xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ธีมปาร์ค แรงดึงดูดใหม่ กระตุ้นท่องเที่ยวเอเชีย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องและกำลังจะแผ่กว้างครอบคลุมไม่เฉพาะภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง หากแต่ได้ส่งสัญญาณสู่ความกังวลถึงการทรุดตัวลงต่ำของเศรษฐกิจโลกทั้งระบบ ที่ติดตามมาด้วยราคาน้ำมันตกต่ำ ราคาพืชผลทางการเกษตรผันผวน ดูเหมือนว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะกลายเป็นกลไกที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะช่วยพยุงสถานการณ์ไม่ให้พังครืนลงไป

การแข่งขันในตลาดท่องเที่ยวโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย นอกจากจะดำเนินไปท่ามกลางการปลูกสร้างฐานคติทางวัฒนธรรมให้แทรกซึมผ่านรายการโทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์ เพลงและอาหาร ดังเช่นที่ปรากฏชัดเจนในกรณีของญี่ปุ่นและเกาหลีในช่วงที่ผ่านมาแล้ว บางแห่งได้เสริมภาพลักษณ์ด้วยการเป็นแหล่งพักผ่อนและชอปปิ้งที่มีทางเลือกและสินค้าหลากหลายมาเติมเต็มความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด

ขณะที่เสน่ห์ที่เปิดเผยออกมาสู่โลกภายนอกของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคเอเชียกลาง (Central Asia) ที่ประกอบส่วนด้วยรัฐอิสระในอดีตสหภาพโซเวียต (Kazakhstan, Kyrgyzstan, Tajikistan, Turkmenistan และUzbekistan) กำลังกระตุ้นการรับรู้ของนักท่องเที่ยวจากแดนไกลให้พยายามแสวงหาโอกาสไปเยี่ยมเยือนและเรียนรู้วัฒนธรรมที่แปลกตาจากความคุ้นเคยเดิมๆ เรียกได้ว่าเป็นตลาดท่องเที่ยวที่กำลังขยับตัวขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยเลย

หากประเมินตลาดการท่องเที่ยวของเอเชียโดยเริ่มพิจารณาตั้งแต่ฝั่งตะวันตกสุดของทวีปในบริเวณที่เรียกขานว่าเป็นตะวันออกกลาง แม้ว่าจะเคยเป็นแหล่งอารยธรรมและศิลปวิทยาการที่รุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นอิหร่านที่ถือเป็นอู่อารยธรรมเปอร์เซีย รวมถึงดินแดนของประเทศโดยรอบแห่งรากอารยธรรมลุ่มน้ำเมโสโปเตเมีย ถือเป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลายฝ่ายให้ความสนใจไปเยี่ยมเยือน แต่ด้วยเหตุแห่งฉากหลังของความขัดแย้งและภาวะสงครามต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ภูมิภาคนี้ต้องถูกผลักให้จ่อมจมอยู่กับความน่าสะพรึงกลัวและประเด็นว่าด้วยความปลอดภัยอยู่เสมอ

สงครามในซีเรีย ที่ดำเนินไปพร้อมกับความล่มสลายของสถาปัตยกรรมและแหล่งโบราณสถาน รวมถึงโบราณวัตถุโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขตเมืองโบราณ Palmyra และเขตเมืองโบราณหลายแห่งในภูมิภาค เป็นปรากฏการณ์ที่น่าเศร้าไม่เฉพาะในมิติของการทำลายทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น

หากยังเป็นประหนึ่งการทำลายเอกสารอ้างอิงเพื่อการศึกษารากฐานและความเป็นไปของแหล่งอารยธรรมประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติโดยรวมที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าเป็นตัวเลขจำนวนเงินทางเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน

กระนั้นก็ดี ดินแดนในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต บาห์เรน ซึ่งต่างเป็นรัฐในกลุ่ม Gulf Cooperation Council (GCC: กลุ่มนี้ยังมีโอมานและซาอุดีอาระเบียร่วมเป็นสมาชิกด้วย) พยายามแสวงหาความมั่งคั่งและผลักดันภาพลักษณ์ใหม่ในฐานะที่เป็นประหนึ่งศูนย์กลางความจำเริญและเฟื่องฟูครั้งใหม่ของตะวันออกกลาง ที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่เฉพาะภาพจำในอดีต หากกำลังเร่งสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของการก้าวเดินไปในอนาคตด้วย

ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกทำให้กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางซึ่งยึดโยงระบบเศรษฐกิจไว้กับ petrodollars ไม่สามารถพึ่งพิงรายได้จากน้ำมันและก๊าซที่เป็นจักรกลในการสร้างเสริมความมั่งคั่งแต่โดยลำพังเช่นในอดีตได้อีกต่อไป และกำลังมองหากิจกรรมทางธุรกิจที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่หายไปนี้

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นตัวอย่างที่สะท้อนการสร้างปรากฏการณ์และประสบการณ์ใหม่ในมิติที่ว่านี้ได้ชัดเจน เพราะภายใต้ภูมิประเทศที่ร้อนแห้งแล้งรุนแรง แต่ผู้ครองนครทั้งที่ Abu Dhabi และดูไบ ต่างทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลเนรมิตทั้งโรงแรมที่พัก แหล่งชอปปิ้ง สันทนาการในร่มเพื่อรองรับกับการเติบโตขึ้นของเมืองและธุรกิจการท่องเที่ยว ที่ได้รับการจัดวางให้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางเลือกสำหรับการดึงดูดเงินตราและรายได้จากต่างประเทศ นอกเหนือจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซที่เป็นฐานรากและมีสัดส่วนสูงถึง75-85% ของระบบเศรษฐกิจรวมของ UAE

ความพยายามที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนด้วยการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและชอปปิ้งของดูไบในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวผ่านเข้าออกดูไบมากถึง 15 ล้านคนต่อปี และทำให้ดูไบด้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งการชอปปิ้งของตะวันออกกลาง” ไปโดยปริยาย และการท่องเที่ยวดูไบสามารถครองส่วนแบ่งการท่องเที่ยวของ UAE มากถึง 70% ด้วย

โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของ UAE โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดูไบไม่ได้จำกัดเฉพาะในมิติของโรงแรมระดับ 5 ดาวที่ผุดพรายขึ้นกลางผืนทะเลทรายนับได้มากกว่า 100 แห่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น หากยังมีโครงการลงทุนโรงแรมขนาดใหญ่ติดตามมาไม่ขาดระยะ ควบคู่กับการสร้างแหล่งสันทนาการเพื่อเพิ่มช่องทางในการใช้จ่ายเงินตราของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน การแข่งขันและช่วงชิงบทบาทนำระหว่าง Abu Dhabi และ Dubai ส่งผลให้การลงทุนโครงการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของ UAE ดำเนินไปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยเลย

การเกิดขึ้นของ Ferrari World Abu Dhabi เมื่อปี 2010 ในฐานะที่เป็นธีมปาร์คในร่มขนาดใหญ่ที่สุดของโลกและมีเครื่องเล่นนาม Formula Rossa ซึ่งถือเป็นรถไฟเหาะที่มีความเร็วที่สุดในโลก ส่งผลให้ธีมปาร์คแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของตะวันออกกลาง (Middle East's Leading Tourist Attraction) ในงาน World Travel Awards 2015ในปีที่ผ่านมา

ขณะที่ดูไบซึ่งได้รับสิทธิให้เป็นผู้จัดงาน World Expo 2020 คาดหวังว่ามหกรรมระดับนานาชาตินี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของดูไบและ UAE รวมถึงก่อให้เกิดโครงการลงทุนใหม่ๆ ทั้งในช่วงก่อนหน้าหรือระหว่างการจัดงาน เป็นมูลค่ามหาศาล

โครงการ Dubai “IMG Worlds of Adventure” ซึ่งเป็นธีมปาร์คในร่มขนาดใหญ่ ภายใต้โครงการ City of Arabia ที่ประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในอภิมหาโครงการ Dubailand และมีกำหนดเปิดในช่วงปี 2016 ควบคู่กับการจัดแบ่งพื้นที่ตาม theme zone ที่หลากหลายทั้งจาก Cartoon Network (CN), Marvel และ Lost Valley-Dinosaur Adventure กำลังจะกลายเป็นสวนสนุกในร่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ความเป็นไปของธีมปาร์คที่เกิดขึ้นใน UAE เป็นภาพที่ชัดเจนของความพยายามสร้างแรงดึงดูดและสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่เพื่อรองรับกับกิจกรรมของนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ และเป็นกรอบโครงความคิดหลักที่ไม่แตกต่างจากท่วงทำนองที่ดำเนินอยู่ของสวนสนุกและธีมปาร์คจำนวนมากที่กลายเป็นประหนึ่งแม่เหล็กด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในเอเชีย

กระนั้นก็ดี จุดแบ่งแห่งมาตรฐานและความเป็นสากลของผู้ประกอบการและนักลงทุนที่สรรค์สร้างสวนสนุกและธีมปาร์คในแต่ละท้องถิ่นดูจะเป็นข้อบ่งชี้ในวิถีปฏิบัติและมาตรวัดความสำเร็จในระยะยาวได้อย่างไม่ยากนัก

เพราะการรุกเข้ามาของสวนสนุกและธีมปาร์คภายใต้การบริหารและแบรนด์ระดับนานาชาติไม่ว่าจะเป็น Disney หรือ Universal Studio ซึ่งถือเป็นผู้นำตลาดสวนสนุกและธีมปาร์ค รวมถึงแบรนด์อย่าง LegoLand และCartoon Networks กำลังเป็นประหนึ่งการยกระดับและมาตรฐาน ที่เข้ามากดดันผู้ประกอบการสวนสนุกและธีมปาร์คท้องถิ่นไปโดยปริยาย

ธุรกิจ Amusement Park และ Theme Park ของผู้ประกอบการญี่ปุ่น ซึ่งมีอยู่มากมายหลายรายและกระจายอยู่เกือบทุกพื้นถิ่นของประเทศ ได้รับผลกระเทือนต่อเนื่องจากการรุกเข้ามาของทุนต่างชาติ นับตั้งแต่ช่วงกลางของทศวรรษ 1980 ไม่ว่าจะเป็นการปรากฏตัวขึ้นของ Tokyo Disneyland (1983) รวมถึง Universal Studios Japan (Osaka: 2001) และ Tokyo DisneySea (2001) ท่ามกลางสถานภาพของความเป็นสากลและพลังแห่งทุนที่หนาแน่น ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเข้ากับสื่อภาพยนตร์และสินค้าหลากหลายได้อย่างต่อเนื่องกลมกลืน

ทุนทางวัฒนธรรมจากซีกโลกตะวันตกที่ถาโถมเข้าใส่ญี่ปุ่น นอกจากจะส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว อีกส่วนหนึ่ง ยังทำให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และแสวงหาจุดสนใจใหม่ๆ มาเป็นเครื่องดึงดูดและชี้ชวนเพื่อการขยายกลุ่มลูกค้าอยู่ตลอดเวลา

แม้ว่าอาณาจักรธุรกิจธีมปาร์คท้องถิ่นของ Fuji-Q จะมีความต่อเนื่องยาวนานกว่า 50 ปี และ เปลี่ยนผ่านผู้บริหารมาถึง 3 generations ท่ามกลางการขยายตัวทางธุรกิจทั้งในส่วนของกิจการขนส่ง และรถไฟฟ้าที่ได้รับสัมปทานในระดับท้องถิ่น ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต รวมถึงสนามกอล์ฟและสวนสนุก

แต่จุดเด่นของ Fuji-Q Highland ไม่ได้อยู่ที่การเป็น themepark ที่อุดมด้วย Cartoon Character หรือวีรบุรุษวีรสตรีจากภาพยนตร์ หาก Fuji-Q Highland ประกอบส่วนไปด้วยเครื่องเล่นที่ได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลก ไม่ว่าจะเป็นบ้านผี (Haunted House) ที่จัดวาง theme ด้วยการจำลองภาพของโรงพยาบาลผีที่ต้องเดินเท้าผ่านสายทางที่ทอดยาวกว่า 700 เมตร ซึ่งถือเป็นบ้านผีที่ยาวที่สุดในโลก หรือแม้กระทั่ง Roller Coaster หลากหลายที่ได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลกในมิติต่างๆ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ การเกิดขึ้นของ Universal Studios Japan (เปิด 31 มีนาคม) และ Disney Sea (เปิด 4 กันยายน) ในปี 2001 สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ให้กับสวนสนุกและธีมปาร์ค โดย Universal Studios Japan ทำสถิติมียอดผู้เข้าใช้บริการสูงถึง 10 ล้านคนภายในเวลา 338 วันหลังเปิดให้บริการ ก่อนที่สถิติที่ว่านี้จะถูกทุบทำลายลงในเวลาต่อมาไม่นานเมื่อ Disney Sea บรรลุสู่ยอด 10 ล้านคนภายในเวลา 307 วันหลังเปิดให้บริการเท่านั้น และมียอดผู้เข้าชมรวม 14 ล้านคนต่อปี

