ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยที่ “กองทัพบก”ได้ส่งหนังสือ มายัง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศถอนตัวเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้า “โคร
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ.2558 (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะที่ 1 จำนวน 600 เมกะวัตต์
แม้ผ่านคุณสมบัติ 11 โครงการ หลายคนอาจจะมองว่า อาจจะเป็นไปตาม “นโยบายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการจะลบข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการเข้ามาทำประโยชน์ในโครงการนี้
ข่าวระบุว่า ศูนย์การสื่อสาร กองทัพบก ได้ออกหนังสือด่วนที่สุดวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ที่ กฟ.0404/3782 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 แจ้งว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติในโครงการโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 11 แห่ง สละสิทธิ์และไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการคัดเลือกรอบที่ 2 ด้วยวิธีจับสลากซึ่งเดิมกำหนดจะจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ส่งเรื่องคืนกลับ โดยให้เหตุผลว่ากรมพระธรรมนูญ (ธน.) พิจารณาทางกฎหมายแล้วพบว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวของกองทัพบก ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพบกไม่สามารถลงนามในสัญญาร่วมทุนได้ รวมทั้งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาจส่งผลกระทบกับกองทัพบกในอนาคต
สำหรับโครงการฯนี้ตามประกาศของ กกพ. ในการรับซื้อ “ไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ” จำนวนไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าสำหรับหน่วยราชการไม่เกิน 400 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ภาคการเกษตรไม่เกิน 400 เมกะวัตต์ โดยผู้ที่ยื่นเข้าร่วมโครงการต้องมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อโครงการ
ขณะที่กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าระยะแรก 600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.59 ซึ่งการรับซื้อจะพิจารณาตามความพร้อมของสายส่ง โดยจะจำกัดอยู่ในโซนพื้นที่ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคกลางเป็นหลัก ขณะที่ยังไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าในเขตภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนที่เหลือจะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าระยะสอง จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61- 30 มิ.ย.61
หลังจาก กกพ. คาดว่า จะมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามายื่นคัดเลือกมากถึง 4-5 พันราย
มาดูอีกที หนังสือของกองทัพบก ระบุว่า ตามที่ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)ได้อนุมัติให้ ผบ.หน่วยเจ้าของโครงการ เป็นผู้ยื่นเอกสารสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตลอดจนมีอำนาจลงนามหรือแก้ไขเอกสารต่างๆ รวมทั้งการกระทำใดๆที่เกี่ยวข้องแทน ผบ.ทบ.นั้น ต่อมาเมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ได้ประกาศรายชื่อโครงการฯที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งในส่วนของกองทัพบกมีโครงการผ่านการตรวจคุณสมบัติจำนวน 11 โครงการ
แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติหลักการของโครงการและผลการศึกษาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยไม่ใช้วิธีการประมูลจากรมว.กลาโหม โดยสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ส่งเรื่องคืนตามสายงาน และให้เหตุผลตามข้อพิจารณาของกรมพระธรรมนูญ(ธน.)ว่าการดำเนินโครงการฯของกองทัพบก ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพบกไม่สามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุน
รวมทั้งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อกองทัพบกในอนาคต ดังนั้น ผบ.ทบ.จึงสั่งการให้หน่วยเจ้าของโครงการ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากกกพ.จำนวน 11 โครงการสละสิทธิ์และไม่จัดผู้แทนหน่วยเข้าร่วมในขั้นตอนการจับสลากของ กกพ.ที่จะมีขึ้นต่อไป
