xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โลกมุสลิมระอุ! “ซาอุฯ-อิหร่าน” ตัดขาดสัมพันธ์ จากปมสังหารผู้นำศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประท้วงชาวอิหร่านจุดไฟเผาสถานทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ปี 2016
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วิกฤตความขัดแย้งครั้งใหญ่ในตะวันออกกลางกลายเป็นข่าวเด่นประเด็นร้อนต้อนรับปี 2016 หลังความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง “อิหร่าน” กับ “ซาอุดีอาระเบีย” และชาติพันธมิตรสุหนี่อีกหลายประเทศต้องขาดสะบั้นลง โดยมีชนวนเหตุจากคำสั่งประหารชีวิตนักการศาสนาที่ชาวชีอะห์เคารพนับถือ

สถานทูตซาอุฯ ในกรุงเตหะรานถูกกลุ่มผู้ประท้วงชาวอิหร่านบุกโจมตีและจุดไฟเผาเมื่อเช้ามืดวันอาทิตย์ (3 ม.ค.) หรือเพียง 1 วันหลังจากที่ริยาดลงโทษประหารหมู่นักโทษคดีก่อการร้าย 47 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ชัยค์ นิมร์ อัล-นิมร์ ผู้นำมุสลิมชีอะห์คนสำคัญที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์การปกครองแบบกดขี่ชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลซาอุฯ ทั้งยังต่อต้านราชวงศ์สะอูดที่เป็นมุสลิมสุหนี่

การประหาร ชัยค์ นิมร์ อัล-นิมร์ เรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากอิหร่าน และทำให้ความสัมพันธ์ 2 ชาติที่เป็นไม้เบื้อไม้เมากันมานานเข้าสู่ภาวะตกต่ำถึงขีดสุด


เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ศาลสูงสุดซาอุฯ ปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์โทษประหารชีวิตแก่ ชัยค์ อัล-นิมร์ ที่เป็นหนึ่งในผู้นำการเรียกร้องให้มีการชุมนุมสนับสนุนประชาธิปไตยในซาอุดีอาระเบีย ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมตัวในปี 2012

กระทรวงมหาดไทยซาอุฯ กล่าวหาว่า ชัยค์ อัล-นิมร์ อยู่เบื้องหลังการโจมตีของกลุ่มผู้ต้องสงสัยอื่นๆ ที่ทำงานในนามของมุสลิมชีอะห์สุดโต่งจากอิหร่าน ซึ่งถือเป็นอริหมายเลข 1 ของซาอุดีอาระเบียในตะวันออกกลาง

ประธานาธิบดี ฮัสซัน รอฮานี แห่งอิหร่านซึ่งมีแนวคิดสายกลางได้ออกมาติเตียนผู้ประท้วงที่บุกทำลายสถานทูตซาอุฯ ว่าเป็นพวก “หัวรุนแรง” ขณะที่ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กลับเอ่ยอาฆาตผู้นำซาอุฯ ว่า “จะต้องได้รับผลตอบสนองในไม่ช้า” จากการประหาร ชัยค์ อัล-นิมร์

อเดล อัล-ญุเบร์ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ ยืนยันเมื่อวันอาทิตย์ (3) ว่าซาอุดีอาระเบียได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านแล้วเนื่องจากเหตุโจมตีสถานทูตในกรุงเตหะรานและสถานกงสุลที่เมืองมาชาด นอกจากนี้ยังสั่งให้เจ้าหน้าที่การทูตทั้งหมดของอิหร่านเดินทางออกจากแผ่นดินซาอุฯ ภายใน 48 ชั่วโมง

ต่อมาในวันจันทร์ (4) รัฐบาลบาห์เรนและซูดานประกาศตัดสัมพันธ์กับเตหะรานตามอย่างริยาด ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ปรับลดความสัมพันธ์ และเรียกทูตกลับจากกรุงเตหะราน

รัฐอาหรับสุหนี่มองว่าอิหร่านพยายามแผ่อิทธิพลก้าวก่ายกิจการภายในประเทศของพวกตน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ อเดล อัล-ญุเบร์ ถึงกับพูดว่า “ประวัติศาสตร์อิหร่านเต็มไปด้วยการบั่นทอนแทรกแซง และก้าวร้าวต่อปัญหาของโลกอาหรับ”

