xs
xsm
sm
md
lg

มีชัยโชว์ร่างรธน.วันนี้ แจงยืดโรดแมปเหตุกม.ลูกเยอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (28ม.ค.) นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า ที่ประชุมกรธ.ได้มีการนำเอาร่างที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ตามที่มีการเสนอให้พิจารณาให้ที่ประชุมตรวจสอบอีกครั้งให้เสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดทำเอกสารเผยแพร่เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับหน่วยงาน อาทิ สปท.-สนช.-ครม. และ คสช. รวมถึงพรรคการเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อนำเสนอร่างเบื้องต้น ในวันนี้ (29 ม.ค.) เวลา 14.00 น. โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.
ทั้งนี้ สื่อมวลชนสามารถโหลดข้อมูลร่าง รธน. รายมาตราได้จากคอมพิวเตอร์ แต่จากนั้นกรธ. ก็มีการประชุมตามปกติ ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ยังคงมีจำนวนทั้งสิ้น 270 มาตรา โดยจะมีแจกเอกสารสรุปประเด็นสำคัญต่อสื่อมวลชน และเอกสารเกี่ยวกับหลักการ 10 ประการ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ตอบโจทก์อย่างไร และในส่วนของกรอบที่ คสช.ให้มานั้น อย่างไร 5 ข้อ กรธ.ได้มีบทบัญญัติมาตราใดบ้าง ที่ตอบโจทย์ตามกรอบที่มอบหมายให้ กรธ.ทำ ส่วนการเชิญหน่วยงานมารับฟังการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป มีแต่การเชิญชวนให้ส่งเอกสารความเห็นมาเพื่อ กรธ.จะได้สรุป
"กรธ. พยายามที่จะนำเอาสิ่งที่เราคิดว่าเป็นโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เริ่มต้นตั้งแต่โครงสร้างปกติที่กำหนดให้บ้านเมืองเราเป็นรัฐเดี่ยว มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรื่องการกำหนดหลักการสิทธิ และเสรีภาพ ของปวงชนชาวไทยและเรื่องการบัญญัติหลักการขึ้นมาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่รัฐ หรือแนวนโยบายของรัฐ กับส่วนที่เราคิดว่าเป็นเรื่องใหม่ สำหรับบ้านเมืองคือระบบการเลือกตั้งที่เป็นระบบบัตรเดียว ใช้การคำนวณแบบสัดส่วนเข้ามาผสมหรือ"ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม" และเรื่องระบบ ส.ว. ที่มีการเลือกตั้งทางอ้อม หรือที่เลือกกันเองในระหว่างผู้สมัคร ที่เป็นส่วนหนึ่งที่กรธ. จะอธิบายให้ประชาชนได้ทราบถึงเหตุผลและที่มาอย่างไร"
ที่สำคัญ เรื่องโครงสร้างฝ่ายบริหาร ที่มีการเปลี่ยนแปลงว่า นายกรัฐมนตรีจะมาจากคนที่ได้รับการเสนอชื่อจากประชาชน และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ และเรื่ององค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ที่ กรธ.เสนอให้มีการทำงานในลักษณะกระฉับกระเฉง ว่องไว มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น อีกทั้งกระบวนการการปฏิรูปที่มุ่งหมายที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย หากประชาชนให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะมีระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง ให้ได้ ส.ส.เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเมื่อไหร่ และในระยะที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง จะมีองค์กรที่ทำหน้าที่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งจะมีองค์กรทำหน้าที่ปกติอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่ กรธ.จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจด้วย

