xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาความตายบนท้องถนน จะแก้อะไรก่อนดีระหว่าง“คนกับระบบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ระยะนี้ผมได้ยินการแสดงความคิดเกี่ยวกับปมปัญหาอย่างหนึ่งบ่อยขึ้นทั้งจากนักวิชาการที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและผู้บริหารประเทศอย่างนายกรัฐมนตรี ปมปัญหาดังกล่าวคือ การพิจารณาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมและการแสวงหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหานั้นว่ามีสาเหตุจาก “คนหรือระบบ” และควรจะแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาโดยเลือกแก้อะไรก่อนดีระหว่างคนหรือระบบ

อันที่จริงการถกเถียงเรื่องสาเหตุของปัญหาต่างๆ ว่าเกิดจาก “ปัจจัยด้านคนหรือปัจจัยด้านระบบ” เป็นเรื่องที่มีมาอย่างยาวนานในแวดวงวิชาการ ต่อมามีนักวิชาการจำนวนหนึ่งนำเสนอแนวคิดใหม่เพื่อบูรณาการระหว่างปัจจัยทั้งสอง แนวคิดดังกล่าวมีสมมติฐานว่า ปัญหาต่างๆมีแนวโน้มเกิดจากปฏิสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงอย่างซับซ้อนระหว่างคนกับระบบ โดยเฉพาะปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

แต่ก็ใช่ว่าแนวคิดใหม่ดังกล่าวจะได้รับการยอมรับจากคนในสังคมเสียทั้งหมด เพราะการถกเถียงระหว่าง “คนกับระบบ” ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ทั้งภายในและภายนอกแวดวงวิชาการและการบริหารประเทศ

หากพิจารณา ณ จุดเริ่มต้นของการสร้างสังคม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “คน” เป็นผู้สร้างระบบสังคมและระบบย่อยต่างๆ ที่ดำรงอยู่ภายในสังคม ระบบส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้สังคมมีเสถียรภาพ ดำรงอยู่อย่างยืนยาว และมีความเจริญก้าวหน้า อย่างไรก็ตามเมื่อระบบใดระบบหนึ่งได้รับการเสริมสร้างจนกลายเป็นสถาบัน ระบบนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่กำหนดเจตจำนงและกรอบพฤติกรรมของคน แต่ก็ไม่ใช่ว่าระบบจะแข็งตัวจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลง เพราะคนก็สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งล้มเลิกระบบใดระบบหนึ่งภายในสังคมได้ แต่ในท้ายที่สุดคนก็ต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทนระบบเดิมอีกนั่นแหละ

ด้วยความจริงที่ว่าสังคมประกอบด้วยระบบย่อยจำนวนมากที่สัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน เช่น ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรม ระบบการศึกษาฯลฯ อีกทั้งระบบย่อยเหล่านั้นก็ยังมีระบบย่อยของตัวมันเองอีก เช่น ระบบการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจและการจัดสรรอำนาจภายในสังคม มีระบบย่อยหลายระบบ เช่น ระบบการเลือกตั้ง ระบบการบริหารราชการ ระบบนิติบัญญัติ ระบบยุติธรรม ฯลฯ ระบบย่อยต่างๆจำนวนไม่น้อยได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นมาด้วยความตั้งใจของมนุษย์ที่เป็นผู้ให้กำเนิดมันขึ้นมา โดยมีเป้าประสงค์บางอย่างที่ผู้สร้างกำหนดไว้ล่วงหน้า

แต่ก็มีระบบย่อยอีกจำนวนมาก เช่น ระบบค่านิยม ระบบเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรม เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นไปเองของผู้คนในสังคม จึงทำให้คนจำนวนหนึ่งในสังคมอาจไม่ตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของมัน เพราะระบบเหล่านั้นขับเคลื่อนไปจนดูเหมือนเป็นสิ่งธรรมดาที่ดำรงอยู่ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าบางคนตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของระบบเหล่านั้น แต่อาจไม่เข้าใจกลไกการปฏิบัติงานภาพรวมของมัน หรืออาจเข้าใจเพียงบางส่วนเท่านั้น

มีคนจำนวนมากไม่รู้ว่าพฤติกรรมและการกระทำของตนเองที่แสดงออกมาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบดังกล่าว ยังหลงเข้าใจว่าพฤติกรรมและการกระทำเกิดจากเจตจำนงที่เป็นอิสระของตนเองอย่างเดียว ในทางกลับกันก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ให้น้ำหนักกับอิทธิพลของระบบมากเสียจนกระทั่งเชื่ออย่างหมดจิตหมดใจว่า พฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ถูกกำหนดหรือบงการโดยระบบแต่เพียงอย่างเดียว