สหรัฐฯ ยุโรป และตุรกี ต่างออกมาเตือนถึงผลกระทบจากการเผชิญหน้าระหว่างชาติผู้นำสุหนี่และชีอะห์ โดย จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ วิงวอนให้อิหร่านและซาอุฯ ลดทอนความตึงเครียด ขณะที่รัสเซียก็เสนอตัวรับหน้าที่ “คนกลาง” ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งนี้

ซาอุฯ ประกาศยุติเที่ยวบินพาณิชย์และการเดินทางติดต่อทางอากาศทั้งหมดกับอิหร่าน รวมทั้งห้ามพลเมืองเดินทางไปประเทศคู่อริด้วย ขณะที่วันอังคาร (5) คูเวตก็ได้เข้าร่วมวงชาติอาหรับสุหนี่ริมอ่าวเปอร์เซียอื่นๆ ในการประท้วงเหตุโจมตีสถานทูตซาอุฯ

ชัยชนะทางการทูตของซาอุฯ เห็นชัดจากการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกคำแถลงประณามเรื่องผู้ประท้วงอิหร่านบุกโจมตีสถานทูต แต่กลับงดพาดพิงเรื่องที่ริยาดประหารนักการศาสนาชีอะห์จนเป็นต้นตอของวิกฤตการทูตตะวันออกกลางในขณะนี้

ความขัดแย้งระหว่างซาอุฯ กับอิหร่านที่ลุกลามบานปลายยังทำให้ยูเอ็นและโลกตะวันตกเกรงว่า กระบวนการสันติภาพในซีเรียและเยเมนอาจได้รับความกระทบกระเทือนถึงขั้น “ตกราง”

อับดัลลาห์ อัล-มูอัลลิมี เอกอัครราชทูตผู้แทนซาอุฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ ยืนยันว่า การตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อกระบวนการสันติภาพในซีเรียและเยเมน โดยซาอุฯ “ยินดีส่งผู้แทนเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพซีเรียรอบถัดไป และจะไม่คว่ำบาตรการประชุมเพียงเพราะเรื่องอิหร่าน”

ทูตซาอุฯ ยังเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น “ใช้ทุกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรับประกันว่าทรัพย์สินทางการทูตของซาอุฯ จะไม่ถูกทำลาย และนักการทูตซาอุฯ ในอิหร่านทุกคนจะได้รับความคุ้มครอง”

ริยาดยังส่งจดหมายยืนยันต่อเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ว่า นักโทษทั้ง 47 คนที่ถูกประหาร รวมถึง ชัยค์ นิมร์ อัล-นิมร์ “ได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรมและยุติธรรม โดยซาอุฯ ไม่ได้มีอคติเกี่ยวกับระดับสติปัญญา เชื้อชาติ หรือนิกายที่พวกเขานับถือ”

อย่างไรก็ตาม นักสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่กลับตั้งข้อสงสัยเรื่องความเป็นธรรมและวิธีการที่ซาอุฯ ปฏิบัติต่อนักโทษทั้ง 47 คน โดยองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ระบุว่า ชัยค์ นิมร์ อัล-นิมร์ “ถูกตัดสินประหารด้วยเหตุผลทางการเมืองอันไร้ซึ่งความยุติธรรม” และริยาดกำลังใช้บทลงโทษขั้นสูงสุดเป็นเครื่องมือเรียกคะแนนนิยมจากพลเมืองสุหนี่หัวอนุรักษ์

บรรยากาศความตึงเครียดในตะวันออกกลางเริ่มส่อเค้าลางให้เห็น หลังจากที่สหรัฐฯ และมหาอำนาจอีก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ทำข้อตกลงกับอิหร่านเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ปี 2015 โดยประกาศจะผ่อนคลายบทลงโทษทางเศรษฐกิจที่เคยบังคับใช้กับเตหะราน หากอิหร่านลดทอนกิจกรรมนิวเคลียร์ลงให้ได้ตามเงื่อนไขที่ตะวันตกกำหนดขึ้น

รัฐอาหรับสุหนี่ต่างหวาดระแวงผลพวงของข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ฉบับนี้ โดยเกรงว่าสหรัฐฯ อาจมองข้ามผลประโยชน์ของพวกตนเพื่อรักษาข้อตกลงกับอิหร่านไว้

