xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิด 3 กฎกระทรวง คุม“สวนป่า”ฉบับใหม่ กำหนดเงื่อนไข“ทะเบียนที่ดิน-ป่าไม้ยั่งยืน-แปรรูปไม้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลายวันก่อน คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบ กฎกระทรวง 3 ฉบับ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสวนป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 หลังจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณา โดย ครม.ขอให้รับความเห็นของ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ไปประกอบการพิจารณา โดยมีหลักการคือ
 
ฉบับแรก กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า พ.ศ. ....

กระทรวงทรัพยากรฯ ได้กำหนดที่ดินที่จะขอขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่า ต้องเป็นที่ดินประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น ที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่มีหนังสือรับรองของทางราชการรับรองว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในระยะเวลาที่อาจขอรับโฉนดที่ดิน เป็นต้น

กำหนดให้ผู้มีสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินประสงค์จะใช้ที่ดินนั้นทำสวนป่าเพื่อการค้ายื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามสถานที่กำหนด

กำหนดคำขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า ทะเบียนรับคำขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าและเงื่อนไขแนบท้าย และทะเบียนหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด

กำหนดชนิดของพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในการทำสวนป่าในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามบัญชีรายชื่อชนิดของพันธุ์ไม้ท้ายกฎกระทรวง

กำหนดให้นายทะเบียนพิจารณาและแจ้งการสั่งรับหรือไม่รับขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รับคำขอ กรณีนายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า ให้ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งดังกล่าว คำสั่งวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

กำหนดเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าแล้ว ให้ผู้ทำสวนป่าดำเนินการจัดทำบัญชีแสดงชนิดและจำนวนไม้ที่ได้ทำการปลูกและบำรุงรักษา จัดทำป้ายถาวรแสดงการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าตามกฎหมาย จัดทำหลักเขตหรือเครื่องหมายแสดงแนวเขตที่ดินที่ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า ยินยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูลทางวิชาการและตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ และก่อนตัดหรือโค่นไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่าให้ผู้ทำสวนป่าแจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

ฉบับที่สอง กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขว่าด้วยการรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน พ.ศ. ....** กำหนดนิยาม “การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน” “ใบสำคัญ รับรอง” “หน่วยรับรอง” และ “หน่วยรับรองระบบงาน”กำหนดให้ผู้ทำสวนป่าที่มีความประสงค์จะขอใบสำคัญรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยหลักฐานตามที่ระบุไว้ยื่น ณ สถานที่กำหนด

กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หากไม่ครบถ้วนถูกต้องให้แจ้งผู้ขอเพื่อให้ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนถูกต้องภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง กรณีเอกสารหลักฐานครบถ้วนถูกต้อง ให้นายทะเบียนออกหนังสือตอบรับใบคำขอและมอบให้ผู้ยื่นคำขอนำไปประสานกับหน่วยรับรอง และให้หน่วยรับรองรายงานผลการประเมินให้กรมป่าไม้ทราบ

กำหนดหลักเกณฑ์ของการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานระบบการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน มอก. 14061 หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า กำหนดเมื่อกรมป่าไม้ได้รับรายงานผลการตรวจประเมินให้ดำเนินการออกใบสำคัญรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนภายในระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการประเมิน และแจ้งให้นายทะเบียนทราบ ทั้งนี้ใบสำคัญรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนให้มีกำหนดระยะเวลา 5 ปีกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยรับรองตรวจพบว่าผู้รับใบสำคัญรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ให้รายงานนายทะเบียนทราบภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ตรวจพบ และให้นายทะเบียนสั่งให้ผู้รับใบสำคัญฯ ปฏิบัติหรือจัดการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ดำเนินการ ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบสำคัญรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนฉบับนั้น

ฉบับที่สาม ฉบับสุดท้าย กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้สถานที่เพื่อทำการแปรรูปไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่า พ.ศ. ....
 
กำหนดให้ผู้ทำสวนป่าประสงค์จะขอใช้สถานที่เพื่อทำการแปรรูปไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่าของตนเอง ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยหลักฐาน ณ สถานที่ที่กำหนด

กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำขออนุญาตใช้สถานที่ เพื่อทำการแปรรูปไม้ที่ได้จากการทำสวนป่าดำเนินการตรวจสอบคำขอและเอกสารประกอบคำขอ และเสนอผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่าหรือผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมป่าไม้มอบหมายเพื่อสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปทำการตรวจสอบ โดยผู้อำนวยการสำนักหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมป่าไม้มอบหมายเสนอความเห็นเพื่อให้นายทะเบียนพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้สถานที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ และเมื่อนายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ใช้สถานที่แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลไว้ในทะเบียน

