xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังกฎหมายพลังงาน "เกือบเสร็จพวกมันไปแล้ว" !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เป็นที่ทราบกันแล้วว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. มติคณะรัฐมนตรีได้รับทราบผลการหารือของคณะกรรมการ่วมระหว่างพลังงานและคณะกรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่องร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ของกระทรวงพลังงาน โดยมีประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติรวม 26 ประเด็น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปทบทวน และปรับปรุงร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับใหม่เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันจากนั้นจึงยกร่างกฎหมายใหม่มาเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบอีกครั้ง ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

แต่เมื่อดูคำสัมภาษณ์และเอกสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็พบว่ายังมีเรื่องที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นถึง "ความระหว่างบรรทัด"ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือเรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขที่ พน 0307/716 ได้อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ให้รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) ร่วมกับรัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงานนำร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ได้ข้อสรุปก่อนเสนอคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป โดยเรื่องนี้จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีด้วย

กระทรวงพลังงานได้แจ้งในหนังสือดังกล่าวว่า "กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการชี้แจงและหารือร่วมกันตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ดังกล่าวแล้ว ในระหว่างวันที่ 13-22 ตุลาคม 2558"

ต่อมา วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ ได้ลงข่าวพาดหัวว่า "คาดเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่เร็วสุดกลางปี 59" ปรากฏคำสัมภาษณ์ของ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานความตอนหนึ่งว่า:

"โดยที่ผ่านมา ครม.สั่งให้ไปหารือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าควรจะแก้ไขกฎหมายอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา สนช.ส่งตัวแทนส่งที่ปรึกษาซึ่งบางท่านอยู่ใน คปพ. มาร่วมประชุมและเห็นว่า ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มอีกจากที่กระทรวงฯเสนอไป เพียงแต่หากต้องปรับระเบียบอะไรก็ให้ประกาศโดยคณะกรรมการปิโตรเลียมได้

ช่วงที่ผ่านมาได้หารือกับภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญพลังงานและข้าราชการ ซึ่งจะมองถึงความมั่นคงพลังงาน และทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ซึ่งกรณีเปิดสำรวจปิโตรเลียม ดูแล้วก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มจากที่เสนอไปแล้ว เพียงแต่คณะกรรมการปิโตรเลียมสามารถออกประกาศตามข้อเสนอภาคประชาชนให้กำหนดแหล่งว่าให้ใช้พีเอสซีหรือสัมปทานก็ได้ ทั้งนี้ก็แล้วแต่ ครม.ว่าจะเห็นชอบอย่างไร"

จึงเกิดความสงสัยว่าหนังสือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เลขที่ พน 0307/716 ที่ยื่นต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ก่อนหน้านั้น ได้สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ดังกล่าวหรือไม่ ที่อาจทำให้เข้าใจว่า "ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับกระทรวงพลังงานที่ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมอีก" !!!?

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นคำสัมภาษณ์ที่ดูทะแม่งๆ จึงตัดสินใจยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งว่าคำสัมภาษณ์ดังกล่าวที่อ้างว่าได้มีการหารือกับตัวแทน สนช. หรือ คปพ. แล้วอาจทำให้เข้าใจไปว่า ทั้ง กรรมาธิการวิสามัญฯ สนช.ซึ่งอาจรวมถึงผู้แทน คปพ. เห็นว่าไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมนั้น "เป็นความเท็จ"พร้อมทั้งได้แนบหลักฐานเป็นคำถอดเทปและซีดีเทปบันทึกเสียงการประชุมดังกล่าวระหว่างผู้แทนกระทรวงพลังงานและผู้แทนของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯของ สนช. เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงอีกด้วย

โดยเทปบันทึกเสียงนั้นได้ถูกถอดออกมายืนยันความตอนหนึ่งถึงเลขาฯที่ประชุมได้นำเสนอมติของคณะทำงานฯฝ่ายสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่กระทรวงพลังงานเสนอว่า

"คณะทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งสองฉบับของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเห็นควรยืนยันให้นำความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาศึกษาอย่างรอบด้านทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การจูงใจนักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ให้เข้าร่วมลงทุนในการบริหารจัดการปิโตรเลียมของประเทศ และประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติในการจัดเก็บรายได้เข้าสู่รัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนมาประกอบในการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียม และกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของคณะรัฐมนตรี"

พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานที่ประชุมกลับพยายามพูดสรุปไปอีกทางหนึ่งว่า:

