xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯวอนประหยัดน้ำ โลกกำลังประสบภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ฉบับที่ 19 วันที่ 1 ก.พ.59 คอลัมน์จากใจนายกรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ระบุว่า “สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน "3 ใน 4 ของเปลือกโลกเป็นผืนน้ำ" จากน้ำทั้งหมดนี้ เป็น “น้ำกินน้ำใช้”สำหรับมนุษย์ เพียงไม่ถึงร้อยละ 3 ในขณะที่ร่างกายมนุษย์ มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 70 ผมอยากให้พี่น้องได้เห็นความจริงของธรรมชาติ เห็นความสำคัญของน้ำ ว่า เป็นทรัพยกรที่แม้มีอยู่มาก แต่นำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย นับวันยิ่งจะร่อยหรอ เพราะเราผลิตน้ำเองไม่ได้ แต่ธรรมชาติสร้างน้ำให้เราครับ
ทั้งโลกกำลังประสบปัญหา“ภัยแล้ง”เนื่องจากแหล่งน้ำ ภูเขา ป่าไม้ ระบบนิเวศทางธรรมชาติถูกบุกรุก ทำลาย เสียสมดุล ทำให้ภูมิอากาศถูกเปลี่ยนแปลง และน้ำเริ่มจะมีไม่พอสำหรับการอุปโภคบริโภคของมนุษย์
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม “ทรัพยากรน้ำ”จึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงประเทศ ขาดซึ่ง“น้ำต้นทุน”แล้วปัญหาเชื่อมโยงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมก็ตามมา อาทิ เกิดการแย่งน้ำ เหนือน้ำ-ท้ายน้ำทะเลาะกัน ผลผลิตตกต่ำ สิ้นค้าราคาแพง กระทบทุกอาชีพ ผมเป็นห่วงที่สุดไม่เพียงพี่น้องเกษตรกร แต่รวมทั้งผู้มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ อาชีพอิสระไม่มั่นคง ได้รับผลกระทบทางอ้อมกันถ้วนหน้า
ความผิดพลาดใน“อดีต” นอกจาการปล่อยปละละเลยให้มีการบุกรุกผืนป่าของพี่น้อง ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างไร้การควบคุม ไม่มีการโซนนิ่ง อาทิ ยางพารา ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง โดยเฉพาะที่มีนายทุนหนุนหลังแล้ว กระตุ้นให้เกิดการแผ้วถางป่าสมบูรณ์ ป่าสงวน เป็นทั้งการทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร ทั้งทำให้ฟ้าฝนปรวนแปรเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้ง ยากแก่การป้องกันคอยแต่แก้ไข ใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพครับ
การแก้ไขปัญหาใน“ปัจจุบัน”รัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างความสมดุล ให้กับการใช้น้ำทั้งระบบ 1. ภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยการทำฝนเทียม พัฒนาแหล่งน้ำ-เขื่อน-ฝาย ขุดลอกคูคลอง วางระบบชลประทาน สร้างแก้มลิง-บ่อขนมครกตามแนวทางพระราชดำริ ปรับพฤติกรรมการเกษตร-ไร่นาสวนผสม-โซนนิ่ง-ปลูกพืชใช้น้ำน้อย-เกษตรน้ำหยด 2.ภาคครัวเรือน-น้ำอุปโภคบริโภค อาทิ การขุดบ่อบาดาลหมู่บ้าน ประปาชุมชน และ 3.การรักษาสมดุลทางธรรมชาติ ผลักดันน้ำเค็ม เป็นต้นการสร้างความยั่งยืน สำหรับ “อนาคต”อีก 10 ปี 20 ปี 30 ปี ด้วยแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการทั้งระบบ 10 ปี ที่ขยายขอบเขตในมิติพื้นที่และเวลา จากการแก้ปัญหาเร่งด่วน อาทิ 1.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 2.การบำบัดฟื้นฟูน้ำเสีย 3. การจัดทำฐานข้อมูล-เทคโนโลยีสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อการบริหารจัดการและป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การช่วยกัน“ประหยัดน้ำ”เป็นมาตรการที่ดีไม่ต้องลงทุน แต่มีประสิทธิภาพี่สุด ในการอนุรักษ์ให้มีน้ำไว้ใช้อย่างยั่งยืน ไม่แล้ง ไม่เหือดแห้งนะครับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น