xs
xsm
sm
md
lg

น้ำในเขื่อนแห้งทั่วไทย ส่อฉุดเศรษฐกิจร่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แล้งลามทุกหัวระแหง เขื่อนใหญ่ทั่วไทยเหลือน้ำใช้ได้แค่ 18% แม้แต่เขื่อนเจ้าพระยา น้ำยังลดจนได้โอกาสซ่อมเขื่อนได้เป็นครั้งแรกรอบกว่าครึ่งศตวรรษ ด้านวานิชธนกิจระดับโลก ประเมินวิกฤตนี้ทำ GDP ไทยร่วงชัวร์

จากอิทธิพลเอลนินโญ และภาวะโลกร้อน กำลังทำให้ไทยเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งใหญ่อีกครั้ง ล่าสุดศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานระดับน้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ จนถึง 11 มี.ค.ว่า มีน้ำกักเก็บรวม 35,847 ล้านลูกบาศก์เมตร( ล้าน ลบ.ม. ) หรือ 51%ของความจุที่มีอยู่ 70,370 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากปี 58 ที่มีน้ำกักเก็บ 40,540 ล้าน ลบ.ม. แต่มีน้ำที่ใช้การได้เพียง 12,344 ล้าน ลบ.ม. หรือ 18% เท่านั้น

7 เขื่อนใหญ่ในภาคเหนือ คือ เขื่อนภูมิพล , เขื่อนสิริกิติ์ , เขื่อนแม่งัด , แม่กวง , กิ่วลม , กิ่วคอหมา และเขื่อนแควน้อยฯ มีความจุรวม 24,715 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีน้ำกักเก็บ 9,232 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37% แต่เป็นน้ำที่ใช้การได้เพียง 2,493 ล้าน ลบ.ม. หรือ 10%ของความจุเท่านั้น

ภาคอีสาน 12 เขื่อนใหญ่ เช่น เขื่อนลำปาว , ลำตะคอง , ลำพระเพลิง , เขื่อนอุบลรัตน์ , เขื่อนจุฬาภรณ์ , เขื่อนสิรินธร ฯลฯ รวมความจุ 8,323 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำกักเก็บเพียง 2,954 ล้าน ลบ.ม.หรือ 35%ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้เพียง 1,304 ล้าน ลบ.ม. หรือ 16%ของความจุ

ภาคกลาง 3 เขื่อนใหญ่ ทั้งเขื่อนป่าสักฯ , เขื่อนกระเสียว และเขื่อนทับเสลา รวมความจุ 1,360 ล้าน ลบ.ม. วันนี้มีน้ำเพียง 468 ล้าน ลบ.ม. หรือ 34%ของความจุ และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 408 ล้าน ลบ.ม. หรือ 30%ของความจุ

ภาคตะวันตก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ รวมความจุ 26,605 ล้าน ลบ.ม. วันนี้มีน้ำกักเก็บ 16,905 ล้าน ลบ.ม. หรือ 64%ของความจุ แต่เป็นน้ำใช้การได้ 13%ของความจุ

ภาคตะวันออก 5 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนบางพระ , หนองปลาไหล , คลองสียัด , เขื่อนขุนด่านปราการชล , เขื่อนประแสร์ รวมความจุ 1,173 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีน้ำกักเก็บ 583 ล้าน ลบ.ม. หรือ 50%ของความจุ มีน้ำใช้การได้ 503 ล้าน ลบ.ม.หรือ 43%ของความจุ

ภาคใต้ 4 เขื่อนใหญ่ ทั้งเขื่อนแก่งกระจาน , ปราณบุรี , รัชชประภา และเขื่อนบางลาง รวมความจุ 8,194 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีน้ำกักเก็บ 5,705 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 70%ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้ 4,008 ล้าน ลบ.ม. หรือ 49%ของความจุ

ขณะที่ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เมื่อ 10 มี.ค.ยกตัวขึ้นอยู่ที่ 14.55 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ขณะที่น้ำท้ายเขื่อนทรงตัวอยู่ที่ 5.96 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งแม้ว่าจะพ้นจากจุดวิกฤติ ที่ 14.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มาหลายวันแล้ว แต่ก็อยู่ในภาวะภัยแล้ง

จนทำให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนเจ้าพระยา ใช้โอกาสที่น้ำท้ายเขื่อนเหลือน้อย ซ่อมแซมบานประตูท้ายเขื่อน และเสริมคอนกรีตใต้เขื่อนเป็นครั้งแรกในรอบ 59 ปี

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีอ่างเก็บน้ำใหญ่-กลาง 481 แห่งทั่วประเทศ และแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน อีก 352,528 บ่อ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 4,789 แห่ง ซึ่งทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินว่า จะช่วยให้ไทย ฝ่าวิกฤตภัยแล้ง 59 นี้ไปได้ แต่เป็นการฝ่าวิกฤตน้ำกินน้ำใช้ในเขตเมือง ภายใต้เงื่อนไขใช้น้ำอย่างประหยัดเป็นด้านหลักเท่านั้น

