xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กป้อม"ยันทหารไม่ได้คุกคาม"ปู" "บิ๊กตู่"ไม่นั่งปธ.ยุทธศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงแนวคิดการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้ประชาชนไปลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญว่า คิดว่าคงไม่ต้องออกพ.ร.ก. น่าจะใช้วิธีการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ผ่านสื่อ และหน่วยงานต่างๆ ที่จะต้องช่วยกัน ขณะนี้การเชิญชวนประชาชนให้ออกมาลงประชามติ เราก็ดำเนินการโดยตลอด ซึ่งมีนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ดำเนินการอยู่ อีกทั้งหน่วยทหารทั่วประเทศ และกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ก็ได้ช่วยกันรณรงค์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงมีการลงประชามติ จะไม่มีการออกกฎหมายพิเศษ เพื่อมาดูแลความเรียบร้อย เพียงตนอยากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์มากๆ ไม่อยากให้นอนหลับทับสิทธิ์
ส่วนข้อเสนอแนะของครม. ทั้ง 16 ข้อนั้น ก็แล้วแต่ กรธ. ที่จะต้องรับไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน เรามีเพียงหน้าที่เสนอแนะ แล้วทางกรธ. ต้องดูข้อเสนอของทุกๆฝ่าย ไม่ใช่ข้อเสนอของครม.เท่านั้น
เมื่อถามว่า เป้าหมายข้อที่ 16 คือ อะไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ตามเจตนารมณ์ คสช. ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เป็นการวางกรอบกว้างๆ ไม่ได้เป็นการกำหนดเจาะจง เพียงแต่การดำเนินการดังกล่าว ก็อยากให้มีหนทางการทำงาน ซึ่งนายกฯได้พยายามทำเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน ที่ต่างประเทศก็มีเรื่องแบบนี้ ที่ทำให้ประเทศของเขามีความเรียบร้อย
เมื่อถามว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. จะเป็นประธานยุทธศาสตร์ชาติ หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ไม่มี อย่ามาถามแบบนี้ นายกฯจะเสียหมด แล้วจะมีคนออกมาต่อต้าน ซึ่งขอให้เป็นหน้าที่ของ ส.ว.ดีกว่า นายกฯจะไม่ยุ่ง เพราะเราตั้งใจที่จะทำให้ดี ผมขอให้ร่วมมือกันในเวลาปีกว่าที่เหลือ เพื่อให้ออกมาชัดเจน ระหว่างฝ่ายที่เลือกตั้งกับฝ่ายที่แต่งตั้ง ส่วนจะเกิดวิกฤตในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือไม่นั้น ผมคิดว่าถ้ากังวล เราคงไม่ทำแบบนี้ ซึ่งผมไม่กังวลว่าจะเกิดวิกฤตในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในเมื่อทำแล้วก็ต้องทำให้ดี ที่ผ่านมาเราทำมา 2 ปีแล้ว ก็ต้องช่วยกัน ผม หวังให้สื่อช่วยสร้างความรับรู้ให้ประชาชน เราไม่อยากไปตอบโต้ใคร อยากให้เห็นว่ารัฐบาล และคสช. รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกัน ตลอดจนอดีตนักการเมืองก็ต้องช่วยกัน เราต้องค่อยๆเปลี่ยน และค่อยๆ เดิน จะไปหักมุมทีเดียวคงไม่ได้"
พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงกรณี นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯไม่พอใจที่มีทหารติดตามไปทุกที่ ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลว่า คงไม่ใช่ เพราะเจตนาของคสช. ที่ส่งทหารไปเพื่อดูแลความคุ้มครองให้เกิดความสงบเรียบร้อย หากมีอะไรเกิดขึ้น คสช.ที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ ก็ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นขอย้ำว่าไม่ใช่เป็นการไปละเมิดสิทธิ์ ส่วนที่ทหารไปถ่ายรูปน.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น อาจเห็นว่า ท่านสวย ก็ไม่เป็นไร อย่าไปคิดมาก หรือวิตกกังวล ขอให้ใจเย็นๆ คสช.ไม่ได้ไปทำอะไร เราดูแลรักษาความปลอดภัย แม้แต่สื่อ ยังเข้าใจ คงจะมีแต่นายวรชัย ที่ไม่รู้ แต่ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ชอบ ต่อไปตนจะเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช้ทหารแต่งเครื่องแบบ เพราะท่านไม่ชอบ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กระแสข่าวการกำหนดบทลงโทษสูงถึง 10 ปี สำหรับผู้ที่บิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …ว่า ตนเห็นร่างดังกล่าวแบบที่ไม่เป็นทางการ และได้ส่งให้ กกต. ไปร่างเพิ่มเติม เพราะตอนที่ กกต.ร่างมาครั้งแรก เขาเข้าใจคลาดเคลื่อน ว่าจะทำเป็นคำสั่งหัวหน้าคสช. และมีประกาศตามออกมาอีก ว่าอะไรทำได้ หรือไม่ได้ จึงทำมาเพียง 16 มาตราเท่านั้น แต่ตนระบุว่าไม่ได้ ถ้าออกเป็นคำสั่ง จะเขียนยืดยาวไม่ได้ เนื่องจากเวลาใช้ต้องมีการตีความ จึงเห็นว่าควรออกเป็น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เมื่อเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะได้ถามเจตนารมณ์ของผู้ร่างได้ เพราะขณะนี้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่จะมีการแก้ไขกำหนดให้เนื้อหาจะออกเป็น พ.ร.บ.ทั้งหมด ไม่มีการออกประกาศกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติม ดังนั้น 16 มาตรา อาจไม่พอ จึงให้กกต. ไปเขียนใหม่ โดยมีความละเอียดชัดเจนว่าอะไรทำได้ หรือไม่ได้ ตนได้เร่ง กกต.ไปแล้วให้เร่งเสนอมา แนวโน้ม 99% จะออกเป็น พ.ร.บ. อาจจะมีประมาณ 20–30 มาตรา นอกจากนี้ ตนได้ประสานไปยังประธาน สนช. แล้วว่า จะเร่งพิจารณาได้ภายในกี่วัน
"ผมได้บอกนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ว่า หากออกเป็น พ.ร.บ. รัฐบาลจะไม่หลับหูหลับตาส่งตามนั้น ต้องให้เวลาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการตรวจ ถ้าส่งสนช. อาจจะขัดกันไปกันมา ภาษาไม่สละสลวย ก็จะเสียเหลี่ยม เพราะส่งไปในนามรัฐบาล จึงต้องให้เวลาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาด้วย" นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เรียกประชุมร่วมครม. และคสช. เวลา 09.00 น.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และหลังการประชุมร่วมครม.และคสช. จะประชุมครม.ต่อเนื่องทันที เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 57 ว่าด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น