ได้รับการจับจ้องไม่น้อยไปกว่าความสง่างาม อลังการของช้างคู่แผ่นดินทั้ง 11 เชือกที่มาร่วมสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระบรมมหาราชวัง สำหรับ "หมอพลอย-สัตวแพทย์หญิง ลาดทองแท้ มีพันธุ์" ควาญคชสารร่างเล็กแห่งวังช้างอยุธยา แล เพนียด
นับเป็นหญิงไทยหนึ่งเดียวในขบวนช้างมงคลงางามที่เรียกความสนใจจากบรรดาช่างภาพจนมีการแชร์ และสืบประวัติจนกลายเป็นคนดังที่สื่อหลายสำนักรีบคว้าตัวไปสัมภาษณ์ เช่นเดียวกับทีมงานผู้จัดการ Lite ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอในแบบชนิดที่เรียกได้ว่าเอ็กซ์คลูซีฟสุดๆ
อลังการ "งานช้าง" แห่งชาติ
สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ชาวไทย และต่างชาติ เมื่อมูลนิธิพระคชบาลจากวังช้างอยุธยา แล เพนียด นำช้างงางาม เพศผู้ 11 เชือก เดินทางโดยรถบรรทุกจำนวน 3 คัน มาจากจ.พระนครศรีอยุธยาด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่อง หรือเครื่องคชาภรณ์ เป็นผ้าโทนสีดำ-ขาว สวย และสง่างาม พร้อมกับผู้ดูแลช้าง อีกกว่า 200 คนที่แต่งกายในลักษณะชุดขุนศึก เพื่อถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระบรมมหาราชวัง
แน่นอนว่า ใครที่ได้ไปสัมผัสความอลังการอย่างใกล้ชิด ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สวยสง่างาม สมกับเป็นการถวายพระเกียรติอันยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับ "หมอพลอย" ควาญสาวหนึ่งเดียวในขบวนช้างมงคลงางาม ที่เผยถึงความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้
"ภาคภูมิใจมากค่ะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในขบวนช้างมงคลงางามเพื่อถวายความอาลัยในหลวงรัชกาลที่ ๙ และภูมิใจที่แสดงให้คนไทย และคนทั่วโลกได้เห็นถึงพลังแห่งความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่าน ซึ่งกระแสตอบรับดีมากๆ ค่ะ ส่วนตัวดีใจที่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้คนไทยได้รู้ และเข้าใจว่าช้างนั้นยิ่งใหญ่ สวยงาม และมีความสำคัญต่อประเทศชาติขนาดไหน" ควาญสาววัย 28 ปีเผยถึงความรู้สึก
สำหรับ "หมอพลอย" เธอเป็นผู้ฝึกสอนช้าง และสัตวแพทย์ของวังช้างอยุธยา แล เพนียด จ.อยุธยา ลูกสาวของ นายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ เจ้าของวังช้างอยุธยา แล เพนียด ซึ่งเป็นสถานที่เก็บตัว และฝึกช้างในการเดินขบวนเพื่อร่วมถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช
พลายกิ่งแก้ว ช้างคู่ใจหมอพลอย
อย่างไรก็ดี การนำช้างทั้ง 11 เชือกมาเดินขบวนเพื่อถวายสักการะในวันนั้น เธอบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ด้วยความฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี ประกอบกับบารมีของ "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" และความร่วมมือของประชาชนชาวไทยทุกคน ทำให้ทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่น
"ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกๆ คนนะคะที่ร่วมเป็นกำลังใจให้กับช้างทุกเชือก และทีมงานทุกคน วันนั้นคนไทยทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจนทำให้ขบวนช้างมงคลงางามผ่านไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะหลายๆ หน่วยงานที่พอทราบว่าจะมีการนำช้างมงคลงางามเข้ามาถวายสักการะบริเวณท้องสนามหลวงก็คอยให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี สำหรับช้างนั้น มีการนำมาจากหลายที่ค่ะ แต่มาเก็บตัวฝึกซ้อมอยู่ที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด ซึ่ง 3 ใน 11 เชือกเป็นของที่แล เพนียด เป็นช้างนำอยู่ด้านหน้า
ส่วนช้างที่พลอยขึ้นไปนั่ง เป็นช้างพลายกิ่งแก้ว โตในจ.อยุธยา อยู่กับวังช้างของเรามาตั้งแต่อายุประมาณ 3 ขวบครึ่ง และเป็นช้างที่เรียนรู้ไวมาก เวลาที่พลอยสอน หรือฝึกอะไร เขาจะมีความตั้งใจเหมือนเด็กที่ตั้งใจเรียน เวลาจะทำอะไรเขาจะมีความมุ่งมั่นสูงมาก จะไม่มีการวอกแวก แต่หลังจากเสร็จการฝึกซ้อมแล้ว เขาก็เหมือนช้างในวัยเดียวกับเขา (ปัจจุบันอายุ 16 ปี) จะเดินเล่นไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยสนใจใครตามประสาวัยรุ่นอ่ะค่ะ (หัวเราะ) นอกจากนั้นยังเป็นช้างที่ค่อนข้างมีโลกส่วนตัวสูงมากๆ ด้วย" ควาญสาวเล่าไปยิ้มไป
แม้จะเป็นช้างวัยฮอร์โมน แต่พอถึงวันเดินสวนสนามเพื่อร่วมถวายสักการะพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ พลายกิ่งแก้วทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีมาก
"เขาตั้งใจมากค่ะ ไม่วอกแวกเลย เขาจะฟังแต่จังหวะเสียงกลองซึ่งโดยปกติเราในฐานะควาญช้างต้องช่วยให้สัญญาณบ้าง แต่เขาแทบจะไม่ต้องส่งสัญญาณอะไรให้เลย เขาจะมีสมาธิกับจังหวะกลองอย่างเดียว อีกอย่างหนึ่งก็คือ เวลาที่มีคนรุมเข้ามาเยอะๆ ถ้าหลายคนสังเกต พลอยจะพาพลายกิ่งแก้วเข้าไปช่วยตำรวจกันคน ซึ่งเขาจะเป็นช้างที่นุ่มนวล
เวลาบอกให้กันคน เขาจะค่อยๆ เอาตัว เอางวงแตะๆ ดันๆ เพื่อบอกให้รู้ว่า หลบหน่อยนะครับ แต่ถ้าเป็นช้างบางตัวเขาอาจจะฟาดไปทั่วเลย ซึ่งเสี่ยงอันตรายมากๆ ค่ะ และการเอาช้างงามารวมกันในที่เดียวกันแบบนี้ เป็นอะไรที่อันตรายอยู่แล้วด้วย แต่วังช้างอยุธยา แล เพนียด เราเป็นสถานที่ฝึกช้าง เหมือนทหารฝึกทหาร ดังนั้นจึงวางใจในเรื่องของความปลอดภัยไปได้ค่ะ" ควาญสาวคนเก่งบอกถึงความน่ารักของช้างพลายคู่ใจ
เบื้องหลังฝึกช้างที่หลายคนอาจไม่รู้
สำหรับช้างทั้ง 11 เชือกในขบวนช้างมงคลงางาม แม้จะเคยผ่านพิธีรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาแล้ว เมื่อครั้งเสด็จ ณ ทุ่งมะขามหย่อง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 แต่เบื้องหลังความเป็นระเบียบ สวยงาม อลังการในวันเดินขบวนถวายสักการะพระบรมศพ คือสิ่งที่ใครหลายคนอยากรู้
"เรามีการฝึกซ้อมกันเช้าเย็น เริ่มตั้งแต่การนำช้างไปออกกำลังกายร่วมกันกับควาญช้าง มีการฝึกความพร้อมเพรียงในการเดินสวนสนามของช้างด้วยการเยื้องย่างอย่างมีจังหวะหรือคชลีลา ถามว่ามีท่าไหนยากเป็นพิเศษไหม ไม่มีค่ะ ซึ่งนอกจากช้างแล้ว ควาญช้างคือคนที่เราต้องให้ความสำคัญเช่นกัน ซึ่งที่นี่เราก็ช่วยกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกันค่ะ เพราะการฝึกช้าง เราจะใช้ความรุนแรงกับเขาไม่ได้ แล้วอีกอย่าง การฝึกให้ช้างเข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นควาญช้างทุกคนต้องใช้ความอดทนสูง บางคนท้อ บางคนเหนื่อยแต่ก็ทุกคนก็ผ่านมันมาด้วยดีค่ะ
