xs
xsm
sm
md
lg

แผนJASไม่ชัด แบงก์ปัดปล่อยกู้จ่าย4G SCB-ออมสินช่วยTRUE

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360-แบงก์กรุงเทพยอมรับ ตีกลับ JAS ขอกู้เงินชำระใบอนุญาต 4G เหตุแผนธุรกิจไม่ชัดเจน ขอให้ไปทำมาใหม่ ส่วน TRUE ฉลุย แบงก์ไทยพาณิชย์และออมสินพร้อมปล่อยกู้ กสทช.ยันทรูมาแน่ รอแค่ฤกษ์ชำระเงิน คาดภายในเดือนก.พ.นี้ ส่วนแจสยังต้องรอลุ้น หากไม่มาจ่อยึดใบอนุญาตทั้งด้านโทรคมนาคมและทีวีดิจิตอล ส่วนคลื่น 900 พร้อมนำเปิดประมูลใหม่ภายใน 3 เดือน

นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารไดัรับการยื่นขอสินเชื่อจาก บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด บริษัทลูกของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เพื่อนำไปชำระค่าใบอนุญาต 4G โดย JAS ได้ยื่นขอสินเชื่อในวงเงิน 4 หมื่นล้านบาทไปแล้ว 1 ครั้ง และยื่นขออีกครั้งภายหลังชนะการประมูล บนคลื่นความถี่ 900MHz ในวงเงินรวมกว่า 7.56 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารได้ขอให้บริษัทกลับไปทำแผนธุรกิจ เพื่อประกอบการขอสินเชื่อรอบใหม่ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ

"ธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้ในวงเงินที่ขอมา แต่เห็นว่าบริษัทยังไม่มีแผนธุรกิจชัดเจน ไม่รู้ว่าจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน จึงได้ให้ JAS กลับไปทำแผนธุรกิจรอบใหม่ และขณะนี้ ยังไม่พบว่าบริษัทจัดส่งแผนธุรกิจเข้ามา ธนาคารจึงยังไม่ได้อนุมัติสินเชื่อ"นายเดชากล่าว

***SCB-ออมสินพร้อมปล่อยกู้ TRUE

นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารมีแนวทางจะร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 4-5 แห่ง ในการให้แบงก์การันตีกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE สำหรับการจ่ายค่าใบอนุญาต 4G คลื่น คลื่น 900MHz งวดแรก โดยธนาคารเป็นผู้นำในการปล่อยกู้ ซึ่งได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารแล้ว

นอกจากนี้ หากกลุ่ม TRUE มีความต้องการวงเงินในการขยายธุรกิจเพิ่มเติมในอนาคต ธนาคารก็พร้อมจะให้การสนับสนุน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า TRUE ได้เข้ามาขอสินเชื่อสำหรับการประมูลคลื่น 900 MHz โดยในขณะนี้ธนาคารได้ให้บริษัทส่งแผนการดำเนินธุรกิจเพิ่มเติม เพื่อส่งเข้าคณะกรรมการพิจารณาต่อไป และวงเงินเบื้องต้นจะอยู่ในระดับไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า TRUE จะส่งเรื่องกลับมาภายในเดือน ก.พ.นี้

*** เผยทรูมาแน่แต่แจสรอลุ้น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz งวดแรก ว่า ทราบมาว่าทางบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชัน จำกัด (ทียูซี) ได้แบงก์ การันตีเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอกฤษ์ในการมาชำระเงิน ซึ่งคาดว่าน่าจะมาชำระเงินพร้อมแบงก์ การันตีภายในเดือนก.พ.นี้

ส่วนบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ได้ติดต่อ กสทช. เพื่อขอนำเข้าอุปกรณ์ 4G แล้ว ดังนั้น จึงยังมีเวลาถึงวันที่ 21 มี.ค.2559 ที่จะครบกำหนดระยะเวลา 90 วัน หลังจากที่ผู้ชนะการประมูลได้รับหนังสือแจ้งจาก กสทช.

***เปิดประมูลใหม่ได้ภายใน3เดือน

นายฐากรกล่าวว่า หากผู้ชนะประมูลไม่มาชำระเงิน กสทช.ได้เตรียมแนวทางรองรับไว้แล้ว อาทิ หากจำเป็นต้องประมูลใหม่ สามารถประมูลได้ภายใน 3 เดือน โดยราคาประมูลจะเริ่มต้นที่ราคาของผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้ว , ผู้ไม่มาจ่ายเงินค่าประมูลจะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลครั้งใหม่ได้ แต่หากไม่มีผู้ประสงค์จะประมูลจะทิ้งคลื่นไว้ 1 ปี จึงจะประมูลใหม่ และ กสทช. จะดำเนินการฟ้องร้องผู้ทำให้รัฐเสียหาย รวมทั้งจะเพิกถอนสิทธิบางประการ โดยเฉพาะการยึดใบอนุญาตที่ออกโดย กสทช. ทั้งด้านกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์

"ขอยืนยันว่าสำนักงาน กสทช. จะไม่ยอมให้รัฐเสียหาย หากผู้ชนะการประมูลไม่มาชำระเงินค่าประมูลงวดแรกพร้อมวางแบงก์ การันตี ผู้ชนะประมูลรายนั้น จะต้องถูกยึดใบอนุญาตทุกประเภทที่ออกให้โดย กสทช. ด้วย หากมีใบอนุญาตด้านทีวีดิจิตอล ก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) พิจารณา หากเป็นด้านโทรคมนาคม ก็ต้องให้ทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต"นายฐากรกล่าว

สำหรับการประมูลความถี่ 900 MHz นั้น บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ชนะการประมูลในช่วงความถี่ที่ 1 (895-905 MHz/940-950 MHz) ที่ราคา 75,654 ล้านบาท ส่วนบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชัน จำกัด (ทียูซี) ชนะการประมูลในช่วงความถี่ที่ 2 (905-915 MHz/950-960 MHz) ที่ราคา76,298 ล้านบาท โดยจะต้องมาชำระเงินค่าประมูลงวดแรก 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันทางการเงิน เพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือ (แบงก์ การันตี) ภายใน 90 วัน หลังจากได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล หรือภายในวันที่ 21 มี.ค.2559

***กระอักส่อNPLไทยทีวี

นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงกรณี บริษัท ไทยทีวี จำกัด ไม่สามารถดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอลได้ และธนาคารเป็นผู้ออกแบงก์การันตีให้นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้จัดชั้นให้ไทยทีวีเป็นหนี้เอ็นพีแอล เพราะต้องการรอผลประชุมของคณะกรรมการ กสทช. ก่อน ซึ่งหลังจากได้แนวทางในการดำเนินการชัดเจน จึงจะหารือกับลูกค้า เพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ในลำดับต่อไป

ส่วนลูกค้าทีวีดิจิตอลรายอื่นที่ธนาคารมีส่วนในการปล่อยสินเชื่อ ขณะนี้ยังไม่มีลูกค้ารายใดที่มีปัญหาจนต้องคืนใบอนุญาตประกอบการกิจการทีวีดิจิตอล
กำลังโหลดความคิดเห็น