ครม.ชู 8 มาตรการสู้แล้ง

ขณะที่ ครม. ได้อนุมัติแผนการดำเนินงาน 8 มาตรการ ภายใต้ “โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/2559” ดังนี้

1.ส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการสร้างรายได้จากการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปศุสัตว์ ประมง และปรับปรุงดิน วงเงิน 1,009.07 ล้านบาท ซึ่ง ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 24 พ.ย.58 วงเงินเบื้องต้น 971.98 ล้านบาท มีเป้าหมายดำเนินการ 386,809 ราย

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าครองชีพภายใต้โครงการ “ธงฟ้า ช่วยภัยแล้ง” ซึ่งมีผลการจัดจำหน่ายสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.58 จำนวน 199 ครั้ง ใน 20 จังหวัด รวม 21.51 ล้านบาท และลดภาระค่าครองชีพ 14.34 ล้านบาท และมีประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 71,684 คน

2.ชะลอหรือขยายเวลาชำระหนี้ ได้แก่ การลดค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าซื้อที่ดิน และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 22,613 ราย วงเงิน 60.23 ล้านบาท รวมทั้งให้สินเชื่อเกษตรกร 61,369 ราย วงเงิน 1,213.02 ล้านบาท การให้สินเชื่อกับประชาชน 10,078 ราย วงเงิน 818.38 ล้านบาท ลดภาระดอกเบี้ยให้เกษตรกรและประชาชน 630 ราย วงเงิน 109.25 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน

3.การจ้างงานทดแทนการทำเกษตร โดยมีการจ้างแรงงานแล้ว 237,855 ราย แบ่งเป็นจ้างแรงงานชลประทาน 68,025 คน ,แรงงาน เร่งด่วน 7,869 คน , จ้างงานจากเงินทดรองราชการของจังหวัด 161,961 คน นอกจากนี้ มติ ครม. 8 ธ.ค.58 ได้อนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 ซึ่งอยู่ระหว่างคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ

4.การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน ตามมติ ครม.8 ธ.ค.58 และ 15 ธ.ค.58 อนุมัติกรอบวงเงินโครงการฯระยะที่ 1 กรณีการปลูกพืชใช้น้ำน้อย วงเงิน 167.56 ล้านบาท ซึ่งทางจังหวัดได้โอนเงินให้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) แล้ว 155 โครงการ วงเงิน 151.94 ล้านบาท

ขณะที่คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ได้เห็นชอบโครงการตามแผนพัฒนาชุมชนฯ ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1 เมื่อ 12 ม.ค.59 ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีจำนวน 3,135 โครงการ วงเงิน 1,614.0439 ล้านบาท คาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 740,184 ราย

5.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกข้าว โดยวิธีเปียกสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำ ได้จัดทำแปลงสาธิตแล้วจำนวน 37 แปลง ในพื้นที่ 9 ศูนย์ทดลอง คิดเป็น 37% ของแปลงสาธิตเป้าหมายทั้งหมด

6.การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ การปฏิบัติการฝนหลวง จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วจังหวัดนครสวรรค์ มีการขึ้นปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.58 จำนวน 66 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกรวม 11 จังหวัด การขุดเจาะบ่อบาดาล ดำเนินการเสร็จแล้ว 1,257 บ่อ และการทำแก้มลิง 30 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร หนองคาย บึงกาฬ และเลย
เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุน้ำเก็บกักได้ 12.77 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 14,680 ไร่ เกษตรกร 6,030 ครัวเรือน

7.การเสริมสร้างสุขภาพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยกระทรวงสาธารณสุข ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และเจ้าหน้าที่สายตรวจลงพื้นที่ 30,488 ครั้ง

และ 8.การสนับสนุนอื่นๆ เช่น ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อแก่วิสาหกิจชุมชน 11 กลุ่ม วงเงิน 9.30 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 6 เดือน จำนวน 45 สหกรณ์ วงเงิน 83.82 ล้านบาท

แล้งนี้ส่อกระทบถึงGDP

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้พื้นที่ชนบท-ภาคการเกษตร ยังคงเจอวิกฤตเต็มๆ ล่าสุด Goldman Sachs วานิชธนกิจระดับโลก ก็ประเมินว่า ภัยแล้งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง 0.5% เพราะผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวนาปี จะลดลงไม่น้อยกว่า 20% จากปีก่อน ทำให้รายได้และการใช้จ่ายของเกษตรกรลดลง จนกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

และมีรายงานว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแถลงปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) รอบใหม่ ในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งมีแนวโน้มจะต่ำกว่าประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 3.5% โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยความผันผวนจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้ากว่าเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น