เมื่อ “กองทัพบก” สละสิทธิ ก็จะทำให้จำนวนผู้เสนอขายไฟฟ้าที่จะเข้าจับสลากน้อยลง
ล่าสุด “นายวีระพล จิรประดิษฐกุล” โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติเลื่อนการจับสลากโครงการรับซื้อไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินหรือโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์การเกษตร จากเดิมที่กำหนดจะจับสลากวันที่ 15 ธ.ค. เป็นวันที่ 22 ธ.ค. เนื่องจากมีผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติได้เข้ามาร้องเรียนจำนวนมาก โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถูกตัดสิทธิร้องเรียนได้ถึงวันศุกร์ที่ 18 ธ.ค. และจะใช้เวลา หลังจากนั้นตรวจสอบเอกสารที่ถูกต้องทั้งหมดเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ทั้งนี้ กกพ.ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.58 ระบุว่ามีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและเข้าจับสลากวันที่ 15 ธ.ค.เพียง 219 โครงการ แบ่งเป็นส่วนราชการ 121 โครงการ และสหกรณ์ฯ 98 โครงการ คิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,028.67 เมกะวัตต์ และมีผู้ถูกตัดสิทธิเพราะปัญหาผังเมืองและไม่ผ่านการประเมินด้านฐานะการเงินถึง 385 ราย ประมาณ 1,800 เมกะวัตต์
ก่อน “กองทัพบก” จะส่งหนังสือถอนตัวมายัง กกพ. พบว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. มีตัวแทนผู้ประกอบการโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่เสนอผลิตในพื้นที่สหกรณ์การเกษตรและราชการจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 70 รายเข้าร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เพื่อขอตรวจสอบกรณีถูกตัดสิทธิไม่เข้าสู่รอบการจับสลาก 600 เมกะวัตต์ ที่ สกพ.กำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค. โดยบางรายเข้าร้องเรียนแล้วได้รับการคัดเลือกให้เข้าสู่กระบวนการจับสลากต่อ
เนื่องจากเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ สกพ.ในการตรวจสอบเอกสาร เช่น กรณีสหกรณ์การเกษตรขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เสนอผลิตไฟฟ้า 4.5 เมกะวัตต์ มีเอกสารครบถ้วนและไม่ติดปัญหาผังเมือง แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบผิดพลาดอ้างว่าไม่มีหนังสือประเมินมาตรฐานสหกรณ์จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ แต่เมื่อมาร้องภายหลังจึงพบว่ามีหนังสือจึงได้สิทธิเข้าจับสลาก
ย้อนกลับไปดูข่าวเก่า ๆ แม้กองทัพบกจะประกาศถอนตัว แต่ ยังพบว่า “กองทัพบก” ยังได้เดินหน้าตาม“นโยบายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน” ของ คสช. อย่างเต็มที่
โดยเฉพาะที่ผ่านมา “คณะกรรมการกิจการพลังงานทดแทนของกองทัพบก” ได้พิจารณาและอนุมัติข้อเสนอของบริษัทเอกชน จำนวน 17 ราย ที่จะดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ ฟาร์ม ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 5เมกะวัตต์ ในพื้นที่ราชพัสดุของกองทัพ รวมกำลังการผลิต 106 เมกะวัตต์ โดยทางคณะกรรมการกิจการพลังงานทดแทนของกองทัพบกชุดนั้น ได้ทำหนังสือเมื่อวันที่ 27 ก.พ.58 ถึง “พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร” ผู้บัญชาการกองทัพบก ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในขณะนั้น ให้พิจารณาอนุมัติในโครงการนี้ (ปัจจุบัน มี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ)
คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีการอนุมัติบริษัทเอกชนให้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิตมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ จำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 310 เมกะวัตต์
เป็นการพิจาณาอนุมัติบริษัทเอกชนทั้ง 17 บริษัท ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ เป็นล็อตที่สองที่กองทัพบกพิจารณาให้เอกชนเข้ามาใช้พื้นที่ราชพัสดุของกองทัพเป็นที่ตั้งโครงการ
