xs
xsm
sm
md
lg

วันที่ประยุทธ์กลายเป็นประชาชน

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

เรารู้อยู่แล้วว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลเผด็จการที่มาจากการยึดอำนาจในวันที่ประเทศชาติกำลังถึงทางตัน เพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้

ความรู้สึกที่รับรู้และต้อนรับรัฐบาลชุดนี้ จึงเป็นเรื่องชั่วคราวที่ต้องการให้รัฐบาลนำประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ทางออกที่ดีกว่า นั่นคือ นำพาประเทศกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยในความหมายที่ว่าประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่

ตามคำกล่าวของท่านพุทธทาสที่ว่า ประชาธิปไตย ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นใหญ่นั้นมันไม่แน่ประชาชนบ้าบอก็ได้ของประชาชน โดยประชาชน ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวแล้วฉิบหายหมด

หัวใจของร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง

ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่โยนลงมานั้น ควรจะให้ประชาชนได้มีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เพียงการรับฟังความเห็นของรัฐบาล ของคสช. ของสนช.ของสปท. หรือของคนที่มีอำนาจเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญจะถูกใช้เป็นกติกาของรัฐในภายหลัง และองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐก็คือ ประชาชน

รัฐบาลจึงไม่ควรใช้กำลังทหารไปขัดขวางการเสวนาที่เกี่ยวข้องกับวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างที่เกิดขึ้นที่อำนาจเจริญ หรือการไม่ยอมให้มีการเสวนาทางวิชาการที่นิด้า

อาจจะฟังเป็นเรื่องตลกที่เราจะคาดหวังว่ารัฐบาลเผด็จการจะเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็พยายามเชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้ต้องคิดถึงวันที่ตัวเองกลับไปเป็นประชาชน และโยนอำนาจกลับไปให้นักการเมืองมาปกครองเรา

ดังนั้น มันจะเสียหายอะไรถ้าประชาชนจะพูดว่าเขาต้องการอะไรในรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการอะไร ร่างรัฐธรรมนูญนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร หรือเสนอแนะว่าควรจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร แม้รัฐบาลจะมาจากเผด็จการแต่ต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่กำลังร่างอยู่นั้นคือกติกาของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็นแม้จะไม่ถูกใจรัฐบาลก็ไม่ควรไปขัดขวาง เพราะรัฐธรรมนูญจะเป็นกฎกติกาที่จะนำมาใช้เมื่อรัฐบาลเผด็จการผ่านพ้นไปแล้ว

เว้นแต่รัฐบาลชุดนี้คิดว่าจะสืบทอดอำนาจต่อไป ซึ่งต้องถามว่าประชาชนจะยอมไหมบทเรียนในอดีตก็มีอยู่แล้ว

แต่ถ้ารัฐบาลเผด็จการทหารไม่ได้มุ่งหวังที่จะอยู่ในอำนาจต่อหลังจากนี้อย่างที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.พูดเสมอมา ก็ยิ่งต้องตระหนักว่า หลังจากพ้นอำนาจทุกคนก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ต้องการสิทธิเสรีภาพ กติกาที่เป็นธรรมและรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลเพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่วิถีทางที่ดี ไม่ย้อนกลับไปสู่วงจรอุบาวท์ที่เมื่อได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วก็ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมจนประชาชนออกมาขับไล่แล้วทหารก็ต้องออกมายึดอำนาจอีก

เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ถอดหัวโขนแล้วก็ต้องเป็นประชาชนก็ควรจะต้องตระหนักว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิของชุมชนนั้น ควรเป็นสิ่งที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัด ไม่ใช่บอกว่า สิทธิของประชาชนเป็นสิทธิที่รัฐต้องทำให้หรือบอกลอยๆ ว่าสิทธิไหนที่ไม่ได้ห้ามไว้ประชาชนมีสิทธินั้น เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้จะบัญญัติสิทธิของประชาชนไว้ รัฐบาลก็ยังบิดพลิ้วและประชาชนยังต้องต่อสู้เพื่อได้มา

ดังนั้น การเปิดให้แสดงความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่เพียงแต่ให้ประชาชน นักวิชาการเปิดวงเสวนาเรื่องเหล่านี้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ให้ทหารเข้าไปยุ่มย่ามแล้ว ยังควรจะเปิดให้พรรคการเมืองต่างๆ แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้กันอย่างเปิดเผยด้วย เพราะพรรคการเมืองจะมีบทบาทสำคัญหลังจากที่รัฐบาลทหารพ้นอำนาจไปแล้ว