ซัลมาน ชัยค์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัทที่ปรึกษาระดับภูมิภาค ชัยค์กรุ๊ป แสดงความเห็นว่า การที่สหรัฐฯ มุ่งมั่นผลักดันข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่าน โดยไม่สนใจความกังวลของริยาดและพันธมิตรในตะวันออกกลางที่มองว่าเตหะรานอยู่เบื้องหลังการโจมตีของกลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคและกบฏฮูตีในเยเมน ได้บ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับซาอุฯ และสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็คือการแย่งชิงอำนาจระหว่างริยาดกับเตหะราน

สันนิบาตอาหรับ (Arab League) ซึ่งมีฐานที่กรุงไคโรเตรียมเรียกประชุมฉุกเฉินในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อหารือมาตรการตอบโต้เหตุโจมตีสถานทูตซาอุฯ รวมถึงข้อครหาที่ว่าอิหร่านแทรกแซงกิจการภายในของชาติอาหรับสุหนี่

ปัจจัยภายในซาอุฯ

การประหารชีวิตนักการศาสนาชาวชีอะห์ครั้งนี้แสดงถึงจุดยืนที่แข็งกร้าวขึ้นของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมายังได้ส่งเครื่องบินขับไล่เข้าไปโจมตีกบฏฮูตีนิกายชีอะห์ในเยเมน และยกระดับการหนุนหลังฝ่ายกบฏในซีเรียที่ต้องการโค่นล้มระบอบของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุฯ และเจ้าชาย โมฮาเหม็ด บิน ซัลมาน รองมกุฎราชกุมารผู้รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ดูเหมือนจะทรงมีพระราชประสงค์ที่จะใช้เหตุการณ์นี้เสริมฐานอำนาจของราชวงศ์ให้เข้มแข็งขึ้น ในยามที่ซาอุฯ กำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจเนื่องจากราคาน้ำมันตกต่ำ

“ซาอุฯ ทำเช่นนี้ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่... ในมุมมองของผม เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงพลวัตภายในซาอุดีอาระเบียเองที่กำลังหันเหออกจากการควบคุมของราชวงศ์ซาอุฯ มากขึ้นทุกที” คริสโตเฟอร์ เดวิดสัน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองตะวันออกกลางจากมหาวิทยาลัยเดอรัมในอังกฤษ กล่าว

การประหารผู้นำมุสลิมชีอะห์ยังถือเป็นการเอาใจพลเมืองสุหนี่หัวอนุรักษ์ ซึ่งเป็นฐานอำนาจที่สำคัญของราชวงศ์สะอูด ในห้วงเวลาที่อิสลามแบบ “วะฮาบีย์” ในซาอุฯ กำลังถูกท้าทายจากกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง เช่น รัฐอิสลาม (ไอเอส)

เจ้าชายโมฮาเหม็ด วัย 30 พรรษา ทรงถูกมองว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ซาอุฯ หันมาประกาศจุดยืนแข็งกร้าว และกล้าดำเนินนโยบายสุ่มเสี่ยงมากขึ้น และเจ้าชายพระองค์นี้ยังเป็นบุคคลแรกที่ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ รวมถึงรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีและเจ้าหน้าที่ซูดานได้ติดต่อขอคำปรึกษา หลังจากวิกฤตการณ์ซาอุฯ-อิหร่านเริ่มบานปลายในวันจันทร์(4)

แรงกดดันต่อสหรัฐฯ

ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ 2 ขั้วในตะวันออกกลางทำให้สหรัฐฯ ถูกกดดันให้ต้องเร่งปลอบขวัญชาติพันธมิตรอาหรับสุหนี่ที่รู้สึกว่าถูก “ทอดทิ้ง” หลังจากวอชิงตันหันไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน

ซาอุดีอาระเบียและประเทศสุหนี่รอบอ่าวอาหรับต่างไม่พอใจที่สหรัฐฯ มีท่าทีลังเลที่จะตอบโต้เมื่ออิหร่านแสดงพฤติกรรมยั่วยุ ถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ซาอุฯ คนหนึ่งโอดครวญว่า อเมริกาจะ “หลบฉาก” ไปทุกครั้งที่อิหร่านทำอะไรล้ำเส้น

เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ พยายามเดินเกมอย่างรอบคอบ และไม่ต้องการถูกดึงเข้าไปพัวพันกับข้อพิพาทอิหร่าน-ซาอุฯ โดย จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า ตนไม่คิดว่าสหรัฐฯ ควรจะรับหน้าที่ “คนกลาง” ไกล่เกลี่ยปัญหาของทั้งสองประเทศ

