทาง TDRI ยืนยันหนักแน่นว่าสามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างหนักแน่นคือจำนวนเงินงบประมาณที่สิทธิราชการได้รับมากกว่าควรรวมกองทุนและนำมาเกลี่ยให้เท่ากันหมดทั้งสิทธิราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ เมื่อผู้เขียนได้ไปออกรายการคมชัดลึก ทางโทรทัศน์ช่องเนชั่นทีวี มี นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นพิธีกร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ทาง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ได้ยืนยันว่าไม่สามารถเปรียบเทียบอัตราการตายได้ เนื่องจากมีความแตกต่างกันของผู้เข้ารับการรักษาทั้งสองสิทธิ ต้องใช้การสุ่มคู่ฝาแฝดเข้าไปสู่สิทธิราชการและสิทธิบัตรทองเท่านั้น ต้องมาจากแฝดแท้ (Monozygotic twins) ที่มีการเลี้ยงดูเหมือนกันทุกอย่าง มีรหัสพันธุกรรมและสภาพร่างกายเหมือนกันทุกประการ จึงจะพิสูจน์ได้ว่าอัตราการตายต่างกันเป็นผลมาจากสิทธิในการรักษาพยาบาลที่แตกต่างกัน ซึ่งในทางพันธุกรรมเรียกการออกแบบการศึกษาแบบนี้ว่า Twin Study แม้ว่าจะเป็นการออกแบบการวิจัยที่รัดกุมที่สุด แต่เป็นรูปแบบการวิจัยที่ไม่สามารถทำได้จริงสถานการณ์นี้ และหากจะรอพิสูจน์เช่นนั้น คนไทยผู้ใช้สิทธิบัตรทองก็คงเสียชีวิตหมดสิ้นไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่การพิสูจน์เปรียบเทียบอัตราการตายในทางระบาดวิทยาสามารถทำได้ด้วยข้อมูลที่ทาง TDRI มีอยู่ได้ทันที

ผู้เขียนได้ขอข้อมูลดิบจากทาง TDRI เพื่อนำมาคำนวณอัตราส่วนแต้มต่อ (Odd ratio) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์ของการรักษา (ตาย vs. รอด) กับสิทธิการรักษา (บัตรทอง vs. สิทธิราชการ) และสามารถควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน ได้ด้วยสถิติตัวแปรพหุ เช่น ใช้ Cox (Proportional Hazards) model เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการอยู่รอด (ในทางกลับกันการตาย) เพื่อเปรียบเทียบการตายของทั้งสองสิทธิ ด้วยวิธีการทางสถิติเหล่านี้จะสามารถควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน เช่น อาการป่วยที่มีมาก่อน เข้ามาร่วมศึกษาว่ามีผลต่ออัตราการตายหรือไม่ โดยผู้เขียนไม่ต้องการค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้นเพียงคาดหวังว่าหากทราบสาเหตุหรือยืนยันได้ว่ามีอัตราการตายที่สูงต่างกันจริงหลังจากได้ควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนแล้วจะทำให้ช่วยชีวิตคนไทยได้มากมาย ทาง TDRI ก็บอกว่าไม่สามารถให้ข้อมูลดิบได้เนื่องจากเป็นข้อมูลความลับของ สปสช ไม่ใช่ข้อมูลของ TDRI ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ขอร้องให้ทาง TDRI ช่วยคำนวณอัตราการตายและความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิทั้งสองกับการตายซึ่งทาง TDRI มีข้อมูลจากสปสช อยู่แล้วในมือ

แต่เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่หนึ่งปีหลังจากนั้นทาง TDRI ได้เผยแพร่รายงานผลลัพธ์และความเป็นธรรมทางสุขภาพ (ฉบับปรับปรุง 2558) ในหนึ่งปีหลังจากตีพิมพ์ฉบับแรกออกมา สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.dropbox.com/s/1jjwxvn7pwzkwu8/Worawan-Update-Lie.pdf?dl=0 โดยตัดทอนเนื้อหาออกลดความหนาของเล่มรายงานขนาดเท่าเดิมเหลือเพียง 186 หน้า จากเดิม 208 หน้า โดยคงเหลือวัตถุประสงค์ของการศึกษาในบทที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมทางสุขภาพ: กรณีผู้สูงอายุ เป็นเพียงการวิเคราะห์ความเป็นธรรมทางสุขภาพระหว่างสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ประชาชนได้รับ โดยดูจากค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน ในช่วง 1 ปีสุดท้ายก่อนตายทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือผู้สูงอายุ (ในที่นี้หมายถึงผู้ที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) และเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังโรคใดโรคหนึ่งหรือหลายโรคในกลุ่มโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคมะเร็ง ช่วงเวลาที่ทำการศึกษารวมเฉพาะผู้สูงอายุที่ตายในปี 2550 ถึงปี 2554

และได้ตัดเนื้อหาออกไปประมาณ 20 หน้า โดยตัดเนื้อหาจากรายงานการวิจัยฉบับเก่าในรายงานการวิจัยฉบับปรับปรุงดังนี้