ความพยายามของ Fuji-Q ที่จะรักษาสถานะและศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ประกอบการ themepark จากต่างประเทศ ทำให้ Fuji-Q ต้อง refresh สภาพพื้นที่และกิจกรรมภายในสวนสนุกแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการก่อสร้างเครื่องเล่นใหม่ๆ ขึ้นมาเป็น attraction เพิ่มเติมไปในคราวเดียวกัน

วิถีที่ดำเนินไปในกรณีของ Enchanted Kingdom ในฟิลิปปินส์ ให้ภาพที่หนักหน่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะนอกจากจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการประกอบธุรกิจช่วงขวบปีแรก ยังต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่โถมกระหน่ำภูมิภาคเอเชียในปี 1997 ก่อนที่จะเริ่มย้อนกลับเข้ามาสู่เส้นทางธุรกิจครั้งใหม่ในปี 2003 และกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีผู้คนมาเยี่ยมเยือนหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของฟิลิปปินส์

ประเด็นที่น่าสนใจของ Enchanted Kingdom นอกจากจะอยู่ที่ผู้เข้าชมสถานที่แห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นประชาชนชาวฟิลิปปินส์แล้ว Enchanted Kingdom ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับกลุ่มทุนจากตะวันตกรายใด เพราะภาพสัญลักษณ์และ character รวมถึงการแสดงและจุดสนใจภายในสวนสนุกแห่งนี้ เกิดขึ้นจากฐานคติและแนวความคิดที่ผู้ประกอบการสวนสนุกแห่งนี้พยายามดึงคุณค่าและรากฐานทางสังคมของชาวฟิลิปปินส์เองมาใช้ ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเรียนรู้มากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อความบันเทิงแต่โดยลำพัง

ประเด็นว่าด้วยการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ว่านี้ ดูจะเป็นประเด็นร่วมสำหรับสวนสนุกหลายแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของสวนสนุกประเภท Underwater World ที่ผสานท่วงทำนองของทั้งการเป็นสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำและสวนสนุกเข้าไว้ด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่าสถานที่เหล่านั้นจะให้น้ำหนักกับส่วนใดมากกว่ากัน

ขณะที่ EsselWorld ที่เมืองมุมไบ อินเดีย ซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 1989 ซึ่งประกอบส่วนทั้ง EsselWorld และ Water Kingdom ถือเป็นสวนสนุกและสวนน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดไม่เฉพาะสำหรับของอินเดียในปัจจุบันเท่านั้น หากยังถือเป็น Theme Water Park ขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียเลยทีเดียว

แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่และตั้งอยู่ในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นนับพันล้านคน แต่จำนวนผู้เข้าชม EsselWorld ในแต่ละปีอยู่ในระดับ 1.8 ล้านคนต่อปีเท่านั้น และในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 20 เป็นเยาวชนในช่วงอายุของการเป็นนักเรียนนักศึกษา

กรณีเช่นว่านี้ สะท้อนข้อเท็จจริงบางประการว่าจำนวนประชากรในท้องถิ่นอาจไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาดซึ่งผลแห่งความสำเร็จของสวนสนุกและธีมปาร์คในทุกกรณี โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีของ Hong Kong Disneyland ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวยอดนิยมระดับนานาชาติ และยังมีศักยภาพจากประชากรชาวจีนจำนวนนับพันล้านคนเป็นตลาดที่คอยหนุนหลังอยู่

หากแต่ความมุ่งหมายที่จะมียอดนักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการจำนวน 5.6 ล้านคนในช่วงขวบปีแรก (2005) กลับไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ได้ และการณ์กลับทรุดหนักลงอีกในช่วงปีต่อมา (2006) เมื่อมีผู้เข้าใช้บริการเพียง 4 ล้านคน และค่อยๆ ไต่ระดับกระเตื้องขึ้นมาอย่างช้าๆ โดยหลังจากเปิดให้บริการมารวม 10 ปีเศษ ปัจจุบัน Hong Kong Disneyland มียอดผู้เข้าชมเฉลี่ยที่ระดับ 7-8 ล้านคนต่อปีและวางเป้าหมายที่จะบรรลุสู่ระดับ 10 ล้านคนตามแผนขยายพื้นที่ในอนาคต