กำหนดใบอนุญาตให้ใช้สถานที่เพื่อทำการแปรรูปไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่า เพื่อการใช้สอยหรือจำหน่าย มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน เพื่อสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้ มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

กำหนดผู้รับใบอนุญาตให้ใช้สถานที่เพื่อทำการแปรรูปไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่าของตนต้องดำเนินการทำหลักเขตแสดงบริเวณที่ทำการแปรรูปไม้ตามที่ระบุในใบอนุญาต แสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ทำบัญชีไม้ท่อน บัญชีไม้แปรรูป หรือบัญชีสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่าและเก็บรักษาบัญชีไว้ไม่น้อยกว่าสองปีนับจากวันอนุญาต

กำหนดคำขอ ใบอนุญาตและทะเบียนใบอนุญาตให้ใช้สถานที่เพื่อทำการแปรรูปไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่า บัญชีไม้ท่อน บัญชีไม้แปรรูป หรือบัญชีสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้ที่ได้มาจากการทำสวนป่า ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด

เพื่อให้สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สวนป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มีสาระสำคัญ ดังนี้

คำว่า ‘สวนป่า’ หมายถึง ที่ดินได้ขึ้นทะเบียนเพื่อทำการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ตามบัญชีแนบท้าย โดยเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีหลักฐาน การอนุญาต การเช่า เช่าซื้อ การโอนหรือการตกทอดทางมรดก

อีกทั้งเป็นที่ดินที่มีหนังสือของทางราชการรับรองว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในระยะเวลาที่อาจขอรับโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ เนื่องจากได้มีการครอบครองและเข้าทํากินในที่ดินดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดิน เพื่อการครองชีพไว้แล้

นอกจากนี้ สวนป่า ยังหมายถึง ที่ดินที่มีหนังสืออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติให้บุคคลทําประโยชน์ และอยู่อาศัย หรือปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ หรือทําการบํารุงป่า หรือปลูกสร้างสวนป่าหรือไม้ยืนต้นในเขตป่าเสื่อมโทรม หรือที่ดินที่มีใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ให้ทําสวนป่า หรือที่ดินที่ได้ดําเนินการเพื่อการปลูกป่าโดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

สำหรับบัญชีต้นไม้แนบท้าย พ.ร.บ.สวนป่า ระบุไว้ 58 ชนิด เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง ประดู่บ้าน เคี่ยม เต็ง รัง ไม้สกุลยาง สะเดา นางพญาเสือโคร่ง จามจุรี มะขามป้อม หลุมพอ ไม้สกุลทุเรียน มะขาม เป็นต้น และไม่ปรากฏว่ามี 'ยางพารา' อย่างที่เกษตรกรกังวลก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ไม้และของป่าที่ได้มาจากการทำสวนป่าย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ทำสวนป่า และผู้ทำสวนป่ามีสิทธิในการทำไม้ แปรรูปไม้ และเก็บของป่า ส่วนสัตว์ที่เกิดและดำรงอยู่โดยธรรมชาติในสวนป่า โดยไม่มีเจ้าของให้ถือเป็นสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

รวมถึงการทำไม้ที่ได้จากการทำสวนป่า ผู้ทำสวนป่าอาจตัดหรือโค่นไม้ แปรรูปไม้ ค้าไม้ มีไว้ครอบครอง และนำไม้เคลื่อนที่ผ่านด่านป่า โดยไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และไม้จากสวนป่าไม่ต้องเสียค่าภาคหลวง ค่าบำรุงป่า และค่าธรรมเนียม ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ

พ.ร.บ.สวนป่า ระบุอีกว่า หากพบผู้ทําสวนป่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการทําสวนป่าหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งสั่งการตาม พ.ร.บ.นี้ ให้นายทะเบียนมีอํานาจสั่งให้ผู้ทําสวนป่านั้นปฏิบัติให้ถูกต้องหรือจัดการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนด

ในกรณีที่ผู้ทําสวนป่าไม่ปฏิบัติหรือจัดการแก้ไขให้ถูกต้องตามคําสั่งของนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กําหนดหรือในกรณีที่ผู้ทําสวนป่าได้กระทําการใดที่ไม่อาจปฏิบัติหรือจัดการแก้ไขให้ถูกต้องได้ ให้นายทะเบียนมีอํานาจสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าได้

โดยผู้ทําสวนป่าผู้ใดถูกเพิกถอนหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า ไม่มีสิทธินําที่ดินแปลงนั้นมายื่นคําขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า เว้นแต่ระยะเวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า

ทั้ง 3 ฉบับ “อธิบดีกรมป่าไม้” จะเป็นผู้รักษาการตามนี้กฎกระทรวงนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น