อย่างพลอยเองเป็นหนึ่งในควาญช้าง วิธีละลายพฤติกรรมของช้างให้เชื่อฟังก็คือ เราต้องคลุกคลีอยู่กับเขาทุกๆ วัน ตั้งแต่พาไปอาบน้ำ ให้อาหารเขา เพราะต้องเข้าใจว่าช้างงา เป็นช้างที่ค่อนข้างซื่อสัตย์ และไม่เอาคนอื่นเลยนอกจากผู้เลี้ยง หรือผู้ฝึกสอน ถ้าอยู่ดีๆ คนอื่นเข้ามาจับ เขาจะไม่ยอม หรือต่อให้เป็นควาญ แม้จะยอมให้จับ หรือขึ้นไปขี่คอ แต่ก็เสี่ยงอันตรายได้เหมือนกัน เพราะเมื่อไรที่ช้างไม่ชอบก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ความผูกผันคือสิ่งสำคัญ เพราะต่อให้เก่งแค่ไหน ช้างจะกลัวแค่ไหน มันก็ต้องมีสักวันหนึ่งที่จะพลาดได้ถ้าเขาไม่ได้รักเรา"
เมื่อถามถึงการคัดเลือกช้าง นอกจากหลักคชลักษณ์ งา เล็บ รูปร่างแล้ว "จิตประสาทของช้าง" คือสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้
"การคัดเลือก หนึ่งเราต้องเลือกช้างที่มีจิตประสาทมั่นคง ไม่วอกแวก ไม่ลุกลี้ลุกลน พูดง่ายๆ คือมีความใจเย็น เหมือนทหารที่จะดูนิ่งๆ สุขุมนุ่มลึก สองคือความพร้อมในเรื่องของสุขภาพ และที่สำคัญคือ ความพร้อมของควาญช้าง เพราะควาญกับช้างต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน หลังจากฝึกไปได้สัก 10 วันก็ต้องมาดูอีกว่า ช้างเหล่านี้ประสานกันได้ดีไหม มีความพร้อมเพรียงกันไหม ถ้าเชือกไหนไม่พร้อม คือทำควบคู่กับไปเชือกอื่นไม่ได้ เราก็จำเป็นต้องคัดเขาออกจากกลุ่ม เพราะช้างบางเชือกเวลาอยู่ในกลุ่ม เขาจะระแวง
อย่างที่บอกค่ะ ช้างงา เอามาร่วมกลุ่มกันค่อนข้างมีความเสี่ยง เพราะบางเชือกระแวงเชือกข้างๆ หรือเชือกด้านหลัง อย่างที่เห็นการตั้งขบวนในวันเดินสวนสนาม ด้านข้างก็เป็นช้างงา ด้านหลังก็เป็นช้างงา ตอนฝึกถ้าบางเชือกเขาระแวง เราก็ไม่สามารถนำมาทำงานได้ ไม่เช่นนั้นจะเสียขบวนค่ะ"
ไม่ถามไม่ได้ถึงอุปกรณ์อย่าง "ตะขอ" ที่ใครหลายคนมองว่าเป็นเครื่องมือทารุณช้าง "ต้องเข้าใจก่อนว่า ตะขอคืออุปกรณ์การสื่อสารอย่างหนึ่งค่ะ" เธอบอก ก่อนขยายความต่อไปว่า "บางคนที่ขี่ช้าง หรือต้องควบคุมช้าง เขาอาจใช้มันไม่เป็น หรือไม่มีครูคอยสอน ซึ่งการเลี้ยงช้าง คุมช้าง เราจะใช้แต่ตะขอเพื่อการบังคับอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมีความรักด้วยค่ะ
ดังนั้น ตะขอสำหรับพลอยใช้แค่สื่อสารกับเขา เช่น จะให้เขายกขา พลอยจะใช้ตะขอในการชี้บอกเขา หรือใช้ด้ามแตะบอกเขา หรือถ้าด้ามแตะแล้วไม่รู้สึก เราอาจจะใช้ปลายตะขอในการสะกิดบอกเขาแทน ซึ่งคนที่อยู่บนคอช้างจะรู้ดีว่าช้างกำลังคิดอะไร หรือกำลังจะทำอะไร
เวลาที่เรานั่งอยู่บนคอช้าง มันจะมีในเรื่องของกล้ามเนื้อ บางทีอยู่ดีๆ ช้างเกร็งตัว หรือเกร็งคอมากเกินไป นั่นแสดงว่าเกิดความผิดปกติขึ้นละ เช่น เริ่มไม่พอใจคนที่กำลังจับ หรือสัมผัสตัวเขาอยู่ด้านล่าง เราในฐานะควาญช้างจึงต้องเคาะเตือนสติก่อน ซึ่งเรื่องแบบนี้คนที่ไม่ได้อยู่บนคอช้าง หรือไม่ได้รู้จักช้างดีพอ มักจะมองแค่ว่าควาญทารุณช้าง แต่จริงๆ แล้วแค่ยับยั้งเหตุไว้ก่อนค่ะ แล้วจุดที่เขาตีก็ไม่ได้เป็นอันตรายกับช้างด้วย
