xs
xsm
sm
md
lg

False Alarm@SCB ขอครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ภาพจาก @amarin_bkk (แฟ้มภาพ)
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/


False alarm หรือการเตือนผิด เป็นความผิดพลาดสำคัญในทฤษฎีการจับสัญญาณ (Signal Detection Theory) ถือว่าเป็นการจำแนกที่ผิดอย่างหนึ่ง

ทุกครั้งที่มีการจับสัญญาณหรือการจำแนกใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น การจับสัญญาณว่ามีขโมยขึ้นบ้านหรือไม่ การจับสัญญาณควันเพื่อป้องกันอัคคีภัย การจับสัญญาณเครื่องบินบนจอเรดาร์ของเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Controller: ATC) การสร้างแบบจำลองจำแนกการมีชีวิตรอดหรือตายจากโรคหัวใจของแพทย์ การสร้างแบบจำลองทำนายการฟอกเงินของ ปปง. การสร้างแบบจำลองทำนายการทุจริตของบัตรเครดิต ก็อาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ต้นทุนของความผิดพลาดแต่ละอย่างแต่ละกรณีนั้นอาจจะไม่เท่ากัน ในบางกรณีนั้นหมายถึงชีวิต

เมื่อเราจับสัญญาณหรือสร้างแบบจำลองจำแนก (Classification model) เราต้องสรุปผลว่าแบบจำลองจำแนกประเภทหรือเครื่องมือจับสัญญาณของเรามีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด เราสามารถสรุปความแม่นยำของแบบจำลองจำแนกประเภทหรือเครื่องมือจับสัญญาณลงในในตารางขนาด 2x2 หรือที่เรารู้กันดีในนาม Confusion matrix เราใช้กันเป็นประจำดังนี้

กลไกการทำงานของเครื่องจับสัญญาณควัน (Smoke detector) ที่ห้องเอกสารของธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่แยกรัชโยธิน ใช้การจับสัญญาณควัน หลังจากนั้นจะรมแก๊สดับไฟที่เรียกว่า Pyrogen ซึ่งจะทำให้ห้องนั้นขาดออกซิเจนและไฟดับลง ไม่ได้หมายจะดับชีวิตใครทั้งสิ้น จากรูปข้างบนมีกรณีได้ 4 กรณีคือ

กรณี 1 Smoke detector บอกว่ามีไฟไหม้ และเกิดไฟไหม้จริง
อันนี้ถือว่าแม่น เรียกว่าจำแนกได้ถูกหรือ Hit

กรณี 2 Smoke detector บอกว่าไม่มีไฟไหม้ และของจริงก็ไม่มีไฟไหม้
อันนี้ถือว่าปฏิเสธอย่างถูกต้องหรือ Correct Rejection

กรณี 3 คือ Smoke detector บอกว่าไม่มีไฟไหม้ แต่มีไฟไหม้เกิดขึ้นจริง
ทำให้ไม่มีการฉีด Pyrogen และไฟลุกลามไหม้เอกสารของ SCB เสียหาย อันนี้เรียกว่า Miss หรือ พลาดในการจับสัญญาณไป ซึ่งก็เกิดความเสียหายร้ายแรงได้เช่นกัน อาจจะมีคนตายหรือเอกสารสำคัญลุกไหม้เป็นเถ้าถ่านไปทั้งหมด

ส่วนกรณีที่ 4 คือ Smoke detector บอกว่ามีไฟไหม้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีไฟไหม้
อันนี้เรียกว่าเกิดสัญญาณเตือนพลาด (False Alarm) การเกิด False Alarm ที่ SCB ในครั้งนี้ได้ข่าวว่าเกิดจาก smoke detector นั้นอ่อนไหว Sensitive มากเกินไป มีฝุ่นจากการทำงานหรือเจาะกำแพงนิดหน่อยก็ปล่อย Pyrogen ออกมาดับไฟ ทำให้คนที่เข้าไปทำงานในนั้นถูกรมแก๊สตาย ขาดออกซิเจน เป็นโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า

