xs
xsm
sm
md
lg

เล็งขยายอายุตุลาการรธน.เป็น75ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14ม.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อเสนอของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เสนอว่า ควรจะยกระดับมาตรฐานของตุลาการศาลรธน. ให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อรับกับอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นว่า ขณะนี้ กรธ.กำลังดำเนินการปรับปรุงวิธีการสรรหาในองค์กรอิสระให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งมีการเรียกร้องกันว่า คนที่จะมาทำงานในองค์กรอิสระ จะต้องมีความกล้าหาญในการใช้ดุลยพินิจในเรื่องต่างๆ โดยในขณะนี้ทางกรธ.ก็พยายามที่จะบัญญัติให้คนที่มีความคร่ำหวอดในสาขาวิชาต่างๆเข้ามาทำงาน โดยอย่างน้อยที่สุด เวลาที่จะทำอะไรก็จะมีหลักวิชาการที่สามารถอ้างอิงได้ ส่วนคนที่มีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง ก็จะนำมาเป็นที่ปรึกษา เพื่อคอยสะกิดบอกให้นักวิชาการรู้ว่า ในการปฏิบัติงานเพื่อบ้านเมือง จะต้องทำอย่างไร
" องคาพยพในองค์กรอิสระทุกองค์กร คุณสมบัติก็จะสูงขึ้น อย่างเช่น ตุลาการศาลรธน. แต่เดิมกำหนดว่าเป็นผู้ที่ได้เป็นรองศาสตราจารย์ ต่อไปนี้ทาง กรธ. ก็จะกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งเป็น ศาสตราจารย์ แล้วไม่ใช่เพียงแค่ได้เพียงวัน สองวัน แต่ต้องได้ตำแหน่งมาระยะเวลานานพอสมควร จะได้มั่นใจว่าคนเหล่านี้ได้มีความคร่ำหวอดในเรื่องที่เขาชำนาญ หรือแม้แต่เรื่องของศาลปกครองสูงสุด ก็มีการกำหนดว่า จะต้องมีพื้นฐาน หรือได้ผ่านงานในศาลปกครองชั้นต้นมากี่ปีแล้ว จึงจะมาเป็นองค์คณะในศาลปกครองสูงสุดได้ ซึ่งสังคมจะได้มีความมั่นใจ และไม่มีข้อกังขา โดยวิธีการสรรหา ก็ให้ห่างไกลจากการเมืองให้มากที่สุด โดยยังคงให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเหมือนเดิม " นายมีชัย กล่าว
ส่วนการที่คนมองว่า กรธ.ให้อำนาจแก่ศาลรธน. เพิ่มมากขึ้น จากการโอนอำนาจวินิจฉัยตาม มาตรา 7 เดิมนั้น ตนเห็นว่า แต่เดิมนั้น มีการระบุเอาไว้ว่า หากไม่มีบทบัญญัติบังคับแก่กรณีใด ก็ให้วินิจฉัยโดยใช้ประเพณีการปกครอง แต่ก็มีคำถามว่า องค์กรใด จะเป็นผู้ชี้ขาด เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเอาไว้
ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ก็เลยเขียนว่า หากมีปัญหาขึ้นมา ให้ศาลรธน. เป็นผู้ชี้ขาด ทางกรธ. ก็เลยเขียนว่า หากไม่มีบทบัญญัติในกรณีใด ก็ให้ศาลรธน. วินิจฉัยตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ดังนั้นหากมีปัญหาในเรื่องของรธน. หน่วยงานที่จะชี้ขาด ก็คือ ศาลรธน. ซึ่งถือเป็นการเขียนให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วอำนาจ ก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น เพียงแต่ว่ามีอำนาจในการชี้ขาดคุณสมบัติ แต่เนื่องจากทุกวันนี้ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ไว้มากขึ้น ทำให้มีเรื่องที่ให้ต้องชี้ขาดมากขึ้นเท่านั้น ส่วนวาระของศาลรธน. ก็ยังคงเดิมคือ 9 ปี แต่ทาง กรธ. กำลังคุยกันว่าจะมีการลดวาระลงเหลือ 7 ปี ได้หรือไม่ และจะมีการขยายจากให้สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งจาก 70 ปี เป็น 75 ปี เพื่อให้เป็นทางเลือกของคนที่มีความรู้ความสามารถ ได้มีทางเลือกมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น