จอช เออร์เนสต์ เลขานุการฝ่ายสื่อมวลชนของทำเนียบขาว ออกมาปฏิเสธเมื่อวันจันทร์(4) เรื่องที่ซาอุฯ กล่าวหาสหรัฐฯ ว่าทำ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” กับพฤติกรรมยั่วยุของอิหร่าน โดยยืนยันว่า มาตรการคว่ำบาตรเตหะรานอาจนำกลับมาพิจารณาได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็เตือนซาอุฯ ว่า วอชิงตันไม่เห็นด้วยกับการประหารหมู่นักโทษ

เออร์เนสต์ ย้ำว่า สหรัฐฯ จะไม่คว่ำบาตรอิหร่านเพียงเพราะถูกชาติใดกดดัน

เจ้าหน้าที่หลายคนเผยว่า สิ่งที่สหรัฐฯ กังวลที่สุดในเวลานี้ก็คือ ความขัดแย้งซาอุฯ-อิหร่านอาจบั่นทอนความร่วมมือระหว่างกองกำลังความมั่นคงอิรักกับบรรดานักรบสุหนี่และชีอะห์ที่ร่วมกันจับอาวุธต่อสู้กลุ่มไอเอสอยู่ นอกจากนี้ยังห่วงแผนฟื้นฟูสันติภาพซีเรียที่คาดหมายกันว่าจะเริ่มเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงปลายเดือนนี้
อเดล อัล-ญุเบร์ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย
มุสลิมนิกายชีอะห์ในอินเดียพยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจปราบจลาจลหน้าสถานทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงนิวเดลี
สตรีชาวอิหร่านชูภาพ ชัยค์ นิมร์ อัล-นิมร์ นักการศาสนาคนสำคัญที่ถูกซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตพร้อมกับนักโทษคดีก่อการร้ายอีก 46 คน เมื่อวันเสาร์ที่ 2 ม.ค.
กลุ่มผู้สนับสนุนอิหม่าม ม็อกตาดา อัล-ซัดร์ ออกมาชุมนุมในเมืองกัรบาลาของอิรัก และเผาภาพสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบียเพื่อประท้วงการประหารชีวิต ชัยค์ นิมร์ อัล-นิมร์
สตรีมุสลิมในอิหร่านเดินขบวนประท้วงการประหารชีวิต ชัยค์ นิมร์ อัล-นิมร์
ล้อมกรอบ//

สุหนี่-ชีอะห์ : ความเป็นอริที่หยั่งรากลึก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตการณ์ร้อนระอุในตะวันออกกลางขณะนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากความขัดแย้งระหว่างอิสลาม 2 นิกาย คือ “สุหนี่” ที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่ง กับ “ชีอะห์” ซึ่งมีอิหร่านเป็นเจ้าอิทธิพลใหญ่

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง

ประชาชาติมุสลิมแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย โดยเริ่มมาจากความเห็นต่างเรื่องตัวบุคคลที่จะสืบทอดตำแหน่งผู้ปกครองมุสลิมต่อจากศาสดามูฮัมหมัด ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 632

มุสลิมกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ตำแหน่งนี้ควรจะคัดเลือกจากบรรดาสาวกที่ใกล้ชิดท่านศาสดา ขณะที่อีกกลุ่มซึ่งเรียกตนเองว่า “ผู้สนับสนุนอาลี” (ชีอะตุอาลี) กลับมองว่า ตำแหน่งนี้ต้องสงวนไว้สำหรับเครือญาติใกล้ชิดในครอบครัวศาสดาเท่านั้น พวกเขายังอ้างว่านบีมูฮัมหมัดเคยแสดงออกชัดเจนว่าต้องการให้ อาลี บุตรอบูฏอลิบ ซึ่งเป็นทั้งลูกพี่ลูกน้องและบุตรเขยของท่าน สืบทอดตำแหน่งต่อจากท่าน

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งผู้ปกครองมุสลิมหรือ “คอลีฟะห์” (กาหลิบ) ได้ถูกมอบให้แก่ “อบูบาการ์” ซึ่งเป็นสหายคนสนิทของศาสดามูฮัมหมัด และยังเป็นพ่อตาของท่านด้วย (อาอิชะห์ ภรรยาคนหนึ่งของศาสดามูฮัมหมัดเป็นบุตรีของอบูบาการ์) ส่วนตำแหน่งคอลีฟะห์คนที่ 2 และ 3 ในเวลาต่อมาก็ได้ตกเป็นของสาวกคนสนิทอีก 2 ท่าน คือ “อุมัร” และ “อุสมาน” ก่อนจะมาถึง อาลี เป็นคอลีฟะห์คนที่ 4