การที่ระบบย่อยใดระบบย่อยหนึ่งสามารถดำรงอยู่ได้ในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษย์ ก็เพราะว่าเป้าประสงค์และกลไกส่วนใหญ่ของระบบมีความสอดคล้องกับเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบย่อยนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมนุษย์สร้างระบบ จากนั้นระบบกำหนดกรอบการกระทำของมนุษย์ และการกระทำของมนุษย์ตามกรอบที่ระบบกำหนดก็จะทำให้ระบบนั้นมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

แล้วความเปลี่ยนแปลงของระบบและเจตจำนงของมนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงระบบมีที่มาอย่างน้อย 4 เงื่อนไขหลัก ประการแรกคือบุคคลที่อยู่ภายในระบบเกิดการตระหนักรู้ด้วยตนเองว่า ระบบเดิมไม่อาจตอบสนองความปรารถนาและความต้องการของตนหรือพวกของตนเองได้อีกต่อไป พวกเขาจึงพยายามคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการอีกครั้ง ประการที่สองมาจากการที่สมาชิกของระบบคิดอะไรใหม่ๆบางอย่างขึ้นมาด้วยตนเอง และคิดว่าสิ่งนั้นน่าจะดีกว่าเดิม พวกเขาจึงพยายามนำสิ่งที่ตนเองคิดไปปฏิบัติในการปรับเปลี่ยนระบบ

ประการที่สามมาจากการที่สมาชิกของระบบได้รับความคิดหรือสิ่งใหม่ๆมาจากภายนอก ซึ่งอาจมาจากระบบอื่นหรือสังคมอื่นๆ และเห็นว่าสิ่งนั้นน่าจะดีกว่าระบบเดิมที่พวกเขาใช้ พวกเขาจึงลอกเลียนแบบแผนของภายนอกมาใช้ภายในระบบของตนเอง และประการที่สี่มาจากปัจจัยภายนอกระบบซึ่งอยู่ในรูปแบบของบุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์การก็ได้กดดันให้บุคคลที่อยู่ภายในระบบหนึ่งต้องปรับเปลี่ยน เพื่อตอบสนองความต้องการของปัจจัยภายนอกเหล่านั้น เช่น สหภาพยุโรปกดดันให้รัฐบาลไทยต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำประมง

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระบบย่อยใดระบบย่อยหนึ่งของสังคม ก็ย่อมกระทบกับระบบย่อยอื่นๆด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการได้มาของอำนาจในการบริหารประเทศ(จากระบบการเลือกตั้ง มาเป็นระบบการรัฐประหาร) ก็ย่อมกระทบกับระบบการบริหารราชการ และระบบการบัญญัติกฎหมาย หากระบบย่อยหนึ่งเปลี่ยนแปลง แต่ระบบย่อยอื่นยังมีสภาพคงเดิม อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาความขัดแย้งของผู้คนที่อยู่ภายในระบบได้

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระบบย่อยใดระบบย่อยหนึ่งจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อระบบย่อยอื่นๆ ด้วย และจะต้องไตร่ตรองดูว่าระบบย่อยเหล่านั้นซึ่งมีความสัมพันธ์กับระบบย่อยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดการประสานกันอย่างสมดุลและกลมกลืน และทำให้สังคมโดยรวมดำรงอยู่อย่างมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง

ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมมักเกิดจากการที่เจตจำนงของบุคคลในระบบย่อยใดระบบย่อยหนึ่งขัดแย้งกับเป้าประสงค์โดยรวมของระบบย่อยนั้น หรืออาจไปด้วยกันไม่ได้กับระบบย่อยอื่นๆ การปรับเปลี่ยนกลไกของระบบหนึ่ง โดยที่ไม่ปรับเปลี่ยนกลไกและเจตจำนงของผู้คนในระบบย่อยอื่นๆ ย่อมไม่อาจแก้ปัญหาได้

อย่างเช่นปัญหาการเสียชีวิตและบาดเจ็บบนท้องถนนช่วงเทศกาลต่างๆในสังคมไทย ปัญหานี้เกิดจากความไม่ประสานสอดคล้องระหว่างกลไกและเจตจำนงของคนที่อยู่ภายในระบบย่อยต่างๆ จำนวนมาก