อีกอย่างช้างแต่ละเชือกไม่ใช่ราคาถูกๆ (หัวเราะ) อย่างช้างที่ไปสักการะในวันนั้น ตกเชือกละประมาณ 7-8 ล้านบาท หรือต่อให้เป็นช้างที่ไม่ได้สวยแบบช้างในขบวน ราคา 1 ตัวก็ตกอยู่ที่ 3 ล้านบาทแล้ว ดังนั้นควาญจะรู้ และไม่ทำอะไรที่เป็นอันตรายกับช้างค่ะ เพราะมันไม่คุ้มกัน"
คลุกคลีกับช้างตั้งแต่ 5 ขวบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "หมอพลอย" คลุกคลีกับ "ช้าง" มาตั้งแต่เด็กๆ โดย "พลายน้ำโชค" เป็นช้างตัวแรกที่คุณพ่อมอบให้เป็นของขวัญวันคล้ายวันเกิด
"คุณพ่อเป็นนักสัตววิทยาค่ะ และมักจะนำสัตว์ป่วยมาช่วยเหลืออยู่แล้ว ซึ่งตอนเด็กๆ ประมาณ 5 ขวบพลอยเห็นหนังสือพิมพ์ลงข่าวช้างเรร่อนที่ป่วยเยอะมาก พลอยจึงขอคุณพ่อให้นำช้างที่ป่วยมารักษา และสุดท้ายก็ได้ช้างวัย 2 ขวบเป็นของขวัญวันคล้ายวันเกิด ปัจจุบันยังอยู่ค่ะ ชื่อว่าพลายนำโชค แต่ว่าดุมาก (ลากเสียงยาว) เพราะตอนนั้นคุณพ่อยังไม่เข้าใจถึงหลักการเลี้ยงดูช้าง ซึ่งคุณพ่อเลี้ยงเหมือนลูกคน พอเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ ช้างก็เข้าใจว่าเป็นคนจึงมีทั้งความอิจฉา และความหวงคุณพ่อมาก
บางครั้งก็ให้พลอยกับพี่ชายเล่นด้วย แต่บางครั้งถ้าเข้าใกล้คุณพ่อ เขามีทีท่าจะชนทันที และยิ่งพลอยโตขึ้น เขาก็ยิ่งแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมาเยอะ ทางคุณพ่อก็เริ่มเป็นกังวล จึงเริ่มให้ช้างเชือกอื่นๆ ที่เดินผ่านแถวบ้านมาอยู่ใกล้พลายนำโชคเพื่อให้เขาได้เรียนรู้พฤติกรรมของช้าง แต่ก็ช้าไปแล้วค่ะ เขาเอาแต่ใจไปแล้ว ตอนนี้อายุ 21 ปี ต้องมีควาญดูแลเป็นพิเศษ แต่ข้อดีของพลายนำโชคก็คือ ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว เขาไม่เคยดุใส่นักท่องเที่ยวเลยนะ เพราะเขารู้ว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวมาเพื่อมาดูเขา มาเล่นกับเขา มาให้ขนมเขากิน"
ด้วยความที่มีคุณพ่อเป็นนักสัตววิทยา บวกกับพื้นฐานของคนรักสัตว์ เธอจึงเลือกเรียนคณะสัตวแพทย์เพราะอยากช่วยเหลือ "ช้าง" โดยตรง
"จำนวนของสัตวแพทย์ในประเทศไทยที่ดูแลช้างยังมีไม่มาก ปัจุบันดูแลช้างที่อยู่ในการดูแลของวังช้างอยุธยา แล เพนียดเป็นหลัก โดยในทุกๆ วันจะต้องเข้าไปตรวจดูช้าง เข้าไปพูดคุยกับควาญช้าง เพราะบางทีควาญเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด อาจจะด้วยความที่เขามาจากต่างจังหวัด พลอยจึงต้องเข้าไปคุยกับเขาบ่อยๆ เพื่อให้เขาเล่าอาการของช้าง ลำพังแค่ถามว่าวันนี้ช้างเป็นยังไงบ้าง เขาก็จะบอกแค่ว่าช้างสบายดี"
ปัจจุบัน นอกจากจะทำหน้าที่ดูแลช้างแล้ว ยังเป็นภรรยาที่น่ารักของ "วิปกรณ์กริช" ลูกชายฟาร์มม้าที่ทองสมบูรณ์คลับ โดยงานแต่งของทั้งสองเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก หลังมีการนำช้าง และม้าเข้ามาร่วมพิธีมากมายหลายเชือกหลายตัว