เครื่องมือจับสัญญาณทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกันขโมย การป้องกัน fraud ของบัตรเครดิต การป้องกันการฟอกเงินของ ปปง ต้องมีการ validate เครื่องมือว่าเครื่องมือเหล่านั้นมีความแม่นยำมากน้อยแค่ไหน ในบางกรณี Miss อาจจะอันตรายมากกว่าเช่น Air Traffic Controller ไม่เห็นสัญญาณว่าเครื่องบินลำหนึ่งเข้ามาในสนามบินหรือกลางท้องฟ้าแล้วเครื่องบินชนกัน ส่วนในบางกรณี False Alarm ก็อาจจะอันตรายได้ไม่แพ้กันเช่นกรณี Smoke detector ของ SCB นี้

ทางหนึ่งคือผู้พัฒนาเครื่องมือจับสัญญาณและ classification model ต่างๆ ควรทำคือการพัฒนาให้เครื่องมือหรือแบบจำลองจำแนก มีความแม่นยำสูง มี False Alarm หรือ Miss ให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตามไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะเมื่อใดก็ตามตั้งเกณฑ์ไว้ต่ำ False Alarm จะเกิดได้ง่าย เช่นตั้งค่า Smoke detector ให้ Sensitive มากๆ ก็จะเตือนไว และมีแนวโน้มจะเกิด False Alarm ได้โดยง่าย เหมือนผู้หญิงที่ตั้งมาตรฐานในการเลือกคู่ต่ำ ก็มีโอกาสจะเกิดการเลือกคู่ผิดคิดจนเรือนทลายได้ ในขณะเดืยวกันถ้าตั้งมาตรฐานไว้สูงเกิดไป ก็จะ Miss คือพลาดการจับสัญญาณไป เช่น ตั้งค่า Smoke detector ไว้สูงมาก ไฟไหม้แล้วยังไม่เตือน หรือเหมือนผู้หญิงตั้งมาตรฐานสูงเกินไปก็พลาดคนดีๆ ที่เข้ามาในชีวิตไปอย่างไม่ควรพลาด

การพัฒนาเครื่องมือให้มีความแม่นยำสูง มี False Alarm และ Miss ต่ำๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องมีการ calibration หรือการตรวจสอบเทียบเครื่องมืออยู่เป็นประจำ มีการหาจุดตัดที่เหมาะสมที่สุด (Optimal Cut-off)จะได้ไม่เกิดโศกนาฎกรรมนี้

สำหรับกรณีของ SCB นั้น False Alarm ก็ทำให้เกิดโศกนาฏกรรม และ Miss ก็อาจจะเกิดโศกนาฏกรรมเช่น ดับไฟช้าเกินไปจนมีคนถูกไฟคลอกตายหรือสำลักควันตายไปก่อนจากไฟไหม้ก็ได้ ดังนั้น Smoke detector ในกรณีของ SCB ต้องมีความแม่นยำสูงมาก

สิ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งควรต้องระวังคือการใส่เครื่องป้องกัน ในกรณีนี้หากรู้ว่าห้องเก็บเอกสารดังกล่าวมีระบบ Pyrogen และมี Smoke detector คนที่เข้าไปทำงานในห้องนั้นควรใส่หน้ากากป้องกัน และควรมีคนหนึ่งคอยดูแลระบบในการปล่อย Pyrogen ให้ตัดได้ทันทีหากเกิด False alarm เรียกว่าไม่มีการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ที่ดีเพียงพอ อันที่จริงห้องที่อันตรายเช่นนี้ควรมีคนเฝ้าประตูตลอดเวลาที่มีการเข้าไปทำงานด้วยซ้ำไป และต้องมีป้ายเตือนหน้าห้อง คนที่จะเข้าไปต้องสวมหน้ากากป้องกัน

ก็หวังว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย และไม่มีเหตุการณ์วัวหายแล้วล้อมคอกอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น