“ผู้บัญชาการทหารบก” ยันส่งนักศึกษาวิชาทหารลงพื้นที่แค่ให้ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญ ชวนชาวบ้านมาใช้สิทธิประชามติ ไม่ได้ชี้นำ ทำเป็นจิตอาสา-เพื่อชาติ ปัดให้ไปยืนหน้าคูหา แนะประชาชนถ้ารักประชาธิปไตยต้องมาโหวต พร้อมให้ กอ.รมน.ประสานท้องถิ่นทำความเข้าใจ รับมีกระแสต้าน ไม่เข้าใจทำไปทำไม อ่านแล้วหรือไม่ ไม่เห็นด้วยก็ควรแจง ยังไม่พบมีป่วนวันโหวต
วันนี้ (10 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรอง ผอ.รมน. แถลงภายหลังการประชุมสรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี 2558 และแถลงแผนงานปฏิบัติงาน ประจำปี 2559 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากชี้แจงในเรื่องการส่งนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ลงพื้นที่พบปะประชาชนและเยาวชนอธิบายเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งไม่ได้เป็นการให้นักศึกษาไปชี้นำ เพียงแต่ให้ทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการออกเสียงประชามติซึ่งเป็นรากฐานประชาธิปไตย จึงขอให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากๆ นักศึกษาลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่ามีหลักการและเหตุผลอย่างไรในการปฏิรูปประเทศ หากประชาชนหรือเยาวชนในพื้นที่มีข้อสงสัยหรือมีข้อเสนอแนะในร่างรัฐธรรมนูญสามารถเสนอความเห็นมายังนักศึกษาวิชาทหารได้ จากนั้นปัญหาและข้อสงสัยทุกข้อจะนำมาตอบทางรายการแกะกล่องรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ประชาชนติดตามเพราะเป็นการให้ความรู้ในรูปแบบง่ายๆ สำหรับนักศึกษาที่ลงพื้นที่ทั่วประเทศถือเป็นจิตอาสา ไม่หวังผลประโยชน์ แต่ทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ
“นักศึกษาลงพื้นที่มาร่วม 2 เดือนแล้ว ข้อกังวลเกี่ยวกับการลงประชามตินั้นมีกฎหมายอยู่ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ เรารู้ว่าทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ว่าให้ไปยืนหน้าคูหา เพราะทหารยังเข้าไม่ได้เลย เป็นกฎหมาย ต้องเข้าใจว่าประชาชนในพื้นที่ต้องทำมาหากิน ดังนั้นจึงเอานักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นลูกหลานไปทำความเข้าใจ ส่วนแนวทางการเชิญชวนประชาชนไปออกเสียงประชามติให้ได้มากที่สุดนั้น เราขอเชิญชวนคนคนออกมาใช้สิทธิ เพราะเราต้องการประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมอย่างแรกคือการลงประชามติ เพื่อให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียของร่างฯ หากออกมาน้อยก็ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ให้ออกมา หากรักประชาธิปไตยต้องออกมาใช้สิทธิ สิทธิ 1 เสียงมีความหมาย” พล.อ.ธีรชัยกล่าว
พล.อ.ธีรชัยกล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าว กอ.รมน.จะมีการประสานไปยังท้องถิ่น ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เพื่อทำความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญว่ามีความเกี่ยวข้อง มีประโยชน์ และผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร หากเนื้อหามีปัญหาก็จะเข้ากระบวนการแก้ไขปรับปรุง ส่วนกระแสต่อต้านในแต่ละพื้นที่ขณะนี้มีอยู่บ้าง แต่ไม่เข้าใจว่าจะต่อต้านไปทำไม ที่ต่อต้านนั้นได้ศึกษาเนื้อหาในร่างฯ แล้วหรือไม่ ทั้งนี้ หากไม่เห็นด้วยก็ควรออกมาชี้แจง ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วบอกว่าร่างฯ นี้ไม่ดี ไม่เป็นประชาธิปไตย ถามว่าไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไรก็ให้บอกมา เพื่อที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะได้ชี้แจง อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการต่อต้านรัฐธรรมนูญขณะนี้ไม่มีความจำเป็นต้องจับตาดูภูมิภาคใดเป็นพิเศษ และขณะนี้ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดความวุ่นวายในวันทำประชามติ ซึ่งจากการลงพื้นที่ยังไม่พบปัญหา แต่พบว่าประชาชนต่างให้การตอบรับ ทำความเข้าใจ และมีความตื่นตัวในร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติเป็นอย่างดี