โฆษก คสช.โต้ “จตุพร” ยันให้ รด.ทำความเข้าใจร่าง รธน. พร้อมให้ออกมาใช้สิทธิลงประชามติ ไม่ไดชี้นำ หรือบังคับ แต่เป็นการรณรงค์ตามระบอบประชาธิปไตยธรรมดา แนะประชาชนศึกษาร่าง รธน. อย่าไปเชื่อพวกชี้นำ บิดเบือน หวังคว่ำในขั้นประชามติ ย้ำ คสช.ไม่ได้มองคนมีความเห็นต่างเป็นภัยคุกคาม
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ระบุว่าที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) จะสนับสนุนให้นักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์เพื่อให้ประชาชนทำความเข้าใจและออกมาใช้สิทธิประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อาจทำไม่ได้เพราะเป็นการชี้นำนั้น ไม่อยากให้มองติดภาพของการเมืองอย่างเดียว เพราะเรื่องของการออกมาใช้สิทธิเป็นธรรมเนียมหลักประชาธิปไตย แต่ส่วนจะเลือกอะไร ก็คงเป็นเรื่องเอกสิทธิ์ของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว ฉะนั้นการร่วมรณรงค์จึงน่าเป็นเรื่องปกติตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ที่คนในสังคมทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ เพราะไม่ใช่การไปเพื่อชี้นำผลให้เลือกอย่างหนึ่งอย่างใด
“รัฐบาลและ คสช.ไม่ได้เร่งให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ หรือบังคับให้ใครประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ อย่างที่บางคนเข้าใจ”
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญหลายๆ คนมองว่าเป็นเหมือนเรื่องกฎหมายกึ่งวิชาการ ถ้าไม่ตั้งใจหรือมีสมาธิพอ อาจทำให้รับรู้ได้ไม่เต็มที่หรืออาจเข้าใจได้ไม่ครบถ้วน ขนาดบางคนได้ศึกษาบ้างแล้วแต่เห็นยังมีการเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ก็มี ทางผู้เกี่ยวข้องจึงอยากเน้นให้ทุกคนได้มีโอกาสศึกษาก่อน เพราะที่ผ่านมาเริ่มพบว่ามีบางคนบางกลุ่มมีความพยายามบิดเบือนในเนื้อหา หาจุดอ่อนมาติแบบหลวมๆ หวังสร้างปั่นกระแสในทางการเมือง
“เท่าที่ติดตามข้อมูลมา กลุ่มผู้เสนอความเห็นพบมีบางกลุ่มที่เจตนาไม่ชัด เหมือนตั้งธงจะคว่ำลูกเดียว กับ บางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเจตนาอยากปรับแก้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปจริงๆ”
โฆษก คสช.กล่าวว่า ที่มีการใช้คำว่าเป็นประชามติลวงโลก อาจเป็นหนึ่งในวาทะกรรมของกลุ่มที่มีตั้งธงไว้ในใจอยู่แล้ว เชื่อสังคมคงรู้เท่าทัน การเสนอความเห็น เพื่อก่อให้เกิดพัฒนาการ สามารถทำได้มีหลายความเห็นได้เจาะเป็นประเด็นๆ ไป ไม่ใช่เหมารวมมาลอยๆ โดยไม่มีรายละเอียดและคำอธิบายที่เป็นสากลเพียงพอ
“ขณะนี้เชื่อว่ามีหลายคนอาจยังไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด จึงอยากเชิญชวนให้ศึกษา โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อนจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือปลุกปั่นให้ใคร ยืนยันว่า คสช.ไม่ได้มองความเห็นต่างเป็นภัยคุกคาม เป็นเรื่องของเจตนาในการแสดงออก เพราะต้องไม่ทำให้สังคมสับสน เหมือนพยายามเอาเรื่องของรัฐธรรมนูญ มาผสมเคลื่อนไหวเพื่อมุมทางการเมืองด้วย