ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หายหน้าไปเกือบปี ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง ด้วยการเปิดบ้านพักในซอยปิ่นประภาคม ถนนติวานนท์ แถลงข่าวกรณีการทำจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไทยผู้รักชาติ แต่มีเนื้อหาเป็นการเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียสละอำนาจ ด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2559
เนื้อความในจดหมายดังกล่าว อ้างว่า นับแต่ คสช.อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาของชาติและความขัดแย้งของบ้านเมืองตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งสามารถระงับยับยั้งความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง แต่จากการบริหารงานมาครบ 2 ปี ปรากฏว่าแนวทางที่รัฐบาล คสช.กำลังดำเนินการกลับมีแนวโน้มนำไปสู่ความขัดแย้งในบ้านเมืองยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนเดือดร้อน เศรษฐกิจเข้าสู่ยุคเงินฝืด ประชาชนขาดกำลังซื้อ การส่งออกลดลงอย่างรุนแรง
ขณะที่การร่างรัฐธรรมนูญที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ได้รับการต่อต้านจากหลายภาคส่วนมากยิ่งขึ้น โครงสร้างและเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง มิหนำซ้ำยังถอยหลังเข้าคลองหลายสิบปี มีข่าวว่ารัฐบาลพยายามทุกวิถีทางผลักดันเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติให้ได้ ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็มีเครือข่ายเตรียมการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและไม่ให้ประชามติครั้งนี้ผ่านไปได้
จากประสบการณ์ในชีวิตของตนที่ได้มีส่วนเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศช่วงที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าเป็นการยากที่ คสช.และรัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและรุมเร้าอยู่ได้
จากปัญหาที่ซับซ้อนดังกล่าว การเสียสละอำนาจของ คสช. ถ้าไม่เกิดขึ้นโดยเร็วก็ยากที่จะขจัดปัญหาให้หมดสิ้น ซึ่งจะตกเป็นภาระแก่ชนรุ่นหลัง ในฐานะนายทหารรุ่นพี่จึงขอร้องให้ คสช.ไตร่ตรองถึงปัญหาประเทศ เมื่อท่านได้ทำหน้าที่รักษาความสงบของบ้านเมืองแล้วก็ควรจะเสียสละอำนาจส่งต่อภาระหน้าที่ให้กับคณะกรรมการกลางที่จะมาจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันบริหารจัดการให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ภายในปี 2559 เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
หลังจากนั้น พล.อ.ชวลิตยังให้สัมภาษณ์แสดงความไม่เห็นด้วยหาก คสช.จะอยู่ต่อในช่วงเปลี่ยนผ่านอีก 5 ปี โดยบอกว่า คสช.เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเท่านั้น มีหน้าที่เท่านี้จะขออยู่ต่ออีก 5 ปีได้อย่างไร แค่ 5 เดือนก็ไม่ไหว เพราะตลอด 2 ปีที่บริหารประเทศก็เห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร ยิ่งมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้า คสช.อยู่ต่อแล้วอาจจะเหมือนอดีตรัฐบาลที่ผ่านมาที่เข้ามาได้รับดอกไม้ พอออกไปได้รับก้อนอิฐ
พล.อ.ชวลิต ยังได้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังเดินสายให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศในช่วงนี้ว่า นายทักษิณคงพูดด้วยความเป็นห่วงบ้านเมือง แต่ตนต้องการให้นายทักษิณทำงานที่ใหญ่กว่านั้น คือการช่วยหาตลาดข้าวให้แก่ประเทศไทย
อดีตนายกฯ ผู้เคยอาสาเป็น “โซ่ข้อกลาง” ประสานความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ ยังทิ้งท้ายการแถลงข่าว ด้วยการกล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้มีองค์กรชื่อว่า แบล็กสวอน หรือ เหยี่ยวดำ เกิดขึ้น ทราบว่าเป็นของกลุ่มไอซิส ไม่รู้ว่ารัฐบาลทราบหรือยัง แต่อยากให้รัฐบาลดูแลการข่าวให้เข้มกว่านี้ เพราะว่าขณะนี้รูปแบบการขัดแย้งในภาคใต้มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนวิธีรับมือด้วย
