xs
xsm
sm
md
lg

ดร.คณิต ณ นคร วิพากษ์ศาลยุติธรรม เพื่ออะไร?

เผยแพร่:   โดย: นายหิ่งห้อย

สืบเนื่องจากการที่ ดร.คณิต ณ นคร พูดถึงเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่สถาบันพระปกเกล้าจัดเสวนาขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 นั้น ดร.คณิตพยายามเน้นย้ำถึงการปฏิรูปศาล รวมทั้งศาลฎีกาเป็นพิเศษ แต่ไม่เน้นถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมฝ่ายอื่น โดยเฉพาะตำรวจและอัยการนั้น

ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะเหตุว่าร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า กฎหมายชะลอการฟ้องได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเร็ว ๆ นี้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจตำรวจและอัยการที่จะใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี ก็ได้ และ ดร.คณิตก็สนับสนุนให้มีกฎหมายชะลอการฟ้องตลอดมา แต่ถูกฝ่ายศาลยุติธรรมคัดค้านว่า การใช้ดุลพินิจยุติคดีอาญาของอัยการขาดการถ่วงดุลจากฝ่ายตุลาการ และเป็นการใช้ดุลพินิจยุติคดีอาญาที่มีโทษจำคุกสูงมากถึง 5 ปี ก็ยังทำได้ ซึ่งการใช้อำนาจสั่งให้ยุติคดีอาญาดังกล่าวมีผลเท่ากับการที่ศาลพิพากษายกฟ้องหรือรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยในคดีอาญา และเท่ากับเป็นการใช้อำนาจตุลาการกลายๆ แต่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยขาดการตรวจสอบจากศาลหรือคนกลางที่สังคมยอมรับ ย่อมจะเกิดความไม่โปร่งใสได้ง่าย

และแม้ปัจจุบันอัยการไม่มีอำนาจสั่งชะลอการฟ้องก็ตาม แต่หากอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เกิดประโยชน์แก่สังคมหรือสาธารณชน อัยการก็ใช้ดุลพินิจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีนั้นได้อยู่แล้ว

ผู้เขียนเห็นว่า อำนาจหน้าที่ของอัยการที่มีอยู่ในขณะนี้ถือว่ามากแล้ว แต่ ดร.คณิตอาจเห็นว่ายังไม่มากเพียงพอ จึงต้องการให้มีการออกกฎหมายรองรับการเพิ่มอำนาจให้อัยการในเรื่องการสั่งชะลอการฟ้องผู้ต้องหาที่กระทำความผิดในคดีอาญา โดยอ้างว่าเพื่อให้ผู้ต้องหาคดีอาญาที่ไม่ควรถูกฟ้องเป็นจำเลยมีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีก็เป็นได้

นอกจากนี้ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษหรือยกฟ้องจำเลยแล้ว อัยการก็ยังมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการยื่นอุทธรณ์ ฎีกา หรือไม่อุทธรณ์หรือไม่ฎีกา เพื่อให้ผลคดียุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ก็ได้ แต่การใช้ดุลพินิจของฝ่ายอัยการที่ผ่านมา ยังมีปัญหาถูกตั้งข้อสงสัยจากสังคมในคดีสำคัญๆ เช่น การใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องหมอวิสุทธิ์ ผู้ต้องหาในคดีฆ่าภริยา จนทำให้ญาติผู้ตายต้องยื่นฟ้องคดีเอง และในที่สุดศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษประหารชีวิตหมอวิสุทธิ์ และการที่อัยการใช้ดุลพินิจไม่อุทธรณ์คดีที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยซึ่งเป็นบุตรชายนักการเมืองในคดีฆ่าดาบตำรวจยิ้ม การที่อัยการใช้ดุลพินิจถอนฟ้องคดียักยอกทรัพย์วัดธรรมกายที่อัยการยื่นฟ้องพระธรรมชโย หรือการที่อัยการใช้ดุลพินิจไม่ยื่นฎีกาคดีที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคุณหญิงอ้อกับพวกเป็นจำเลยคดีอาญาข้อหาโกงภาษี ทั้งๆที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ และประธานศาลอุทธรณ์ก็มีความเห็นแย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นต้น

อนึ่ง ดร.คณิตยังกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไทยไม่เป็นโล้เป็นพาย และพยายามเน้นย้ำถึงเรื่องการปฏิรูปศาล และศาลฎีกาซึ่งเท่ากับเป็นการตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของศาลยุติธรรม ทั้งๆที่ ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมยังคงสามารถยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่เป็นเสาหลักให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้ แม้ในยามเกิดวิกฤติสำคัญและเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นในบ้านเมืองก็ตาม จึงอยากถามกลับไปว่า ขณะที่ดร.คณิต ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดนั้น ได้มีการปฏิรูปองค์กรที่อยู่ภายใต้การดูแลของตนเองจนสัมฤทธิผลมีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ถึงกับได้รับการยอมรับจากสังคมหรือคนในองค์กรที่ตนรับผิดชอบอย่างไรบ้างหรือไม่

ดร.คณิต สมควรเน้นย้ำให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมส่วนอื่นที่ยังมีปัญหามากกว่าที่จะเน้นย้ำถึงการปฏิรูปศาลยุติธรรม เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศาลยุติธรรมก็ได้ปฏิรูปองค์กรของตนเองไม่เคยหยุดนิ่งเพื่อรับใช้สังคมอยู่แล้ว เพียงแต่อาจขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีให้แก่ตัวเอง ซึ่งไม่ใช่งานถนัดของศาลยุติธรรมเท่านั้น

โดย... นายหิ่งห้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น