xs
xsm
sm
md
lg

“จะสอนต่อไปจนกว่าจะหมดแรง” ครูปิ๊ก-คชาภรณ์ จิตอาสาสอนเชิดหุ่นกระบอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ภายใต้การมีอยู่ที่เลือนลางในศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมไทยหุ่นกระบอก ทว่า กลับมีแสงระยิบส่องมาจากอัญมณีที่ล้ำค่ารอให้ช่างสาวหัวใจจิตอาสาทำการเจียระไนให้ออกมาสมบูรณ์พร้อมในแบบของมัน ครูปิ๊ก-คชาภรณ์ สำราญใจ ครูอาสานักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยผู้ส่งต่อความเป็นไทยสู่คนรุ่นหลัง อีกทั้งเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยชฎานางหุ่นกระบอก เพื่อให้เด็กยุคใหม่ได้รู้ในคุณค่า ก่อนที่ศิลปะแขนงนี้จะเลือนหายไปจากสังคมไทย . .

“ครูสอนงานไทยๆ ต้องดูเนี้ยบๆ หน่อย ดูจริงจัง แต่เปล่าเลยครูนี่สอนแบบตลกๆ (หัวเราะ) แต่จะคุยกับเด็กเสมอว่า ตอนนี้เล่นนะ เด็กจะเป็นตัวเองได้เต็มที่ แต่พอเรียนจริงจังต้องตั้งใจ พอเด็กจับหุ่นปุ๊บมันกลายเป็นบล็อกของมันไปเลย ครูจะสอนเด็กแบบนี้ตลอด”

ครูปิ๊ก-คชาภรณ์ ครูนักอนุรักษ์งานไทยหัวใจจิตอาสา กล่าวสั้นๆ ถึงสไตล์การสอนในแบบเธอเอง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าทางด้านงานศิลปวัฒนธรรมไทยเช่นนี้ เธอจะมีวิธีการสอนที่ดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ให้สนใจงานไทยได้อย่างน่าแปลกใจ ฟังดูแล้วทำให้ลบภาพครูสอนมาดขรึม ลุคนิ่งเงียบ ชวนไม่อยากเรียนไปจนหมดจรด

“การสอนของครูคือต้องทำให้เด็กไว้ใจและชอบเราก่อน ครูบ้าๆ บอๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่นะ (หัวเราะ) เพียงแต่ว่าเราสอนเด็กจะไปทำแข็งแรง เงียบขรึมไม่ได้ ครูจะพูดสไตล์นี้ ไม่ได้ซีเรียสเรื่องพวกนี้ แต่ครูซีเรียสว่าเด็กได้อะไรไปมากกว่า”

สิ่งที่ทำให้ “การให้” สมบูรณ์แบบที่สุด คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ครูคนหนึ่งหยิบยื่นให้เพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือผลลัพธ์ที่เกิดจากตัวผู้รับว่าได้อะไรกลับไปและทำให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนมากกว่า นี่คือเจตจำนนที่ครูธรรมดาๆ คนหนึ่งอยากให้เกิดขึ้น ก่อนครูปิ๊กจะเล่าต่อถึงจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ถนนสาย “ความสุข ต่อจากนี้

 
“เมื่อก่อนครูทำงานเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ มีได้ไปสัมภาษณ์เกี่ยวกับงานไทยๆ รู้สึกว่ามันเงียบดี ถ้าได้ทำคงน่าสนุก พอหมดสัญญาเริ่มรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแนวที่ทำ ตอนแรกเริ่มไปเรียนรู้ตามสถานที่ต่างๆ ก่อนว่าแต่ละที่เป็นยังไง ต่อมาก็ไปจบที่อาจารย์ “ตู่-วรวินัย หิรัญมาศ” ที่เพาะช่าง พอได้เข้าไปคุยกับอาจารย์ก็สอนเรื่องการทำหัวโขน การทำหุ่นกระบอก