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ แผนการเปิดให้บริการของ Shanghai Disneyland Park and Resort ที่คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2016 นี้ อาจกลายเป็นทั้งแรงกระตุ้นและแรงกดทับการแข่งขันในสมรภูมิการท่องเที่ยวของเอเชียที่แหลมคมนี้ไปโดยปริยาย

ขณะที่ Universal Studios ในสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นประหนึ่งธีมปาร์คและสวนสนุกภายใต้แบรนด์ระดับนานาชาติแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) มียอดผู้เข้าชมในช่วงปีแรกที่เปิดบริการ (2011) ในระดับ 2 ล้านคน และอยู่ในระดับเฉลี่ย 3-4 ล้านคนในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนว่า Universal Parks and Resorts ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์และ Genting Group กลุ่มทุนด้านการท่องเที่ยวรายใหญ่จากมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ลงทุนจะวางยุทธศาสตร์ไม่ขยายสวนสนุกและธีมปาร์คในลักษณะนี้ไปอีก 30 ปี พร้อมกับการทำตลาดภายใต้วลี “one-of-its-kind theme park in Asia” ด้วย

หากประเมินจากฐานข้อมูลและท่วงทำนองที่เกิดขึ้นในมิติที่ว่านี้ ดูเหมือนว่าแม้ภูมิภาคอาเซียนจะยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพ หากแต่ความอิ่มตัวว่าด้วยการลงทุนสร้างธีมปาร์คและสวนสนุกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่จะเป็นดัชนีชี้วัดมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยวหรือแบรนด์ที่จะนำมาเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคม ซึ่งจะเป็นข้อบ่งชี้ความสามารถในการเข้าถึง รวมถึงศักยภาพของประชากรในเขตพื้นที่ที่จะเข้าไปเปิดที่อาจถือเป็นพลังที่จะรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจเลยทีเดียว

เพราะข้อเท็จจริงที่สำคัญมากในห้วงเวลาปัจจุบันของ ASEAN หลังการรวมเป็นประชาคม AEC ก็คือ connectivity ที่มุ่งหมายจะยกระดับการเชื่อมโยงพื้นที่ในภูมิภาคยังไม่ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

กระแสข่าวการลงทุนเพื่อที่จะเปิดสวนสนุกและธีมปาร์คในประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่ผ่านมา แม้จะสร้างความตื่นตัวในการขยับขยายและพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับความสงสัยและสับสนถึงความเป็นไปได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏชื่อของ Disney ขึ้นมาเป็นผู้แสดงหลัก ซึ่งดูเหมือนว่าห้วงเวลาปัจจุบันจะมีความเป็นไปได้ยาก และเจ้าหน้าที่ของ Disney ได้ปฏิเสธจะออกความเห็นนอกจากให้ข้อมูลว่า Disney คงให้ความสำคัญและพุ่งความสนใจไปยังตลาดจีนที่มีทั้ง Hong Kong Disneyland และ Shanghai Disneyland ที่กำลังจะเปิด รวมถึงตลาดญี่ปุ่นเป็นลำดับแรกๆ มากกว่า

แต่ความเป็นไปของลาวซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดไทย ที่กำลังจะลงทุนในโครงการก่อสร้างการเงินนานาชาติ (Thakhaek Ehsan International Financial Centre) มูลค่าสูงถึงหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัท Akane Farm Sole และจะมี “ท่าแขก ดรีมเวิลด์ ซิตี้” ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความสับสนในกรณีของ Disney Lao ย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะมองข้ามหรือละเลยไม่สนใจแต่อย่างใด

โดยเฉพาะเมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าลาวกำลังจะมี “เวียงจันทน์โอเชี่ยนปาร์ค” สวนน้ำขนาดใหญ่ในเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งจะทำให้คนลาวมีทางเลือกพักผ่อนโดยไม่ต้องข้ามมาใช้บริการที่ฝั่งไทย ต้องถือเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยในอนาคตไม่น้อยเลย

ในห้วงยามที่สภาพการณ์เศรษฐกิจกำลังทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่เชื่อกันว่ามีความพร้อมอยู่ในระดับแถวหน้า และจะเป็นกลไกในการรองรับและช่วยหนุนนำประคับประคองไม่ให้สถานการณ์โดยรวมย่ำแย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ ปรากฏการณ์และความเป็นไปที่กำลังดำเนินอยู่เบื้องหน้านี้นับเป็นความท้าทายที่แหลมคมอย่างยิ่ง

ขึ้นอยู่กับว่าจะประเมินพิจารณาและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น