ชาวมุสลิมชีอะห์ให้การเทิดทูนลูกหลานในครอบครัวของนบีมูฮัมหมัด โดยเฉพาะ อาลี และบุตรชายทั้งสองของเขา คือ ฮาซัน และ ฮุซัยน์ และมีการจัดพิธีไว้อาลัยอย่างยิ่งใหญ่ในวันอาชูรอ (Ashura) เพื่อรำลึกถึงวันที่อิหม่ามฮุซัยน์ถูกลอบสังหารที่เมืองกัรบาลาในอิรัก

ทั้ง 2 นิกายแตกต่างกันอย่างไร?

ชาวสุหนี่และชีอะห์มีหลักความศรัทธาและหลักปฏิบัติที่เหมือนกันหลายข้อ รวมถึงการยึดถือเสาหลักทั้ง 5 ของอิสลาม ได้แก่ การกล่าวปฏิญาณตนยืนยันความศรัทธา, การละหมาดวันละ 5 เวลา, การบริจาคทาน (ซะกาต), การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และการไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะเมื่อมีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและกำลังทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ชาวชีอะห์มีความเชื่อว่า อาลี เป็นอิหม่ามคนแรกจากบรรดา “อิหม่ามที่ถูกต้อง” ทั้ง 12 คน ซึ่งดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างให้แก่มุสลิมหลังจากที่นบีมูฮัมหมัดได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ ผู้นับถืออิสลามนิกายชีอะห์จึงมีการจัดลำดับชั้นผู้นำศาสนาอย่างชัดเจน เช่น ตำแหน่ง “อยาตอลเลาะห์” และอิหม่ามในอิหร่านและอิรัก เป็นต้น ในขณะที่มุสลิมสุหนี่ไม่เป็นเช่นนั้น

ชาวมุสลิมสุหนี่ถือว่า คอลีฟะห์ทั้งสี่ซึ่งปกครองดินแดนมุสลิมต่อจากนบีมูฮัมหมัดคือ “ผู้ที่ได้รับทางนำที่ถูกต้อง” และไม่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับวัตรปฏิบัติของผู้นำคนหนึ่งคนใดที่มาหลังจากพวกเขา

ชาวชีอะห์จะใส่ชื่อ “อาลี” ไว้ในคำปฏิญาณตน (ชาฮาดะห์) และกำหนดวันสำคัญทางศาสนาที่พิเศษกว่าของชาวสุหนี่หลายวัน เพื่อเทิดทูนเหล่า “อะห์ลุลบัยต์” หรือลูกหลานในครอบครัวของศาสดามูฮัมหมัด นอกจากนี้ ยังมีการไปแสวงบุญตามศาสนสถานเฉพาะของชาวชีอะห์ที่นอกเหนือไปจากการประกอบพิธีฮัจญ์ที่ซาอุดีอาระเบีย

ประชากรมุสลิมสุหนี่-ชีอะห์ในปัจจุบัน

ผลการศึกษาโดยสถาบันวิจัยพิวฟอรัมเมื่อปี 2015 พบว่า ทั่วโลกมีประชากรมุสลิมเกือบ 1,600 ล้านคน โดยเป็นชาวสุหนี่ประมาณ 90% ส่วนที่เหลือแบ่งออกเป็นสาขาต่างๆ ของนิกายชีอะห์ อย่างไรก็ดี สัดส่วนประชากรทั้ง 2 นิกายเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางไม่แตกต่างกันมาก เนื่องจากอิหร่านซึ่งเป็นประเทศใหญ่มีพลเมืองชีอะห์อยู่ถึง 80 ล้านคน

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชีอะห์ ได้แก่ อิรัก และบาห์เรน นอกจากนี้ยังมีมุสลิมชีอะห์กลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ในเยเมน ปากีสถาน เลบานอน ซีเรีย และอินเดีย

ซาอุดีอาระเบียเป็นที่ตั้งของ 2 เมืองศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอิสลาม คือ เมกกะ และมะดีนะห์ และถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางอิสลามนิกายสุหนี่ ขณะที่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งซาอุฯ ยังทรงมีสถานะเป็น “ผู้ปกป้องสองมัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์” ในนครเมกกะและมะดีนะห์ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น