xs
xsm
sm
md
lg

“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเล่น” ต้องเริ่มที่บ้าน !/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งเรียนมาก ผลการเรียนยิ่งตกต่ำ - นี่คือความจริงของการศึกษาไทย

จนถึงขณะนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่าเด็กไทยเรียนวิชาการกันหนักมาก ติดโผจำนวนชั่วโมงเรียนวิชาการอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากลับตกต่ำ จนมาอยู่ลำดับท้าย ๆ ของอาเซียน และกลายเป็นปัญหาทางด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน จนกระทั่งรัฐบาลล่าสุดต้องมีนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” จนกลายมาเป็นประเด็นว่าสามารถแก้ปัญหาการศึกษาเรื่องจำนวนชั่วโมงเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้หรือไม่ !

เรื่องเด็กไทยเรียนวิชาการหนักแล้วส่งผลให้ประสบภาวะความเครียด โดยเฉพาะเรื่องการเรียนที่ใช้คะแนนและการสอบเป็นตัวชี้วัด ซึ่งไม่เพียงแค่สอบวัดผลในชั้นเรียน สอบระหว่างภาค สอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ยังลงไปถึงการสอบเข้าของเด็กชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาด้วย

ในขณะที่ครอบครัวไทยก็เน้นปลูกฝังเด็กที่การเรียนมากที่สุด อยากให้ลูกได้คะแนนดี ๆ พ่อแม่ทุกคนมักคาดหวังให้ลูกเรียนสูง ๆ สอบติดมหาวิทยาลัยดัง ๆ โดยเห็นว่าความรู้ที่ลูกได้จากรั้วโรงเรียนไม่เพียงพอ ระบบการศึกษาโรงเรียนไม่ได้ให้ความมั่นใจกับพ่อแม่และผู้คนในสังคม เมื่อพ่อแม่แทบทุกคนอยากให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ย่อมอยากให้ลูกเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่มีชื่อเสียงก่อน บางคนเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาหรือระดับอนุบาล จึงมีพ่อแม่จำนวนมากส่งให้ลูกเรียนพิเศษกับโรงเรียนกวดวิชาดัง ๆ แม้จะแพงแสนแพงแต่ก็ยอมหาเงินมาให้ลูกเรียนพิเศษให้ได้ เพราะหวังว่าจะทำให้ลูกเรียนดี

เรียกว่าระห่ำเรียนกวดวิชาตั้งแต่เล็กจนโต เรียนทั้งวันธรรมดาและวันหยุด หรือแม้กระทั่งช่วงปิดเทอม เด็ก ๆ ก็เรียนรู้ว่าต้องเรียน และต้องเรียน

โดยมิได้สนใจว่าลูกจะเครียดหรือไม่ !

ที่หนักใจไปกว่านั้นก็คือการเรียนการสอนในบ้านเรายังเป็นรูปแบบ “เรียนเพื่อสอบ” มากกว่า “เรียนเพื่อรู้” เชื่อหรือไม่เด็กไทยเรียนหนักมากที่สุดในโลก แต่ไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ ทั้งนี้ เนื่องจากระบบการศึกษาไม่ได้ตอบสนองต่อการนำความรู้ที่ได้ไปตอบโจทย์การทำงานจริงในอนาคต แต่กลับเน้นการวัดผลคะแนนและการสอบเป็นหลัก

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพราะระบบการศึกษาเท่านั้น แต่เกิดจากทัศนคติของคนเป็นพ่อแม่ด้วย ที่วัดความดีด้วยความเก่ง(ในการสอบ)ของลูก จนกลายเป็นสร้างความกดดันให้กับลูกทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

ในขณะที่เวลาเด็กเล่น พ่อแม่กลับมองว่าเด็กไร้สาระ ใช้เวลาไม่เป็น ไม่ทำตัวให้มีประโยชน์ และก็ต้องให้ไปท่องหนังสือเรียนเท่านั้น

ที่จริงแล้วเรื่องการเล่นเป็นเรื่องสำคัญของเด็กที่คนเป็นพ่อแม่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะรูปแบบการเล่นของลูก ส่งผลต่อการเติบโตของลูกทั้งชีวิตได้เลยทีเดียว

เพราะประโยชน์ของการเล่น นอกเหนือจากความสนุก ความสุขแล้ว ถ้าเด็กได้เล่นเหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยด้วยก็จะยิ่งช่วยเรื่องพัฒนาการทางสมอง และได้เรียนรู้ทักษะชีวิตของลูกผ่านการเล่นด้วย

และถ้าพ่อแม่มีส่วนต่อการเล่นของลูกด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ลูกจะได้รับความรัก ความอบอุ่น และความมั่นคงทางจิตใจอีกต่างหาก

การเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กและเป็นสิ่งสำคัญมาก ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเล่นจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กในด้านต่าง ๆ เพราะการเล่นจะทำให้เด็กได้พบกับการแก้ปัญหา การแบ่งปัน การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น รู้จักการเป็นผู้นำและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังช่วยให้เด็กได้ใช้พลังงานและจินตนาการอีกมากมาย
หรือแม้แต่ของเล่นก็มีมากมายหลากหลายชนิดที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ และค้นพบว่าจะเล่นวิธีไหน อย่างไร เล่นแล้วออกมาเป็นรูปแบบใด ทำให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเล่นจึงมีบทบาททำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดสร้างสรรค์

แต่ของเล่นที่สำคัญที่สุดคือได้เล่นกับพ่อแม่ ค่านิยมที่เข้าใจว่า การเล่นเป็นเรื่องของเด็กเท่านั้น เป็นเรื่องที่ผิด เพราะผู้ใหญ่ก็สามารถเล่นได้ และการเล่นของผู้ใหญ่จะไปช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้กับลูกต่อไปได้ด้วย เพราะขณะที่กำลังเล่นกัน พ่อแม่สามารถสอดแทรกเรื่องราวดี ๆ ที่ต้องการปลูกฝังให้กับลูกได้มากมาย

การเล่นที่ดี และได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการและสมองของลูก รวมไปถึงการเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กได้อย่างรอบด้าน เป็นการเรียนรู้ชีวิตของตัวเด็กเอง

ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เคยบัญญัติศัพท์การเรียนเพื่อความรู้ว่า “เพลิน” มาจากคำว่า Play + Learn

การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเล่น ให้ได้ผลต้องเริ่มจากที่บ้านก่อนค่ะ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น