xs
xsm
sm
md
lg

อธิปไตยที่ขาดธรรมกำกับ : เครื่องมือแสวงหาประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า อธิปไตยเป็นภาษาสันสกฤตหรืออธิปัตย์ในภาษาบาลี หมายถึงความเป็นใหญ่ และความเป็นใหญ่นี้เองที่มนุษย์แสวงหาเพื่อเป็นเครื่องมือในการประกอบกิจการงาน ทั้งในส่วนที่เป็นปัจเจก และเป็นส่วนของสังคมโดยรวม ดังนั้น อธิปไตยจึงเป็นเหตุนานัปการเพื่อการแสวงหาประโยชน์ ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประการคือ

1. อัตตาธิปไตย คือการยึดถือความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ ไม่ฟังคนอื่น หรือแม้จะฟังแต่ก็จะรับในสิ่งที่ตนเองเห็นด้วย หรือสอดคล้องกับความคิดเห็นของตนเอง เปรียบได้กับเผด็จการ

2. โลกาธิปไตย คือการยึดถือความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ หรือการยึดถือกระแสสังคมเป็นใหญ่ เป็นการถือจำนวนเป็นเกณฑ์ไม่คำนึงว่าจะผิดหรือถูก เปรียบได้กับประชาธิปไตย

3. ธัมมาธิปไตย คือการยึดถือหลักการหรือความถูกต้องเป็นใหญ่

อธิปไตยทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้น ในรูปแบบของการปกครองจะมีเพียงประการที่หนึ่งและสอง ส่วนประการที่ 3 เป็นนามธรรม ไม่มีรูปแบบที่สัมผัสได้ แต่ได้สอดแทรกหรือผสมอยู่ในสองประการแรก ส่วนว่าจะมีสัดส่วนของการผสมอยู่มากน้อยเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่ผู้ใช้อธิปไตยเป็นเกณฑ์

ด้วยเหตุนี้ การที่จะบอกว่าการปกครองในระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตย ดีหรือไม่ดีมากน้อยกว่ากันนั้น จะพิจารณาจากการที่ธัมมาธิปไตยซึ่งเป็นสัดส่วนผสมอยู่นั่นเอง กล่าวคือ ถ้าผู้ปกครองในระบอบเผด็จการ แต่ใช้คุณธรรมกำกับทุกขั้นตอนของการใช้อำนาจ การปกครองในลักษณะนี้ก็เป็นอันรับได้ และประชาชนผู้ถูกปกครองก็ศรัทธา และจงรักภักดีต่อผู้ปกครองนั้น

ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ปกครองในระบอบเผด็จการใช้อำนาจโดยปราศจากคุณธรรมกำกับ เพื่อมุ่งแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ประชาชนก็จะต่อต้าน และล้มล้างระบอบการปกครองในที่สุด

ส่วนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งมีสิทธิเลือกตั้ง ไม่รู้ไม่เข้าใจในระบอบการปกครองในระบอบนี้ดีพอ หรือมีความรู้มีความเข้าใจ แต่เห็นแก่เงินทองหรือผลประโยชน์อื่นใด ที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งหยิบยื่นให้ โอกาสที่คนไม่ดีจะได้รับเลือกตั้งมีสูง และหลังจากได้รับเลือกตั้งแล้ว คนเหล่านี้ก็จะแสวงหาตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการแสวงหาประโยชน์เพื่อถอนทุนที่จ่ายไป

ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเข้าสู่อำนาจทางการเมืองด้วยการลงทุนด้วยเงินเป็นที่แน่นอนว่า เกือบจะทุกคนจะต้องใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ เมื่อโอกาสเอื้ออำนวยให้ทำได้ มีตัวอย่างให้เห็นครั้งที่รัฐบาลซึ่งกำกับโดยนายทุนของพรรคการเมืองในอดีตที่ผ่านมา

ด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงสรุปได้ว่าทั้งในระบอบการปกครองรูปแบบเผด็จการ และรูปแบบประชาธิปไตย มีโอกาสที่จะดีหรือเลวพอๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการมีคุณธรรม และไม่มีคุณธรรมของตัวบุคคล ผู้บริหารระบบเป็นหลัก มิได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครองเพียงอย่างเดียวแต่ประการใด

วันนี้ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบเผด็จการ โดยมีรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ จึงถูกประเทศตะวันตก และคนไทยซึ่งนิยมโลกตะวันตกเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว และที่ยิ่งกว่านี้ นักการเมืองผู้สูญเสียอำนาจจากการปฏิบัติการของ คสช.และกำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตได้ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุว่ารัฐบาลในปัจจุบันแก้ปัญหาของประเทศไม่ได้ แต่คนกลุ่มนี้คงจะลืมไปว่า ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาหนี้สาธารณะ และปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเกิดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ก่อไว้

ขณะเดียวกัน ผู้เรียกร้องก็ดีได้บอกว่า ถ้ามีการเลือกตั้งและตนเองได้เป็นรัฐบาลแล้วจะแก้ไขอย่างไร และแก้ได้เมื่อไหร่ เมื่อเป็นเช่นนี้ข้อเรียกร้องของคนกลุ่มนี้จึงไม่มีค่าแก่การรับฟัง ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. ถ้าย้อนไปดูความเป็นมาระบอบการปกครองของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงปี 2544 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นห้วงแห่งเวลาที่การเมืองไทยมีความวุ่นวาย และยุ่งเหยิงเป็นที่สุด ก็จะพบว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศยาวนานกว่ารัฐบาลในระบอบเผด็จการ ซึ่งมีเพียง 2 รัฐและทั้งสองรัฐบาลได้เข้ามาแก้ปัญหาที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้ก่อไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความขัดแย้ง และแตกแยกอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งทางการเมือง และปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

ดังนั้น การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแก้ปัญหาประเทศ จึงขัดแย้งต่อความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการเลือกตั้งในภาวะที่ประชาชนยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดีขึ้นกว่เดิม และโอกาสที่นักการเมืองหน้าเดิมจะได้รับเลือกเข้ามาอีกครั้ง ดังเช่นการเลือกตั้งในปี 2551 และในปี 2554

2. ผู้ออกมาเรียกร้องส่วนหนึ่งก็คือ ผู้ที่หนีคดี และผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดี

ด้วยเหตุนี้ ถ้ามองให้ลึกลงไปอาจอนุมานได้ว่าน่าจะเกิดจากความหวังที่ว่า ถ้ามีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ โอกาสที่ตนเองจะได้รับเลือกตั้ง และได้เป็นรัฐบาลแล้วใช้ตำแหน่งหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหารแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยผ่านกลไกข้าราชการประจำ เพื่อประโยชน์แก่รูปคดีของตนเอง และพวกพ้องย่อมมีอยู่

แต่ไม่ว่าผู้เรียกร้องจะอ้างเหตุใด และทำเพื่อใคร สักวันหนึ่งรัฐบาลเผด็จการจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง และจากไปจากตำแหน่งแน่นอน

ดังนั้น ทางที่ดีซึ่งพึงมีพึงเป็นก็คือ รีบแก้ปัญหาซึ่งทาง คสช.ถือเป็นเหตุอ้างในการยึดอำนาจให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาทุจริตและการจาบจ้วงสถาบัน และหามาตรการป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีกหลังจากการเลือกตั้งแล้ว ดังที่เคยเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งในปี 2551 และปี 2554

ถ้ารัฐบาลชุดนี้ทำได้เช่นนี้ ก็ถือได้ว่าคุ้มค่าแก่การเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ และยอมเป็นเหยื่อแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น