** ต้องยืดโรดแมป เพราะกม.ลูกเยอะ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม กรธ. กรณีที่ระบุให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) ดำรงตำแหน่งจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถือเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ ว่า ถ้าไม่ให้สนช.ทำงาน จะมีการเลือกตั้งได้อย่างไร เพราะไม่มีองค์กรออกกฎหมาย ส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะต้องทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปตามที่กำหนด ซึ่งถ้าไม่มีองค์กรทั้งสอง ก็จะเว้นว่าง และไม่มีทางจะได้เลือกตั้ง เพราะการจัดการเลือกตั้ง ต้องใช้กฎหมายหลายฉบับ ที่สำคัญมีระเบียบปลีกย่อยของรัฐธรรมนูญ ที่จะสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งต้องปรับแก้กฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกัน มิเช่นนั้นรัฐธรรมนูญ โครงสร้างใหญ่ก็บังคับใช้ไม่ได้ การเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ก็เดินหน้าไม่ได้ ถ้าไม่ออกกฎหมายลูก ส่วนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถ้าจะให้อยู่ต่อ ก็ต้องมีอุปกรณ์ มิเช่นนั้นจะแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้
เมื่อถามว่า ต้องวางกรอบอำนาจของ คสช.หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คนเราเมื่อยอมให้คสช. ให้อำนาจ และไว้ใจให้ดูแลบ้านเมืองแล้วจะไม่ไว้ใจกันหรืออย่างไร ก็ต้องวางใจว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา คสช.ไม่ได้ใช้อำนาจเกินเหตุ อีกทั้งเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาทำงาน ถ้าไปตัดมือตัดเท้า คสช. จะทำงานอย่างไร ส่วนคนที่ต่อต้านทำอะไรก็คัดค้าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ถ้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่สั่งให้ถอดปืน กระบอง ก็ไม่มีประโยชน์
เมื่อถามว่า ดูจากไทม์ไลน์ 6-4-8-5 การเลือกตั้ง น่าจะอยู่ในปี 2560 แต่ขยับมาเป็นปลายปี ใช่หรือไม่ ประธาน กรธ. กล่าวว่า ขยับนิดหน่อย เพราะกฎหมายลูกเยอะ 10 ฉบับ และถ้านับระยะเวลาที่ต้องเขียนก็หืดขึ้นคอเต็มที เพราะเท่ากับว่าร่างกฎหมายหนึ่งฉบับ ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน
เมื่อถามถึงสมาชิก สนช. -สปท.-คสช. ที่จะลงสมัครเลือกตั้ง ให้ลาออกนับจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ในกำหนด 90 วัน จะทำให้เกิดปัญหาเก้าอี้เว้นว่างใน สนช. หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า สามารถตั้งใหม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมานี้ คิดว่าเป็นธรรมที่สุดแล้ว ให้รู้กันไปว่า สมาชิกสนช.กว่า 200 คน จะลาออกทั้งหมดเพื่อสมัครเลือกตั้ง ทั้งนี้ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว เบื้องต้นเพื่อให้คนได้ดู และมีฉบับย่อยเพื่อให้บุคคลที่ไม่มีเวลาอ่านทั้งฉบับ ซึ่งวันที่ 29 ม.ค. ที่กำหนดแจกร่างแรกนั้น ใครมาขอ ก็ให้
ส่วนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จะร่างทีละฉบับ และส่งให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณา หลังสนช.พิจารณา ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ถ้าไม่ทักท้วงเนื้อหาใดภายใน 10 วัน ก็จะไม้แก้ไขอีก ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ดี กรธ.ต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายในการร่างกฎหมายลูกด้วย เพราะเรื่องบางเรื่อง กรธ.ก็ไม่ชำนาญ ที่สำคัญต้องถามองค์กรอิสระในเรื่องกลไกการเลือกตั้งแบบใหม่ ทำอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการร่างฯ อีกทั้งระยะเวลาดังกล่าวให้องค์อิสระเตรียมตัวว่าจะปรับเปลี่ยนกลไกของเขาอย่างไร

**"มาร์ค"ขอดูรายละเอียดก่อนตัดสินใจ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณี กรธ. จะส่งร่างรธน. ร่างแรกให้กับสาธารณชนในวันนี้ ( 29 ม.ค.) ว่า ต้องขอดูสาระของร่างก่อน การตัดสินใจรับ หรือไม่รับ ร่างรธน. ควรรอดูฉบับสุดท้ายที่จะนำไปลงประชามติเสียก่อน แล้วจึงจะบอกว่า รับหรือไม่รับ
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่เคยพูดว่า จะรับ หรือไม่รับ เราสนับสนุนทุกบทบัญญัติที่ทำให้การปราบปรามการทุจริตเข้มงวดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้ากรธ. อยากจะพิสูจน์ ก็ต้องทำให้บทบัญญัติเรื่องทุจริตเข้มกว่า และต้องเอาบทบัญญัติที่เราคิดว่าเป็นปัญหาออกไป พรรคประชาธิปัตย์ ถึงจะสนับสนุนร่างนี้ เช่น เรื่องการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ที่พรรคได้สะท้อนปัญหาไปแล้วว่า จะทำให้การซื้อเสียงรุนแรงขึ้น ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกี่ยวกับผลประโยชน์ของพรรค
"ผมคิดว่า คสช. รัฐบาล และ สนช. ควรที่จะต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชน การจะให้ประชาชนไปตัดสินใจว่า จะรับร่างรธน. หรือไม่นั้น ประชาชนควรจะมีสิทธิ์รู้ว่า ทางเลือกในกรณีที่ไม่รับร่าง คืออะไร มิฉะนั้นการเอาประชามติมาทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน หรือความชอบธรรมแก่รัฐธรรมนูญ จะทำได้ไม่เต็มที่ เช่น คนอาจจะบอกว่า ที่รับนั้น เพราะกลัวว่า ถ้าไม่รับแล้วจะเกิดอย่างนั้น อย่างนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ส่วนคนที่ไม่มีทางเลือกที่ชัดเจน เราจะอ้างความชอบธรรมในร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้อย่างไร ถ้ากระบวนการประชามติไม่สามารถที่จะเป็นคำตอบได้ชัดว่า นี่คือ ความเห็นชอบของประชาชนที่มีต่อกติกา ในที่สุดกติกาก็จะเป็นปมความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง ซึ่งผมต้องถามว่าถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ คสช.ประกาศหรือไม่ เพราะฉะนั้นคสช. รัฐบาล และ สนช. ควรจะเร่งทำความชัดเจนกับประชน ถึงจะเป็นการช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีความชอบธรรม และจะลดความขัดแย้งในอนาคตได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น