มีการเผยแพร่ ว่า บริษัทเอกชนทั้ง 17 ราย กำลังการผลิตรวม 106 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย บริษัท ซูเปอร์ เอนเนอร์ยี กรุ๊ป จำกัด ตั้งโครงการที่พล.1รอ. จังหวัดกาญจนบุรี แปลงที่ 1 กำลังการผลิต 4เมกะวัตต์ และแปลงที่ 2 กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ บริษัท เค แอนด์ เจ เอนเนอร์ยี จำกัด ตั้งโครงการที่ มทบ.33 จังหวัดเชียงใหม่ แปลงที่ 1กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ และแปลงที่ 2 กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ บริษัท โปร โซลาร์ วัน เพื่อสังคม จำกัด ตั้งโครงการที่ ร.17 พัน 4 จังหวัดพะเยา กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ บริษัท โซลาร์ แมเนจเมนท์ ตั้งโครงการที่ จทบ.ต.ก. จังหวัดตาก แปลงที่ 1 กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ แปลงที่ 2 กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์
บริษัท วชรเพาเวอร์ จำกัด ตั้งโครงการที่ จทบ.ส.ร. กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ บริษัท รูฟท๊อป สเปคตรัม จำกัด ตั้งโครงการที่ กสษ.3 กส.ทบ. จังหวัดเชียงใหม่ กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ บริษัท เพาเวอร์อินฟินิท จำกัด ตั้งโครงการที่ ทส.พัฒนา 1 จังหวัดราชบุรี กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ บริษัท เมกา โซลาร์ จำกัด ตั้งโครงการที่ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ จังหวัดตรัง กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ บริษัท ไอวี โซลาร์ จำกัด ตั้งโครงการที่ จทบ.ก.จ. จังหวัดกาญจนบุรี กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์
บริษัท แบนเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งโครงการที่ มทบ.12 จังหวัดปราจีนบุรี กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ บริษัท เชสโก้ พลัส จำกัด ตั้งโครงการที่ กองเกียกกาย จังหวัดนครราชสีมา กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ บริษัท โซเล็ค โซลาร์ แมนเนจเมนท์ จำกัด ตั้งโครงการที่ ศูนย์ฝึก ขส.ทบ. จังหวัดกาญจนบุรี กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด ตั้งโครงการที่ รร.จปร. จังหวัดนครนายก แปลงที่ 1 กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ แปลงที่ 2 กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์
บริษัท ไทย ทรานส์ วิศวกรรม จำกัด ตั้งโครงการที่ ศบบ. จังหวัดลพบุรี กำลังการผลิต 5เมกะวัตต์ บริษัท เอสเอส รีนิวเอเบิล จำกัด ตั้งโครงการที่ ศปภอ.ทบ. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แปลงที่ 1 กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ แปลงที่ 2กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ บริษัท เจพี เพาเวอร์ เทคโนโลยี จำกัด ตั้งโครงการที่ พล.ป. จังหวัดลพบุรี กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ และที่ พล.พัฒนา 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา กำลังการผลิต4 เมกะวัตต์ และบริษัท สยามคลีนโซลูชั่น จำกัด ตั้งโครงการที่ กสษ.จังหวัดกาญจนบุรี กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์
หรือ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่าน พลโท สมชาย ยังพิทักษ์ เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก กองทัพบก ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจ (MOU)ในการพัฒนาโครงการโซลาฟาร์ม ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 33 เมกะวัตต์ เพื่อให้ในหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร กับ บริษัท แพนด้า พาวเวอร์ เอ็นเนอร์จี จำกัด ในพื้นที่ของกองทัพบก ที่จังหวัดปราจีนบุรี ขนาดกำลังการผลิต 10 เมกกะวัตต์
ย้อนมาดูว่าทำไมกองทัพบกถึงประกาศถอนตัวจากโครงการโซล่าฟาร์มของ กกพ. แม้จะผ่านคุณสมบัติ 11 โครงการ นอกจากเรื่องข้อกฎหมาย ในประเด็น ยังไม่ได้รับอนุมัติหลักการของโครงการและผลการศึกษาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยไม่ใช้วิธีการประมูลจากรมว.กลาโหม แล้ว จะเห็นได้ว่าตามหนังสือตอนท้าย กองทัพบก ยังย้ำว่า เกรงจะเป็นประเด็นอ่อนไหว ที่อาจส่งผลกระทบต่อกองทัพบกในอนาคตนั้นเอง แต่ที่แน่ ๆ ภาคเอกชน เงิบไปตาม กันแล้ว