เคยไปเรียนกับยาย “ชื้น สกุลแก้ว” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง อยู่ครั้งหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ พอคุณยายเสียก็ไปเรียนกับลูกศิษย์ยายเชื้อชื่อ “ครูแอด” เรียนการเชิดจนชอบเริ่มทำมาเรื่อยๆ ครูรู้สึกได้ว่าที่ผ่านมาการทำงานด้านรายการโทรทัศน์ มันไม่มีความสุข ด้วยตัวเงินเยอะก็จริงแต่ว่ามันร้อนลน มันไม่ได้พักต้องเหนื่อยตลอด ออกกองถ่าย หาสถานที่เยอะไปหมด”

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูปิ๊กมีความคิดอยากเปลี่ยนสายการทำงานดูสักตั้ง เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาของเธอแม้จะให้อะไรหลายอย่าง แต่กลับไม่ได้มอบความสุขให้เธอได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา “เริ่มรู้สึกได้ว่าอยากหางานนิ่งๆ จึงเริ่มมาทำงานนี้ก็เริ่มรู้สึกดี มีความสุขและไม่ได้โหยหาเงินมากนัก ตอนนั้นเราทำธุรกิจรายการโทรทัศน์มันเหนื่อยมาก พอทำมาสักพักจะรู้เลยว่าเราชอบความสุขมากกว่าเงิน คือไม่ได้ปฏิเสธเงิน แต่ชอบแบบนั้นมากกว่า”

นี่อาจเป็นโชคชะตาที่ขีดเขียนเส้นทางให้เธอได้มาอยู่ในจุดๆ นี้ แม้จะสำเร็จการศึกษาจากภาควิชาดนตรีสากล จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งบอกเลยว่าสิ่งที่ได้เรียนมานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับสายงานด้านศิลปะประเภทหัวโขนแต่อย่างใด เส้นทางถูกขีดเขียนมาให้ได้บรรจบลงตรงสิ่งที่เธอรัก

“ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนด้านนี้มาก่อน จบดนตรีสากลที่บ้านสมเด็จฯ พอมาเรียนรู้ด้านนี้ครูกลับเรียนรู้ได้เร็ว จึงเริ่มเกิดความคิดขึ้นมาว่า เรามีความสุขที่ได้ทำหุ่นกระบอก แล้วถ้าเราได้สอนคนอื่นมันน่าจะมีความสุขด้วยเหมือนกัน”

เรื่องราวของเธอเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตัดสินใจเช่าพื้นที่เพื่อเปิดสอนงานด้านนี้แบบฟรีๆ ให้กับคนที่สนใจ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องสอนฟรีครึ่งหนึ่งและทำงานไปด้วยเป็นกำลังเสริมอีกครึ่งหนึ่ง ทว่า สิ่งที่ตั้งใจไว้กลับผิดแผนไปเสียนี่ เพราะด้วยหัวใจครูอาสาของเธอนี่เอง ทำให้เธอสนุกกับการสอนฟรีๆ แบบไม่คิดตัง จนทำให้เธอไม่มีเงินมาจุนเจือในส่วนของค่าห้อง

“จากนั้นไปเช่าที่อยู่ที่พรานนก คิดไว้ว่าจะสอนฟรีครึ่งหนึ่งและทำงานครึ่งหนึ่ง เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าห้อง แต่ว่าสอนฟรีเพลินทำให้ไม่มีตังจ่ายค่าห้อง ข้าวก็เลี้ยงเด็ก เพราะเด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่แล้วฐานะทางครอบครัวไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก พอทำไปสักครึ่งปีก็คิดว่าน่าจะไปสอนในโรงเรียน ตอนนั้นเก็บตังได้ก้อนหนึ่งนำมาซื้อรถตู้เก่าๆ คันหนึ่ง และใช้เวลาในการทำหุ่น 20 ตัวใน 3-4 เดือน เอาขึ้นรถไปขอเขาสอนตามโรงเรียน”


 
นอกจากนี้ครูปิ๊กยังเป็นผู้ก่อตั้งชมรมศูนย์เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย "ชฎานางหุ่นกระบอก" อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย การเรียนการสอนหลักๆ เน้นในเรื่องการเชิดหุ่นกระบอก แต่ด้วยความที่ครูปิ๊กเกรงว่าจะน่าเบื่อเกินไป จึงมีการเพิ่มกิจกรรมและการเรียนในด้านอื่นๆ เข้ามาเป็นออปชั่นเสริมด้วย ถือได้ว่าเป็นครูที่ไม่ธรรมดาจริงๆ

“ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยชฎานางหุ่นกระบอกอยู่ที่อัมพวาค่ะ ขอหลวงพ่อใช้สถานที่ ซึ่งเป็นบ้านทรงไทยที่ทางวัดไม่ได้ใช้ เราเข้าไปบูรณะใหม่ ตกแต่งใหม่ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ในระแวกนั้นจะบอกปากต่อปากกันว่าครูปิ๊กสอนเด็กให้ฟรี เลี้ยงข้าว เลี้ยงอาหารด้วย

หลักๆ จะสอนเรื่องการเชิดหุ่นกระบอก เด็กที่มาเรียนไม่ได้อยู่แค่ชั่วโมงสองชั่วโมง อยู่ทีเป็นวันทั้งเสาร์-อาทิตย์เลย ครูคิดว่าถ้าสอนเชิดหุ่นฯ อย่างเดียวจะน่าเบื่อ น่าจะเพิ่มกิจกรรมอื่นๆ เข้าไปด้วย พวกการร้อยพวงมาลัย การทำขนมไทย หุงข้าว-ทำกับข้าวกินเอง หลายโรงเรียนก็เริ่มเวียนมาดู นักท่องเที่ยวเริ่มแวะมาดูเพราะเป็นสถานที่ที่น่าสนใจ”

“ครูไม่ได้สอนเด็กแค่การเชิดหุ่นกระบอกและการปักผ้า แต่ครูพยายามสอนเด็กด้วยว่าให้เขารู้ว่าในสังคมปัจจุบันเป็นแบบไหน การใช้ชีวิตจริงๆ มันเป็นแบบไหน”

น้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำสัมผัสได้ถึงพลังแห่งความตั้งใจจริงที่ครูปิ๊กพร้อมมอบให้กับลูกศิษย์อันเป็นที่รัก ครูปิ๊กยังขยายความต่อว่าสิ่งที่ได้สอนให้เด็กนั้น ไม่เพียงแต่การให้ความรู้ด้านแขนงวิชานี้เพียงอย่างเดียว ทว่า ยังมีการสอดแทรกเรื่องของการใช้ชีวิตในสังคมไทย การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และการสอนให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองและยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนให้ได้

“มันมีอะไรตั้งหลายอย่างที่ครูสอดแทรกเข้าไป ในเรื่องของการทำงานเป็นกลุ่ม การอยู่ร่วมกันเป็นแบบไหน การใช้ชีวิตเป็นแบบไหน เพราะครูใช้ชีวิตมาคนเดียวเหมือนกัน ดังนั้นการถ่ายทอดให้เด็กคือจะไม่สอนให้เด็กอ่อนแอ จะสอนให้เด็กช่วยเหลือตัวเองหรือสอนให้เด็กยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้ ครูไม่รู้ว่ามันคือความภูมิใจหรือเปล่า แต่ครูมั่นใจได้เลยว่าครูจริงใจกับสิ่งที่ทำ และจริงใจกับเด็กทุกคนที่เข้ามาเรียน”

 
ด้วยภาระหน้าที่ทำให้ครูปิ๊กต้องย้ายมาอยู่ที่อำเภอนครชัยศรี แต่ความตั้งใจของเธอไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เธอยังตั้งใจอยากสร้างโรงเรียนเล็กๆ เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจเข้าแวะเวียนมาเยี่ยมชม รวมถึงให้ความรู้ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนหล่อ การปั้น การทำหุ่นกระบอกในฐานะครูผู้มีแต่ให้

“ตอนนี้ย้ายมาอยู่ที่นครชัยศรีค่ะ ในพื้นที่บริเวณบ้านครูปิ๊กเอง มีความตั้งใจไว้ว่าอยากสร้างโรงเรียนเล็กๆ ที่สามารถสอนเด็กได้ หรือโรงเรียนไหนที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้เลย ตั้งแต่ขั้นตอนการหล่อ การปั้น เราอยากสอนให้เด็ก ตอนนี้กำลังเริ่มดำเนินการอยู่ค่ะ”