ช้างอยู่ได้เพราะการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ในฐานะผู้คลุกคลีอยู่กับช้าง หากให้มองสถานการณ์ช้างในปัจจุบัน เธอบอกว่า ปีหน้าปัญหาช้างเร่ร่อนคงจะได้รับการแก้ไขที่ดีขึ้น ส่วนวงการช้างทุกวันนี้อยู่ได้พราะการท่องเที่ยวเป็นหลัก
"อย่างที่เราๆ รู้กันว่า ช้างไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นแล้ว ไม่เหมือนสมัยก่อน ดังนั้นการให้ช้างคงอยู่ต่อไป และควาญช้างมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพก็ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนตัวอยากให้คนไทยเห็นความสำคัญของช้าง เข้าไปเที่ยวในสถานที่ที่มีช้างเพื่อให้ช้างคงอยู่กับเราต่อไป
ส่วนคำถามที่ใครหลายคนบอกว่า แล้วทำไมไม่ปล่อยช้างคืนสู่ป่า เราต้องเข้าใจก่อนว่า ตอนนี้แม้กระทั่งช้างป่าก็อยู่กันยาก ในขณะที่ปัญหาช้างบ้านแทบจะน้อยกว่าช้างป่าด้วยซ้ำ เพราะช้างบ้านมีคนดูแล ช้างป่าไม่มีคนดูแล สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน ถ้าเอาช้างบ้านไปคืนป่า ไม่ต้องถึงป่า แค่เอาไปปล่อยไว้กลางทุ่งนา หรือป่าหลังบ้าน เขาก็กลัวแล้วค่ะ ที่สำคัญ ช้างงาถ้าอยู่ในป่าย่อมเสี่ยงต่อลักลอบฆ่าตัดงา
อย่างครั้งหนึ่งช้างที่อยู่กับพลอยมานาน ไม่คิดว่าจะมีคนมาทำกับเขาแบบนี้ คือตอนนั้นมีคนมาวางยาค่ะ เอายาฆ่าแมลงผสมกับกล้วยให้ช้างกิน ซึ่งพลอยโกรธ และสงสารช้างมาก เพราะเขาต้องตายอย่างทรมาน เห็นได้จากจุดที่เขาตาย มันมีรอยดิ้น รอยชักอยู่ด้วย (น้ำเสียงสั่นๆ)" และในครั้งนั้นเองหากใครยังจำกันได้ หมอพลอยพาช้างไปปิดล้อม 2 ผู้ต้องหาที่ลอบวางยาฆ่าตัดงา "พลายคล้าว" ช้างของวังช้างอยุธยาแลเพนียดระหว่างที่ถูกนำตัวมาทำแผนประกอบคำสารภาพด้วยความรู้สึกโกรธแค้น
ตลอดเกือบ 1 ชั่วโมงที่ได้คุยกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดนอกจากความน่ารักคือถ้อยคำที่มีพลัง และความคิดอันยิ่งใหญ่ รวมไปถึงความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายและใจในดูแล และอนุรักษ์ "ช้าง" ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
เรื่อง : ปิยะนันท์ ขุนทอง
ภาพ : ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก Lardthongtare Ploy Meepan
"ทั้งบ้านพลอย เรารัก และเทิดทูนในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาก ความฝันของพลอยเป็นจริงเมื่อครั้งถวายการแสดงของช้างให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรในการเสด็จฯ ทุ่งมะขามหย่องในปี 2555 ซึ่งพลอยพยายามฝึกช้างยุทธหัตถีมานานมาก และในครั้งนั้นนับเป็นความภูมิใจ และประทับใจที่สุดในชีวิต นอกจากนั้น ครอบครัวพลอยมีการถวายงานรับใช้ราชวงศ์เกือบทุกพระองค์ค่ะ แม้กระทั่งพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ พระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่มีความสนพระทัยในการขี่ช้าง โดยเฉพาะพลายกิ่งแก้ว เป็นช้างที่พระองค์ทรงขี่เมื่อทรงพระเยาว์ ซึ่งในครั้งนั้นพลอยได้มีโอกาสสอน และดูแลพระองค์ในการบังคับช้าง พระองค์ทีมีความมั่นใจ และเรียนรู้ได้ไวมากค่ะ" |
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754