"ผมว่าจะบอกไม่เห็นด้วยเนี่ยะ มันไม่ได้น่ะ คือว่าไม่เห็นด้วย เราไม่มีหน้าที่ในการพิจารณาว่าไม่เห็นด้วย ถูกไหมครับ คือขณะนี้เราน่าจะมองอย่างที่ผมพูดให้ฟังว่า เราควรที่จะมองว่ามติครม.ให้เรามาพูดคุยมาชี้แจงกัน ประเด็นคือมาชี้แจงแล้ว เมื่อชี้แจงแล้ว การชี้แจงของเราก็มีการทำความเข้าใจกัน แต่มีบางมาตราหรือบางประเด็น ที่มันไม่สามารถที่จะตกลงได้ ที่ยังมีข้อห่วงใยหรือข้อต่างๆทียังแก้ไม่ได้ เพราะระบบมันแก้ไม่ได้ ผมว่าเป็นอย่างนี้มากกว่า ไม่ใช่ท่านไม่เห็นด้วย ท่านเห็นด้วย แต่บังเอิญสิ่งที่ท่านเห็นด้วยเนี่ยะ มันยังไม่ครบถ้วนกระบวนความ"

พล.อ.ท.ธรรมนิตย์ สิงห์คะสะ คณะทำงานในที่ประชุมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนจากกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษากฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวส่วนกลับว่า

"ยืนยันครับ ไม่เห็นด้วยครับ เพราะว่าสิ่งที่กระทรวงร่างมานั้นไม่ได้เข้ากับสิ่งที่เราศึกษาครับ"

พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ประธานที่ประชุมคณะทำงานฝ่ายกระทรวงพลังงานกล่าวตอบว่า

"ก็ไม่เป็นไร ถ้าท่านว่าอย่างนั้น มันก็เป็นสิทธิของท่าน ไม่เป็นไร ผมก็เรียนท่านรัฐมนตรี"

จากหลักฐานข้างต้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ทบทวนการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่ยังไม่ตอบข้อสงสัยของภาคประชาชน และหยุดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จำนวน 29 แหล่ง และสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มิให้นำข้อมูลที่เป็นเท็จเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเปิดโอกาสให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เข้าพบเพื่อนำเสนอและให้ความเห็นการปฏิรูปพลังงานโดยตรง ก่อนที่จะนำเสนอร่างแก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

โชคดีว่าการยื่นหนังสือฉบับนั้นได้ส่งถึงนายกรัฐมนตรีสำเร็จในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 !!!

วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงทำหนังสือ "ด่วนที่สุด" ที่ นร 053/43721 แจ้งกระทรวงพลังงานเสนอประเด็นที่ยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม)

คำถามจึงมีอยู่ว่า แสดงว่าหนังสือของกระทรวงพลังงาน เลขที่ พน 0307/716 ที่ได้เสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ไม่ได้แจ้งประเด็นที่ยังมีความขัดแย้ง ใช่หรือไม่ อย่างไร !!!?

คำถามชวนคิดต่อมาคือ ถ้าไม่มีใครในคณะรัฐมนตรีทราบประเด็นที่มีความขัดแย้งแล้ว มติคณะรัฐมนตรีจะออกมาเป็นอย่างไร?

วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังาน จึงต้องทำหนังสือถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ พน 037/769 เพื่อชี้แจงประเด็นที่ยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ความตอนหนึ่งว่า

"กระทรวงพลังงานขอเรียนชี้แจงว่า ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานเป็นการเฉพาะโดยมอบหมายให้พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ (ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ ได้ไปประชุมหารือและชี้แจงกับผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สนช.ในกระทรวงระหว่างวันที่ 13-21 ตุลาคม 2558 และขอเรียนสรุปดังนี้

1.ประเด็นที่ยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ...และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ (ฉบับที่...) พ.ศ.... คือการที่ผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สนช. ยืนยันว่า จะต้องแก้ไขร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... ตามที่ สนช. เสนอทุกประเด็นก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

2.ในขณะที่กระทรวงพลังงานเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวได้มีการนำข้อเสนอแนะในระยะเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สนช. มาพิจารณาแล้ว โดยได้มีการเพิ่มการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเข้าไปในกฎหมายแล้ว

สำหรับข้อเสนอแนะบางประเด็นสามารถบริหารจัดการได้โดยการกำหนดในประกาศเชิญชวนหรือการออกประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หรือการออกกฎกระทรวง โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย และโดยที่ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สนช. อีกหลายประเด็น เป็นเรื่องที่ต้องนำมาศึกษาในรายละเอียดร่วมกันหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อเพื่อให้มีความรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุน ควรเป็นการดำเนินการในระยะยาวต่อไป

3.ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงขอเสนอสรุปผลการชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผลการพิจารณาของกระทรวงพลังงานในประเด็นต่างๆให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป"