การเปิดบ้านพักเชิญสื่อมวลชนไปฟังแถลงข่าวของ พล.อ.ชวลิตในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก หลังจากเปิดบ้านแถลงข่าวปฏิเสธกรณีไปปรากฏตัวในภาพการลงนามในบันทึกช่วยจำเรื่อง "ความร่วมมือขุดคอคอดกระ" กับนายกั้วอี้ ประธานรัฐวิสาหกิจ China-Thailand Kra Infrastructure Investment & Development เมื่อกลางปี 2558 ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ยังสอดคล้องกับการที่นายทักษิณกำลังตระเวนให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ ให้สัมภาษณ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล และ ไฟแนนเชียล ไทมส์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ตามด้วยสำนักข่าวอัลญะซีเราะห์ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ และรอยเตอร์ส ในวันเดียวกัน รวมทั้งยังมีโปรแกรมที่จะไปพูดที่ World Policy Institute นครนิวยอร์ก วันที่ 9 มีนาคมนี้
เนื้อหาที่นายทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเหล่านั้น ล้วนแต่มาจากสคริปต์เดียวกัน นั่นคือการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของประเทศไทยตกต่ำ และสร้างความแตกแยก ไม่ได้ปรองดองอย่างแท้จริง รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ต้องการสืบทอดอำนาจทหาร และจะทำให้ประเทศไทยเดินถอยหลัง และตบท้ายด้วยการแก้ต่างให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาวที่กำลังถูกดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าว ว่าคดีนี้เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ทั้งที่น้องสาวของตนเองไม่ผิด
การเคลื่อนไหวของนายทักษิณรอบนี้ ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะเขาได้เริ่มโหมโรงไว้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมาแล้ว หลังจากมีความชัดเจนว่า รัฐบาล คสช.จะอยู่ในอำนาจต่อไปอีกไม่เกินช่วงกลางปี 2560 จึงให้สมุนบริวารเตรียมพร้อมเอาไว้สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ขณะเดียวกันก็เป็นการแก้เกมจากกรณีที่น้องสาวของตัวเองกำลังถูกไล่บี้อย่างหนักด้วยประเด็นการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศหลายแสนล้านบาท แต่ตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นพรรคการเมืองที่ทุจริตเชิงนโยบายเพื่อหลอกล่อเอาคะแนนเสียงจากประชาชนให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น
แม้จะมีคำสั่ง คสช.หลายฉบับ รวมทั้งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมืองเอาไว้ แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 สมุนบริวารของนายทักษิณก็ออกมาต่อปากต่อคำกับรัฐบาล คสช.มากขึ้น ทั้งกรณีโครงการอุทยานราชภักดิ์ การแถลงผลงาน 1 ปีรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และติดตามจิกกัดการร่างรัฐธรรมนูญมาตลอด
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ใช้ช่องทางเฟซบุ๊กและการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ตีโพยตีพายว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณีถูกดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าวมาตลอด ล่าสุดนับได้ 7 ครั้งไปแล้ว ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลในทางคดี แต่นี่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามข่าวสาร เพื่อจะตอกย้ำกับสังคมและได้สื่อสารไปยังกลุ่มผู้สนับสนุนว่าตนเองไม่ผิด
การเปิดบ้านแถลงข่าวของ พล.อ.ชวลิต ก็อยู่ในขบวนการเดียวกันนี้ และเชื่อว่าลึกๆ แล้ว พล.อ.ชวลิตไม่ได้คาดหวังที่จะให้ คสช.ทำตามข้อเรียกร้องในจดหมายเปิดผนึก โดยเฉพาะการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2559 นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน นั่นเพราะรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ และตามโรดแมปของ คสช.ได้กำหนดช่วงเวลาการจัดการเลือกตั้งในช่วงปลางปี 2560 ไว้แล้ว
จุดประสงค์จริงๆ จึงเป็นเพียงแค่การได้บ่อนเซาะความน่าเชื่อถือของ คสช.และสร้างเครดิตให้นายทักษิณเท่านั้น
อย่าลืมว่า พล.อ.ชวลิต คือคนที่ขายพรรคความหวังใหม่ ให้นายทักษิณ นำมายุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย ในปี 2545 และยอมลดศักดิ์ศรีตัวเองจากที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงปี 2539-2540 ลงไปเป็นรองนายกฯ สมัยรัฐบาลนายทักษิณในปี 2544 และเป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลนอมินี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์”ปี 2551 รวมทั้งเคยรับหน้าเสื่อเป็นประธานพรรคเพื่อไทย ช่วงวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ถึง 18 เมษายน 2554