ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงนาทีนี้ต้องบอกว่า ชีวิตที่ดี๊ดีของ “ดลฤดี” ที่ฮาร์ดวาร์ด กำลังจะกลายเป็นชีวิตริบหรี่เข้ามาแทนที่ เพราะพลังของโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ไม่ปล่อยให้คนเก่งคุณธรรมต่ำอย่างนางลอยนวล งานนี้ออกแรงกระทุ้ง กระแทกกระทั้นกันเสียจนมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ทนนิ่งเฉยไม่ได้ จำต้องส่งหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ “เอาเรื่อง” ตามคำร้องขอของ ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ หนึ่งในผู้ค้ำประกันที่ตกเป็นเหยื่อความเห็นแก่ตัวของนาง
คราวนี้ ทันตแพทย์หญิง (ทพญ.) ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ซึ่งขอทุนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา แล้วหนีทุน ปล่อยให้ผู้ค้ำประกัน 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ทพ.เผด็จ ต้องร่วมกันชดใช้หนี้คืนร่วมสิบล้าน ยังจะอยู่สุขสบายดีอยู่หรือ ??
เช่นเดียวกันกับ ฮาร์วาร์ด ที่ทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาว ดังที่เคยมีจดหมายแจ้งกลับมายัง ทพ.เผด็จ ก่อนหน้านี้ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัว จึงไม่สามารถเข้ามาช่วยจัดการได้ ก็ชักจะเดือดร้อนจากพลังโซเชียลที่ทำเอาคะแนนกดไลค์มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาแห่งนี้ตกฮวบฮาบเป็นประวัติการณ์ และไม่อาจหยุดยั้งกระแสเรียกร้องให้ฮาร์วาร์ด ลงมาจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้น การทำเป็นเพิกเฉยไม่ได้ทำให้เรื่องจบ
ฮาร์วาร์ด สะเทือนขนาดไหน ดูจากเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทพ.เผด็จ ขึ้นโพสว่า “เฟซ Harvard University บล็อก IP ที่อยู่ในประเทศไทยแล้วครับ เรียกชื่อไม่ขึ้นมาแล้ว อาจเป็นเพราะไม่ต้องการให้ดาวตกไปมากกว่านี้ ! เพราะโอบามา และคนดังๆ หลายคนจบมาจากที่นี่เหมือนกัน แหล่งข่าวต่างประเทศแจ้งมาครับ คงต้องไหว้วานเพื่อนๆ คนไทยในต่างประเทศช่วยกันต่อครับ ....”
บล็อก IP เรื่องหมูๆ ของนักรบไซเบอร์ เช่นนี้ แฟนเพจของคุณหมอ ที่ใช้ชื่อ “สยาม เกิดพร้อม” จากวิศวะฯ จุฬาฯ ก็แนะนำ “ใช้โปรแกรม ultrasurf ได้ไอพีอเมริกา ใช้งานง่ายไม่ต้องติดตั้ง download มาแล้ว แค่ดับเบิ้ลคลิกก็ใช้ได้เลย (เฉพาะเล่นผ่านบราวเซอร์ครับ) http://ultrasurf.us” เจาะทะลุทะลวงปราการเข้าไปให้ข้อมูล ความคิดเห็น และเม้นท์ ดลฤดี ณ ฮาร์วาร์ด กันอย่าได้หวั่น
ฮาร์วาร์ดก็งานเข้า ดลฤดีก็งานเข้า มหิดลก็งานเข้า ถ้วนหน้า!!
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ทพ.เผด็จโพสต์เฟซบุ๊กและให้สัมภาษณ์สื่อว่า “งานเข้าเธอแล้วครับ แหล่งข่าวจากสหรัฐอเมริกาแจ้งว่าตอนนี้มีผลกระทบต่อหน่วยงานที่เธอทำงานอยู่ในฮาร์วาร์ดแล้ว คงอาจจะถูกลบชื่อออกจากการเป็น leadership จาก Harvard Medical School (HSDM) บอกได้เลยครับว่าเธอถูกขอสอบสวนจากออมบูด (Ombuds) ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบภายในของ Harvard Medical School ครับ.... ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมหลักฐาน และเอกสารต่างๆ ซึ่งมีกระบวนการที่ต้องใช้เวลา คาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะมีผลออกมา...”