และถือว่าโชคดีของประเทศไทยที่มี 3 พลังรักชาติมารวมกัน พลังด้านหนึ่งคณะบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมากมาร่วมลงนามคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับเมื่อวันอังคารที่ 7 ธันวาคม 2558 พลังด้านที่สองมีเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พร้อมมวลชนฉุกเฉินมาร่วมคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมกว่า 400 คนในวันที่ 8 ธันวาคม 2558 อีกทั้งยังได้น้ำหนักอันสำคัญในพลังด้านที่ 3 ของกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยืนหยัดอย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของกระทรวงพลังงานและให้แก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้ครบถ้วนสมบูรณ์เสียก่อน

ในที่สุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีการประชุมกันในเรื่องดังกล่าวนี้ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 สิงหาคม 2558 เกี่ยวกับการชี้แจงร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ของกระทรวงพลังงานต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวม 3 ประการดังนี้

1.กรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยืนยันให้กระทรวงพลังงานแก้ไขกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมและกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในประเด็นการเพิ่มระบบสัญญาจ้างผลิต (Service Contract) และการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับ ไปเพิ่มหลักการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยอาจกำหนดรายละเอียดไว้ในกฎหมายเฉพาะหรืออนุบัญญัติต่อไป

2.กรณีประเด็นที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังเห็นว่า สามารถดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย โดยกำหนดเป็นกฎกระทรวงหรือประกาศได้นั้น เห็นควรให้กระทรวงพลังงานชี้แจงให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และองค์กรพัฒนาเอกชน (Non Government Organizations : NGOs) ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถึงเหตุผลของการดำเนินการดังกล่าวอย่างชัดเจนด้วย

3. กรณีประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยของร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับที่กระทรวงพลังงานชี้แจงว่า อยู่นอกกรอบของร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการไปแล้วนั้น ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่างพระราชบัญญัติฯ รวม 2 ฉบับ ไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ไปแก้ไขเพิ่มเติมหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้สามารถแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการของสภา และให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาด้วย ส่วนประเด็นที่ไม่สามารถแก้ไขได้ให้กระทรวงพลังงานไปชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ

ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติว่า :

1.รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการชี้แจงร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ...และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิตบัญญัติแห่งชาติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

2.ให้รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปชี้แจงทำความเข้าใจต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และ NGOs เกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นในการแก้ไขแผนพลังงานของประเทศ และในประเด็นที่ยังมีข้อขัดแย้งในสังคม เช่น จำนวนแหล่งปิโตรเลียมและปริมาณปิโตรเลียมที่พบ ปริมาณการผลิต รายได้ของรัฐบาลภายใต้ระบบให้สัมปทาน บริษัทต่างประเทศที่สนใจต่อการเปิดระบบสัมปทาน ข้อดีข้อเสียของระบบสัมปทาน ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบจ้างผลิต การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และแนวทางแก้ไขการขาดแคลนพลังงานเป็นต้น

3.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... ไปปรับแก้ไขตามข้อสังเกตของรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

แม้ว่ามติคณะรัฐมนตรีจะออกมาว่ายังไม่ผ่านกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับก็ตาม แต่เงื่อนไขในมติดังกล่าวก็ยังมีหลายประเด็นที่ไม่น่าไว้วางใจนัก เช่น การเน้นให้กระทรวงพลังงานชี้แจงฝ่ายเดียว (แทนที่จะเน้นการรับฟังเพื่อไปร่วมกันหารือในการปรับปรุงแก้ไข) การที่อาจมีบางคนในคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกลุ่มทุนพลังงาน แนวคิดที่จะเพิ่มสัดส่วนกลุ่มทุนพลังงานในชั้นกรรมาธิการร่างกฎหมายของ สนช. การไม่กล่าวถึงระบบแบ่งปันผลผลิตในกฎหมายของกระทรวงพลังงานที่แตกต่างและมีจุดอ่อนมากมายมหาศาล ฯลฯ แต่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)ก็จะเดินหน้าจับตาทุกรายละเอียดสู้ในยกต่อๆไป ที่จะต้องเจอกันอีกหลายรอบอย่างแน่นอน

ดังนั้นเพื่อดำเนินการส่งท้ายปีเก่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะดำเนินการ "เชิงรุก" ในวันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558 โดยจะทำการยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในช่วงเวลา 10.00 น. (ถนนพระทิตย์ ติดธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) และจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในช่วงเวลา 14.00 น. (ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ) เพื่อช่วยกันทำให้เกิดความรัดกุมรอบคอบในการดำเนินการกฎหมายปิโตรเลียมนี้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น