หากเราพิจารณาจากจุดเริ่มต้นจากพื้นฐานของสังคมไทย ระบบที่เป็นรากฐานที่สุดคือระบบค่านิยมและวัฒนธรรมของไทย ค่านิยมพื้นฐานของสังคมไทยคือค่านิยมรักสนุก ชอบบันเทิง รักความสำราญ และไม่ให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ พฤติกรรมตามค่านิยมนี้คือการดื่มของมึนเมากันเป็นประจำ การกินอาหารจำนวนมากแบบทิ้งขว้าง การได้ท่องเที่ยวอย่างสำราญ การจับจ่ายซื้อสิ้นค้าอย่างฟุ่มเฟือย และการหลีกเลี่ยงหรือละเมิดกฎเกณฑ์ทันทีหากมีโอกาส เรียกว่าหากมีโอกาสและมีเทศกาลที่ไม่ต้องทำงานคนไทยจำนวนมากจะสำแดงแบบแผนพฤติกรรมเหล่านี้ออกมาทันที

ในอดีตการแสดงพฤติกรรมตามระบบค่านิยมรักสนุกไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะจำกัดอยู่ในแวดวงหมู่บ้านหรือชุมชนของตนเอง ครั้นเมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงจากระบบเกษตรกรรมมาสู่ระบบอุตสาหกรรม คนจำนวนมากที่อยู่ในชนบทหรือต่างจังหวัดก็มาทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆมากมายทั้งอุตสาหกรรมการผลิต การเงิน สื่อสาร และบริการ ซึ่งที่ตั้งของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็อยู่ห่างไกลจากบ้านเดิมอันเป็นถิ่นกำหนดของผู้คน ระบบการคมนาคมก็เปลี่ยนไปจากถนนลูกรังมาสู่ถนนลาดยาง จากขี่เกวียนหรือรถประจำทางเป็นหลัก ก็เปลี่ยนมาขี่จักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัว และระบบบริหารราชการไทยที่กำหนดวันหยุดตามเทศกาลเอาไว้มากมาย

ระบบต่างๆของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ระบบค่านิยมรักสนุก พฤติกรรมการดื่มกินแบบขอบเขตกลับยังดำรงอยู่เหมือนเดิมและอาจเข้มข้นมากกว่าเดิมขึ้นไปอีก เมื่อโอกาสเกิดขึ้นคือระบบราชการกำหนดวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน คนจำนวนมากจึงใช้ระบบคมนาคมเดินทางกลับถิ่นบ้านเกิดหรือเดินทางท่องเที่ยวหาความสำราญด้วยการขับรถยนต์ส่วนตัวบ้างหรือใช้การขนส่งสาธารณะบ้าง ส่วนในต่างจังหวัดตามตัวเมือง อำเภอ และตำบลต่างๆก็มีการใช้รถจักรยานยนต์เดินทางกันมาก ถนนลาดยางเข้าถึงทุกตำบล การดื่มกินฉลองกันอย่างเต็มที่เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานในระบบเศรษฐกิจ บางส่วนดื่มกินจนเมามายและขับรถกลับที่พัก ความเสี่ยงในการอุบัติเหตุก็เพิ่มขึ้น ส่วนบางคนแม้ว่าไม่เมาแต่ความเหน็ดเหนื่อยจากการสนุกจนดึกดื่นก็อาจเกิดขึ้นได้ และเมื่อขับรถก็นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้เช่นเดียวกัน

ขณะที่การเชื่อมโยงของระบบย่อยต่างๆ นำไปสู่การสร้างปัญหา แต่ระบบในการป้องกันปัญหาหรือแก้ปัญหากลับทำแบบเสี่ยงเสี้ยว ซึ่งไม่อาจบรรเทาหรือแก้ปัญหาได้อย่างมีนัยสำคัญ การแก้ปัญหาอย่างเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นจำเป็นจะต้องพิจารณาปมปัญหาที่เชื่อมโยงกันของแต่ละระบบให้ชัดเจน และต้องทำในทุกจุดของระบบทั้งในส่วนที่เป็นกลไกเชิงเนื้อหาของตัวระบบ และเจตจำนงของมนุษย์ที่เป็นสมาชิกของระบบนั้น

หากผู้บริหารประเทศที่มีพลังอำนาจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบและเจตจำนงของบุคคลอื่นๆ ในสังคม ยังไม่เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์หรือมุมมองต่อปัญหาเสียใหม่ คำบ่นประเภท ปัญหาเกิดจากตัวบุคล จนปัญญาที่จะแก้ไข หรือปัญหาเกิดจากระบบ จนไม่รู้จะจัดการอย่างไรดี ก็ต้องได้ยินได้ฟังต่อไปกันเรื่อยๆ ท่ามกลางศพและคนเจ็บที่เพิ่มขึ้นทุกปีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น