ทพ.เผด็จยังบอกว่า ตอนนี้คนไทยในสหรัฐฯ ส่งหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงาน Ombuds มาให้ด้วย เพื่อชวนให้คนไทยช่วยกันเข้าไปร้องเรียนหรือส่งข้อมูล ซึ่งจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับกรณีที่เกิดขึ้นและไม่ต้องกลัวว่าจะมีผลกระทบ เพราะถือเป็นข้อมูลลับจะไม่มีการเปิดเผย โดยเวลานี้คนไทยในสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาร่วมแปลเอกสาร และทำความเข้าใจในเรื่องนี้กับคณะกรรมการที่เข้ามาตรวจสอบบ้างแล้ว
หลังจาก ทพ.เผด็จ เรียกร้องให้คนไทยช่วยกันระดมความคิดเห็นที่เฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปรากฏว่าในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 คะแนนความนิยมเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ลดลงเหลือเพียง 2.6 ดาว
นั่นเป็นการรายงานความคืบหน้าหลังจากที่ ทพ.เผด็จ ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวในสหรัฐฯที่เชื่อถือแจ้งมาว่าทาง ออมบูดส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบภายในของคณะทันตแพทย์ ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเรียก ทพ.ญ.ดลฤดี ไปสอบสวนแล้ว
เมื่อใดก็ตามที่ฮาร์วาร์ด เริ่มกระบวนการสอบสวน และต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ไปให้ข้อมูล ทาง นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์สื่อแล้วว่า พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ และหากจะให้ทาง มม.ไปให้ข้อมูลด้วยตัวเองที่สหรัฐฯ นพ.อุดม ก็ยินดี เพราะถึงตอนนี้แล้วเรื่องเงิน 30 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่มีผลทางพฤติกรรม คนเป็นครูอาจารย์ต้องมีคุณธรรมจริยธรรมและมีความซื่อสัตย์ที่มีมาตรฐานขั้นสูงกว่าคนปกติทั่วไป การหนีหนี้ไม่รับผิดชอบ ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เป็นตัวอย่างไม่ดีต่อสังคม มม.ต้องดำเนินการจนถึงที่สุด
อธิการบดี มม. ยังได้ลงนามหนังสือถึงผู้ตรวจการของคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณี ทพ.ญ.ดลฤดี ไม่ยอมกลับมาทำงานใช้ทุน และยอมชำระเงินเพื่อชดใช้ทุน ตามที่ ทพ.เผด็จ ได้ร้องขอแล้ว
มหิดล มหาวิทยาลัยด้านการแพทย์อันดับหนึ่งของประเทศไทย และระดับชั้นนำของเอเชียและของโลก เจอเรื่องดลฤดีหนีทุน ทำเสื่อมเสียชื่อเสียงหนัก จำเป็นที่ต้องกอบกู้คืนมาอย่างเร่งด่วนโดยไม่มีทางเลือกอื่น
เช่นเดียวกันกับฮาร์วาร์ด ที่ไม่อาจเพิกเฉยต่อเรื่องที่เกิดขึ้นเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพราะนักรบไซเบอร์ลงมือย่างดุดันเหลือเกิน และหัวหมู่ทะลวงฟันอย่าง ทพ.เผด็จ ก็ยืนยันเดินหน้าไม่มีถอย
“ไม่ว่าอย่างไร ผมยังคงเดินหน้าที่จะฟ้องร้อง ทพ.ญ.ดลฤดี ต่อไป ..... เพื่อเป็นการยืนยันเจตนาของผมนะครับ ในกรณีที่การฟ้องร้องชนะ ผมขอรับแต่เฉพาะเงินต้นที่จ่ายไปเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยและค่าเสียหายต่างๆ ที่ผมอาจจะได้รับในอนาคตขอบริจาคให้องค์กรการกุศลทั้งหมด ขอแค่เงินต้นไปใช้คืนธนาคารที่ผมกู้มาพอครับ (ในส่วนของดอกเบี้ยธนาคารที่ผมกู้มา จะรับผิดชอบเองครับ) เพราะจริงๆ ก็ทำใจว่าสูญตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าได้คืนแค่เงินต้นก็ดีใจน้ำตาไหลแล้วครับ ขอบคุณทุกท่านที่เป็นกำลังใจให้นะครับ" ทพ.เผด็จ บอกถึงความตั้งใจผ่านเฟสบุ๊ค