ตัดเนื้อหาในหัวข้อ 10.1.2 เปรียบเทียบการรักษาพยาบาลระบบต่างๆ
ตัดเนื้อหา 10.2 ข้อมูลผู้ป่วยในสูงอายุและการวิเคราะห์ข้อมูล
ตัดตารางที่ 10.1 จำนวนผู้ป่วยในที่อายุ 60 ปีขึ้นไปในปี 2550-2554 และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด ตารางที่ 10.2 จำนวนและร้อยละการรับบริการเฉลี่ยของผู้ป่วยในสูงอายุของสวัสดิการถ้วนหน้าและสวัสดิการข้าราชการในปี 2550-2554 และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด รูปที่ 10.1 ค่าสถิติของอายุผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในระบบสวัสดิการถ้วนหน้าและสวัสดิการข้าราชการ และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด รูปที่ 10.2 ค่าสถิติของอายุผู้ป่วยที่ตายในระบบสวัสดิการถ้วนหน้าและสวัสดิการข้าราชการ และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด ตารางที่ 10.3 จำนวนผู้สูงอายุที่เสียชีวิตแบ่งตามโรค และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด รูปที่ 10.3 สัดส่วนการตายในแต่ละเดือนของสองระบบ และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด รูปที่ 10.4 จำนวนผู้ป่วยในสูงอายุที่ตายในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลของระบบสวัสดิการถ้วนหน้า และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด รูปที่ 10.5 สัดส่วนผู้ป่วยในสูงอายุที่ตายในโรงพยาบาล และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด รูปที่ 10.6 จำนวนวันนอนเฉลี่ยและจำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษาในช่วง 365 วันก่อนตาย และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด รูปที่ 10.7 อัตราการเข้ารับการรักษาภายใน 90 วันก่อนตาย และ 91 วันถึง 365 วันก่อนตาย และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด รูปที่ 10.8 เฉลี่ย Adjusted RW ต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาภายใน 90 วันก่อนตาย และ 91 วันถึง 365 วัน ก่อนตาย และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด รูปที่ 10.9 ค่ารักษาเฉลี่ยต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาภายใน 90 วันก่อนตาย และ 91 วันถึง 365 วันก่อนตาย และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด รูปที่ 10.10 การแจกแจงของค่ารักษาพยาบาล 365 วันก่อนตายที่ต่ำกว่า 300,000 บาทภายใต้ระบบ
สวัสดิการถ้วนหน้าและสวัสดิการข้าราชการ และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัด รูปที่ 10.11 ค่ารักษาพยาบาล 365 วันก่อนวันตายแบ่งตาม 13 เขตบริการ สปสช. และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
รูปที่ 10.12 ค่ารักษาพยาบาล 365 วันก่อนตายแบ่งตามประเภทโรงพยาบาล
ตัดหัวข้อ 10.3 ผลการวิเคราะห์ ในส่วนของการอยู่รอดและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัดรูปที่ 10.13 โอกาสการอยู่รอดของผู้ป่วยในสูงอายุของสองสวัสดิการ และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

TDRI ได้เพิ่มเติมเนื้อหาในรายงานฉบับปรับปรุง โดย

เพิ่มเติมตารางที่ 9.1 ลักษณะของตัวอย่าง และเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เพิ่มเติมตารางที่ 9.2 ค่าเฉลี่ยของค่ารักษาพยาบาล 365 วันก่อนตายของกลุ่มตัวอย่าง (บาท) และเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เพิ่มเติมตารางที่ 9.3 ค่า RW ของกลุ่มตัวอย่าง และเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ส่วนแบบจำลองเศรษฐมิติที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายในการรักษายังคงเนื้อหาเดิมไว้และลดรายละเอียดในขั้นตอนการสร้างแบบจำลองออกไปบ้างเล็กน้อย

ที่สำคัญผลสรุปจากรายงานการวิจัยฉบับแรกของ TDRI สำหรับบทที่ 10 เดิมซึ่งมีผลสรุปว่า
--------------------
10.4 สรุป
การศึกษานี้พบว่ารูปแบบการเข้ารับการรักษาพยาบาลและค่าการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยสูงอายุใน
ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า และระบบสวัสดิการข้าราชการมีความแตกต่างกัน ผู้ป่วยในสูงอายุที่ตายภายใต้ระบบสวัสดิการข้าราชการมีอายุสูงกว่าสวัสดิการถ้วนหน้า หรือกล่าวได้ว่าประชาชนทั่วไปมีอายุสั้นกว่าข้าราชการและป่วยรุนแรงในช่วงอายุน้อยกว่า