จริงอยู่แม้ว่าสุดท้ายรัฐบาลจะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ไปขอประชามติกับประชาชน แต่นั่นเป็นเพียงแต่การ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ทั้งฉบับ ซึ่งมีทัศนคติในเรื่องของการเลือกข้างมากกว่าจะจริงจังกันเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ

การลงประชามติเป็นการชั่งน้ำหนักว่าส่วนเสียกับส่วนดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไหนมากกว่ากัน แต่การเปิดให้พูดถึงทุกมิติทุกมาตราของร่างรัฐธรรมนูญก่อนที่จะนำไปลงประชามตินั้น มันทำให้เราเห็นข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้านจากหลากหลายความคิดเห็น ซึ่งทุกคนต้องรับชะตากรรมจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่วมกันเมื่อถูกประกาศใช้แล้ว

ซ้ำร้ายการลงประชามติรัฐบาลก็ไม่ได้บอกประชาชนว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วจะมีทางออกอย่างไร แถมยังทำให้รู้สึกทำนองขู่ขวัญว่า ถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะต้องเจอกับอะไรที่หนักกว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่รับ อย่างนี้ ไม่ใช่ประชามติแล้วแต่เป็นการแบล็กเมล์ของมิจฉาชีพมากกว่า

คนที่ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้ คนที่มีอำนาจในรัฐบาลขณะนี้ ไม่ได้อยู่ในอำนาจเสมอไป ก็ลองถอยกลับมามองจุดยืนของตัวเองในวันที่กลับเป็นประชาชนคนธรรมดาว่าเราต้องการกติกาแบบไหนที่จะนำพาบ้านเมืองของเราไปได้ ประชาชนจะได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยในวันข้างหน้าอย่างไร

สิ่งสำคัญก็คือ ต้องไม่ลืมว่า เราจะต้องปฏิรูปบ้านเมืองของเราในทุกด้านอย่างไร รัฐบาลชั่วคราวจึงควรคิดเรื่องนี้มากกว่าการทำเมกะโปรเจกต์ หรือทำนโยบายที่เรียกคะแนนนิยม สิ่งที่ต้องคิดมากกว่าคือหลังรัฐบาลชั่วคราวพ้นอำนาจแล้วทำอย่างไรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถใช้อำนาจอย่างมิชอบได้อีก

แนวคิดของรัฐธรรมนูญจึงควรเป็นแนวคิดเพื่อปฏิรูปบ้านเมืองมากกว่าเขียนรัฐธรรมนูญให้นักการเมืองเข้ามาแล้วกดหัวประชาชน

เหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่กำลังลดสิทธิของประชาชนแต่เพิ่มอำนาจรัฐ แล้วหวังเหรอว่า ในวันที่ผู้มีอำนาจรัฐขณะนี้กลับไปเป็นประชาชน รัฐในวันข้างหน้าจะสนองผลประโยชน์กับประชาชนให้กับเรา สิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชนที่หายไปจากรัฐธรรมนูญนั้น คาดหวังได้อย่างไรว่ารัฐจะจัดให้ในเมื่อมันไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าประชาชนจะถ่วงดุลกับการใช้อำนาจรัฐอย่างไร

แล้วอะไรจะควบคุมรัฐได้เพราะรัฐถูกควบคุมโดยรัฐบาลที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจมากกว่าประชาชน ตอบสนองผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจมากกว่าประชาชน เราฝากฝังได้จริงหรือว่าองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญจะควบคุมการทำงานของรัฐบาลได้ ในเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนให้อำนาจรัฐเป็นใหญ่ แล้วสุดท้ายองค์กรอิสระจะมาจากไหนก็คนที่กุมอำนาจรัฐไม่ใช่หรือ แม้ว่าจะเขียนที่มาไว้รัดกุมอย่างไร สุดท้ายระบบพรรคพวกและระบบอุปถัมภ์ก็มีบทบาทสำคัญอยู่ดี

เรามีบทเรียนกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจรัฐอย่างเหิมเกริม แล้วเราจะเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐอยู่เหนือสิทธิของประชาชนอีกเช่นนั้นหรือ

หรือพล.อ.ประยุทธ์คิดว่า ตัวเองจะไม่กลับไปเป็นประชาชนธรรมดาอีกแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น