ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ซีพี” จับมือ “ส.ป.ก.” รุกเปิดโครงการเกษตรกรพึ่งตนข้าวโพดยั่งยืนนำร่องที่โคราช มุ่งพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตต่อไร่ สินค้าได้มาตรฐานปลอดภัย สร้างรายได้ยั่งยืน ตรวจสอบย้อนกลับได้และปลูกในพื้นที่ถูกกม.ไม่บุกรุกผืนป่า ตั้งเป้าพื้นที่ส.ป.ก. 18 จังหวัดทั่วประเทศ คาดมีพื้นที่ร่วมโครงการกว่า 2 ล้านไร่
วันนี้ ( 2 ธ.ค.) ที่ แปลงปลูกข้าวโพดวังไทร หมู่ที่ 8 ต.วังไทร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นายสุวรรณ บูรพรนุสรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พร้อมด้วยนายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ใน เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ร่วมกันเปิดโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” หวังส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดอย่างถูกวิธี โดยมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิต 30% ลดต้นทุน 15% สร้างรายได้เพิ่มสูง เตรียมขยายการเพาะปลูกครอบคลุมพื้นที่225,000 ไร่ ทั่วประเทศ ในปี 2562
นายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) คู่ค้าธุรกิจ เกษตรกร และ บริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปลูกข้าวโพดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ตั้งแต่กระบวนการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินจนถึงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ลดการใช้สารเคมี การเผาตอซัง ลดการบุกรุกผืนป่า และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเพาะปลูก ที่สำคัญเป็นการดูแลห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน
โดยเริ่มโครงการนำร่องดังกล่าวตั้งปี 2557 ที่ ต.วังไทร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และผลการดำเนินโครงการฯ สามารถยกระดับรายได้เกษตรกรจากต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง 25% จากกิโลกรัมละ 6.09 บาท เหลือ 4.55 บาท ขณะที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 57% จาก 645 กก. เป็น 1,011 กก./ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“เป้าหมายที่สำคัญของโครงการนี้ คือ การรณรงค์ให้เกษตรกรเพาะปลูกในพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย ไม่บุกรุกป่า สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ ผลสำเร็จของโครงการฯ ทำให้เกษตรกรในบางพื้นที่มีการรวมกลุ่มเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆในวงกว้าง ซึ่งถือเป็นการพัฒนาเกษตรกรตามแนวทางด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ” นายไพศาล กล่าว
นายไพศาล กล่าวอีกว่า บริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ใน เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังส่งเสริมให้เกษตรกรในโครงการปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 4402-2553 (Thai Agricultural Standard - TAS 4402-2010, Good Agricultural Practices for Maize) อีกทั้งยังจะส่งเสริมและผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย โดยมีแผนขยายขอบเขตการดำเนินโครงการฯให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ มีเป้าหมายจะขยายจำนวนเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้ได้ 14,480 ราย หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ225,000 ไร่ ภายในปี พ.ศ. 2562 โดยในปี 2558 บริษัทสามารถขยายโครงการไปยัง 16 จังหวัด มีเกษตรกรเข้าอบรมในโครงการฯ มากกว่า 3,400 คน คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดกว่า 83,000 ไร่
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีกรอบแนวนโยบายในการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของข้าวโพด เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยมีแนวทางในกระบวนการดังนี้คือ จัดทำรายชื่อผู้รวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และรวมถึงรายชื่อเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดทุกพื้นที่โดยอาศัยข้อมูลจากการรวบรวมอ้างอิงตามเอกสารสิทธิ์ที่ดิน หรือข้อมูลที่เกษตรกรลงทะเบียนไว้กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มีการรับรองสิทธิ์โดยหน่วยงานราชการเท่านั้น ซึ่งกำหนดให้ใช้ระบบฯ อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 เป็นต้นไป
ด้าน นายสุวรรณ บูรพรนุสรณ์ รองเลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยว่าพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศมีเป้าหมายดำเนินการในปี 2559 จำนวน 18 จังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในภาคอีสานดำเนินการใน 2 จังหวัด คือ จ.นครราชสีมาและ จ.เลย คาดว่าพื้นที่ที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านไร่ ในส่วนของจ.นครราชสีมา มีพื้นที่ ส.ป.ก.อยู่กว่า 4 ล้านไร่ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 1.5 แสนไร่ ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว อ.ปากช่อง อ.ปักธงชัย อ.สีคิ้วและ อ.ด่านขุนทด โดยมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวกว่า 100 ราย รวมเป็นพื้นที่ 1,500 ไร่ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตได้อีกเท่าตัวและมีตลาดรองรับที่ชัดเจน นายสุวรรณ กล่าว