ชีวิตที่ริบหรี่ของดลฤดีที่ฮาร์วาร์ด นอกจากจะเจอสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ มหิดล ร่วมกันฟ้องร้องเรียกทุนคืนแล้ว ยังจะเจออีกดอกจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อีกด้วย ซึ่งคดีที่ สกอ.มอบหมายให้อัยการฟ้องศาลล้มละลาย ทพ.ญ.ดลฤดี นั้นอัยการได้ฟ้องไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 โดย อธิการบดี มม. เป็นโจทก์ที่ 1 และ สกอ. โดย นางสาวอาภรณ์ เลขาธิการ กกอ. เป็นโจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้อง ทพ.ญ.ดลฤดี ให้ชำระหนี้รวมกว่า 48 ล้านบาท คำนวณดอกเบี้ยถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 แยกเป็นชำระหนี้ให้ มม. 4.58 ล้านบาท และให้ชำระหนี้แก่ สกอ. 43.27 ล้านบาท ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 14 มีนาคม 2559
ส่วน สตง. นั้น นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ได้สั่งการให้นิติกรของ สตง.ไปศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาการหนีทุนเรียนของทันตแพทย์หนีทุน เพื่อเอาผิดทางอาญา นอกเหนือจากการฟ้องร้องทางแพ่ง แม้ว่าเจ้าตัวจะแจ้งลาออกจากราชการไปแล้วก็ตาม
“... สตง.มองว่า เรื่องนี้สร้างความเสียหายให้แก่ราชการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเงินแผ่นดินที่ใช้จ่ายไป และไม่ได้ผลตอบแทนกลับมา ประเทศชาติเสียบุคลากร กำลังสมองไปเปล่าประโยชน์ ลงทุนส่งให้ไปเรียนเมืองนอกด้วยเงินจำนวนมาก แต่เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ไม่เดินทางกลับมาทำงานรับใช้ประเทศ ถือเป็นเรื่องที่เลวร้ายต่อระบบคุณธรรมของประเทศเป็นอย่างมาก" นายพิศิษฐ์ ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา
ผู้ว่าการ สตง. ยังระบุด้วยว่า จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปรวบรวมข้อมูลการให้ทุนของหน่วยงานราชการต่างๆ ว่า มีขั้นตอนการดำเนินการเป็นอย่างไร จำนวนนักศึกษาที่หนีทุนเรียน และวงเงินราชการที่ต้องเสียหายไป รวมถึงกระบวนการติดตามเงินทุนคืนของหน่วยงานต่างๆ ว่ามีความบกพร่องหละหลวมเกิดขึ้นหรือไม่ด้วย เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดมาตรการป้องกันปัญหาเสนอแนะให้หน่วยงานราชการที่ให้ทุนการศึกษาและรัฐบาล
นับว่า “ดลฤดี หนีทุน” เป็นกรณีศึกษาที่สร้างผลสะเทือนต่อนักเรียนทุนทั้งประเทศทุกระดับชั้นเลยก็ว่าได้
ต่อจากนี้ คงต้องรอดูว่า ชีวิตที่ดี๊ดีของนางที่ฮาร์วาร์ด หลังจากเข้าสู่กระบวนการสอบสวนแล้วจะเป็นเช่นใด และต้องรอดูผลอีกดอกหนึ่งคือ ทันตแพทยสภา ที่ประชุมเพิกถอนใบอนุญาตจะส่งผลอย่างไรต่อวิชาชีพของนางหรือไม่ เพราะ ทพ.เผด็จ เรียกร้องว่า “.... ถ้าถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต ก็อยากให้ทันตแพทยสภา ทำเรื่องชี้แจงไปยังทันตแพทยสมาคมที่สหรัฐอเมริกา เผื่อจะมีผลต่อการประกอบอาชีพของหมอดลฤดีในสหรัฐอเมริกาครับ”
ยกแรก ผลการประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ทพ.ธรณินทร์ จรัสจรุงเกียรติ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า คณะกรรมการทั้งคณะมีมติเอกฉันท์ ในการกล่าวโทษ ทพ.ญ.ดลฤดี จากนั้น จะนำส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม สอบสวนข้อเท็จจริง หากคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ความผิดมีมูล ก็จะส่งให้คณะกรรมการทันตกรรมแพทยสภา พิจารณาลงโทษ ซึ่งมี 4 ระดับ คือ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน
นี่จึงเป็นรูปธรรมกรรมติดเทอร์โบ เห็นผลทันตาไม่ต้องรอชาติหน้าโดยแท้