xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.เล็งขยายลดเวลาเรียนฯทั่วปท. “สงขลา”ขานรับ-เน้นเสริมด้านกีฬา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นเวลาเกือบ 3 เดือนแล้วที่ กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้นำนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” มาใช้ในช่วงเปิดภาคเรียนที่สองของปีการศึกษา 2558 หรือช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา โดยมีโรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมนำร่องนโยบายมากกว่า 3,800 โรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งโรงเรียนเอกชนบางส่วน
กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.ยอมรับว่าในช่วงต้นของการดำเนินนโยบาย ได้เกิดผลกระทบต่อเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และครูผู้สอนในวงกว้าง จนเกิดความสับสน และบางส่วนที่ต่อต้านการปฏิบัติอยู่บ้าง เนื่องจากส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของนโยบาย แต่เมื่อดำเนินนโยบายตามแนวทางที่ สพฐ.ได้จัดทำให้แก่โรงเรียนต่างๆ คู่ขนานไปกับการประเมินผลเป็นระยะ ก็ทำให้เกิดการยอมรับ และความเข้าใจในนโยบายมากขึ้น บางส่วนที่ยังบกพร่อง ก็มีการแก้ไขปรับปรุงจนเป็นที่น่าพอใจ
สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียนที่ สพฐ.ได้จัดทำเป็นแนวทางตัวอย่างนั้น มีมากกว่า 300รูปแบบ อาทิ ด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ รวมไปถึงกิจกรรมเพื่อสังคม โดยใช้แนวคิด “สอนน้อย แต่เรียนรู้มาก : Teach Less Learn More” และได้มอบหมายให้โรงเรียนนำร่องนำต่างๆไปปรับใช้ตามบริบท ปัญหา และให้สอดคล้องกับสภาพทรัพยากรความพร้อมของแต่ละโรงเรียน โดยไม่กระทบเนื้อหาหลักที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ และเสริมด้วยการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ นอกห้องเรียน เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านพัฒนาทักษะการคิด (Head) ด้านคุณธรรมจริยธรรม (Heart) ด้านทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต (Hand) และด้านสุขภาวะที่ดี (Health)
นอกจากนี้ สพฐ. ยังได้นำข้อห่วงใยของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการสร้างช่องทางในการประชาสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนฯของโรงเรียนต่างๆและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงได้ได้สร้าง “คลังเมนูกิจกรรม” สนับสนุนกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อให้องค์กรหรือหน่วยงานภายนอกเสนอรูปแบบกิจกรรม หรือความต้องการให้ความร่วมมือสนับสนุนโดยสามารถเข้ามากรอกรายละเอียดข้อมูลและปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องทันสมัย และโรงเรียนนำร่องสามารถเข้ามาเลือกเมนูกิจกรรมสนับสนุนต่างๆ ที่รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบเพื่อนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ทั้งยังได้แต่งตั้ง Smart Trainer 300 ทีม เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือแนะนำให้โรงเรียนดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงทีมงานติดตามและประเมินโครงการเชิงประจักษ์อีก 38 คณะ ที่จทำหน้าที่ลงพื้นที่และเก็บรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงาน นำมาวิเคราะห์ สรุปผล และนำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาโครงการ
สำหรับผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลที่จัดทำขึ้นล่าสุด พบว่าสถานศึกษานำร่องมีความพร้อมในการดำเนินงานโดยภาพรวม ร้อยละ 86.23 โดยร้อยละ 95.31 สถานศึกษามีความพร้อมในการบริหารจัดการโครงการอย่างเต็มศักยภาพ รองลงมาร้อยละ 93.63 สถานศึกษาจัดตารางเรียนกับกิจกรรมการเรียนรู้มีความสอดคล้อง ร้อยละ 86.75 มีการจัดแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม และร้อยละ 71.55 สถานศึกษามีความพร้อมด้านการมีสื่อวัสดุอุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมและเพียงพอ
นอกจากนี้ สพฐ.เตรียมได้วางแนวทางการจัดอบรมทีม Smart Trainer เพิ่มขึ้น เพื่อรับมือการขยายผลโครงการ โดยจะเน้นไปที่กลุ่มผู้บริหาร ได้แก่ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน ที่รับผิดชอบงานด้านการนิเทศซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องรู้และเข้าใจโครงการลดเวลาเรียนฯ มากที่สุด เพราะต้องสื่อสารไปยังครู นักเรียน และผู้ปกครองให้เข้าใจในวัตถุประสงค์ของนโยบายที่ต้องการ อีกทั้งยังมีโครงการจัดประกวดคัดเลือกโรงเรียนที่จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในแต่ละด้านได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่น ๆ นำไปใช้พัฒนากิจกรรมต่อไป
สพฐ.มุ่งหวังว่า นโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” จะเป็นกลยุทธ์ในการยกระดับ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ทั้งในพื้นที่ถุรกันดาร หรือพื้นที่ที่มีปัญหาเฉพาะตัว อย่าง โรงเรียนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วย จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา ซึ่งมีสถานศึกษาในพื้นที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพอสมควร โดยที่ จ.สงขลา นายคมสันต์ อุยสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเคลียง อ.นาทวี ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สงขลา เขต 3 เปิดเผยว่าว่า นโยบายลดเวลาเรียนฯ ได้รับการตอบรับจากคนในพื้นที่เป็นอย่างดี โดยที่ ร.ร.ได้จัดตารางสอนในภาคบ่ายเป็นการเรียนชุมนุม โดยเฉพาะกีฬามวยไทย ที่มีผลงานชนะเลิศในเวทีต่างๆ และนักเรียนยังได้ออกกำลังกาย ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง
ส่วน ด.ญ.วรรณิดา ขะหวีดาโอะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ร.ร.บ้านเคลียง ระบุว่า ได้เล่นกีฬา ฝึกอาชีพมากขึ้น ไม่เคร่งเครียดในการเรียน แต่ผลการเรียนก็ดีขึ้นด้วย
แม้นโยบายลดเวลาเรียนฯ จะยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และยังพบข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ สพฐ.ก็ได้วางเป้าหมายที่จะขยายผลเพิ่มขึ้นไปในโรงเรียนอีก 15,000 แห่งในปีการศึกษา 2559 โดยจะนำผลการดำเนินการของโรงเรียนนำร่องทั้ง 3,800 แห่งมาวิเคราะห์ประเมินผล ควบคู่ไปกับการนำนโยบายไปปฏิบัติ และพัฒนานโยบายต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น