ต้องยอมรับเลยว่าปัจจุบันนี้งานศิลปวัฒนธรรมด้านการทำหุ่นกระบอกหลงเหลืออยู่น้อยมาก โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นครูอาสา น้อยคนนักที่ยังแสดงเจตนารมณ์ยืนหยัดอยู่เพื่ออนุรักษ์งานไทยๆ เฉกเช่นครูปิ๊ก ทว่า แม้ความหวังจะเลือนลางเพียงใด แต่หัวใจที่เต็มร้อยด้านงานอาสาคือแรงบันดาลใจให้เธอนั้นทำต่อไป

“ตอนนี้ไม่มีคนสอนแล้ว เหลือน้อยมาก อีกอย่างเขาทำในเชิงธุรกิจ เขาไม่ได้ทำในเชิงของการให้ ไม่ได้เป็นลักษณะนั้นแล้ว ครูยังอยากเป็นอาสาสมัครเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยฐานะครอบครัว ถ้าครูมีตังครูจะเปิดศูนย์ขึ้นมาเลย ใครอยากเรียนมาเรียน และครูจะอนุรักษ์งานนี้ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ไป ถามว่าครูทิ้งเรื่องการสอนไหม ไม่ทิ้งแน่นอน”

ใช่ว่าทุกอย่างจะราบเรียบอย่างที่ตั้งใจไว้ทั้งหมด การเป็นครูอาสาต้องมีแรงใจที่หนักแน่นและแน่วแน่ ทว่า อุปสรรคที่ครูปิ๊กกำลังจะบอกกับทีมงานต่อไปนี้ คือเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ 

“ปัญหาของครูอาสาจริงๆ คือ เวลาที่ครูไปสอนตามโรงเรียน เราพร้อมอยู่แล้วเพราะเราเป็นช่าง เวลาไปสอนครูมีหุ่น-มีวัสดุอุปกรณ์ที่จะไปสอน แต่พอกลับมาแล้ว โรงเรียนเขาไม่มี ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนยากจนยิ่งไม่มีใหญ่เลย มันเหมือนการไปสอนครั้งนั้นมันเปล่าประโยชน์ มันเป็นการอนุรักษ์แบบไม่ได้ต่อยอด

ครูเคยคิดไว้ว่าถ้ามีบริษัทเอกชนที่อยากอนุรักษ์ มีทุน มีพาวเวอร์ สร้างหุ่นกระบอกให้โรงเรียนได้ ไม่ต้องให้ครูด้วยแต่ให้โรงเรียน อันนี้คือที่ครูคิดจะทำเพราะต้องการแก้ปัญหาตรงที่ว่า พอครูไปสอนโรงเรียนกลับมา แล้วเราเอาของๆ เรากลับทั้งหมด มันก็ไม่เกิดประโยชน์เพราะไม่ใช่การอนุรักษ์ แค่ให้เด็กรู้เท่านั้นเอง เราอยากให้โรงเรียนนั้นนำไปต่อยอดต่อไป”

ส่วนในบั้นปลายชีวิตครูปิ๊กตั้งใจไว้ว่าอยากจะมีบ้านเล็กๆ ไว้หลังหนึ่งที่สามารถให้คนได้เข้ามาเรียนรู้งานไทยๆ เพราะด้วยวิชาช่างที่เรียนมาทำให้ครูจิตอาสาคนนี้ไม่ได้อยู่นิ่ง ต้องศึกษาอะไรหลายอย่างมันทำให้แข็งแรง จึงต้องสร้างในสิ่งที่อยากเห็นให้เกิดขึ้น แต่ในเรื่องการสอนครูไม่ทิ้งอยู่แล้ว เพราะนั่นคือสิ่งที่ครูรัก. .

------------------------------------------------------------------

เรื่องโดย : พิมพรรณ มีชัยศรี
ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุค 'ชฏานาง หุ่นกระบอก'

กำลังโหลดความคิดเห็น