--------------------
เปลี่ยนมาเป็น
--------------------
9.5 สรุป
การศึกษานี้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในระยะท้ายของชีวิตของสวัสดิการสองประเภทคือ
สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งสองสวัสดิการนี้ครอบคลุมผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ของประเทศ ความแตกต่างของค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลระหว่างสวัสดิการที่สูงมากอย่างมีนัยสำคัญแสดงให้เห็น ถึงความไม่เป็นธรรมของสวัสดิการรักษาพยาบาล การใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลของสวัสดิการถ้วนหน้าที่ โรงพยาบาลชุมชนค่อนข้างสูงกว่าการใช้จ่ายที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลเฉพาะทางอื่นๆ การที่สวัสดิการถ้วนหน้าจ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยในโดยใช้อัตราต่อหนึ่ง AdjRW เท่ากันให้แก่สถานพยาบาลที่มีศักยภาพและใช้ทรัพยากรในการรักษาที่ต่างกันมีผลต่อความไม่เป็นธรรม เนื่องจากโรงพยาบาลที่ใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่สูงกว่ากลับได้รับการจ่ายเงินที่ต่ำเกินไปซึ่งน่าจะเป็นผลเสียต่อผู้ใช้บริการ

ผลการศึกษายังพบอีกว่า ผู้สูงอายุที่ตายในช่วงปี 2550-54 และเคยป่วยและรับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหลักโรคใดโรคหนึ่งใน 5 โรค (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็ง) มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ผู้ตายที่ใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีค่าใช้จ่ายในการรักษาปีสุดท้ายก่อนตายสูงกว่าผู้ตายที่ใช้สวัสดิการถ้วนหน้าประมาณร้อยละ 38 และผู้ตายที่ใช้สวัสดิการข้าราชการมีอายุเฉลี่ยสูงกว่าผู้ตายที่ใช้สวัสดิการถ้วนหน้าประมาณ 3 ปี ทั้งนี้ การศึกษานี้ ไม่อาจสรุปสาเหตุที่ผู้ใช้สวัสดิการข้าราชการมีอายุยืนกว่า โดยปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่ออายุขัยเฉลี่ยน่าจะมาจากหลายปัจจัยเช่น การบริโภคอาหาร การมีอาชีพที่ปลอดภัย การดำรงชีพที่ช่วยให้ปลอดโรคเรื้อรัง พฤติกรรมการเสพสารเสพติด หรือการมีรายได้ที่สูงกว่า เป็นต้น อย่างไรก็ดี การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าในระยะสุดท้ายของชีวิตประชาชนไทยได้รับการอุดหนุนจากรัฐอย่างแตกต่างกันโดยดูจากการสนับสนุนงบประมาณในการรักษาพยาบาล

--------------------
จากรายงานฉบับปรับปรุงของ TDRI ซึ่งมีนางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์เป็นหัวหน้าโครงการได้แสดงให้เห็นว่า TDRI ไม่ต้องการคำนวณอัตราการตายซึ่งเป็นผลลัพธ์ทางสุขภาพ (Health Outcome) ที่สำคัญยิ่ง และ TDRI ส่งมอบงานดังกล่าวให้ทางสปสช ไม่ตรงกับชื่อของงานวิจัย “ผลลัพธ์และความเป็นธรรมทางสุขภาพ” โดยตัดเนื้อหา “ผลลัพธ์ทางสุขภาพ” ซึ่งก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการตายออกทั้งหมด ทั้งที่สามารถคำนวณได้โดยง่ายเพราะมีข้อมูลอยู่แล้ว ทั้งอัตราการตายดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตของประชาชนชาวไทย

อย่างไรก็ดีผู้เขียนสงสัยว่าเพราะเหตุใดในการตัดเรื่องการตายทิ้งนี้ งานวิจัยฉบับหลังยังคงการตายของทารกซึ่งพบว่าสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วงไว้ และอัตราการตายของมารดา ซึ่งวิธีการนับได้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง โปรดอ่านบทความเรื่อง “ยำใหญ่ TDRI ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตของมารดา : ความเสียหายจากการทำวิจัยแบบขาดความเข้าใจในนิยาม

จรรยาบรรณนักวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติว่า ในข้อที่ 1.2 นักวิจัยต้องซื่อตรงต่อการแสวงหาทุนวิจัย โดยนักวิจัยต้องเสนอข้อมูล และแนวคิดอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ดังนั้นการตัดทอนข้อมูลสำคัญอันส่งผลต่อชีวิตของประชาชนจึงไม่สมควรทำอย่างยิ่ง

นอกจากนี้จรรยาบรรณนักวิจัยในข้อที่ 3. นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัย ซึ่งนักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัยอย่างเพียงพอ และมีความรู้ความชำนาญ หรือมี ประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ทำวิจัย เพื่อนำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพ และเพื่อป้องกันปัญหา การวิเคราะห์ การตีความ หรือการสรุปที่ผิดพลาด อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่องานวิจัย จึงอยากจะขอถามทาง TDRI ว่า “ฤาชีวิตคนไทยจะไม่สำคัญ จึงต้องหั่นงานวิจัยของตัวเองทิ้ง แทนที่จะวิเคราะห์ให้รัดกุมและปรับปรุงให้ดีขึ้น?”
กำลังโหลดความคิดเห็น