xs
xsm
sm
md
lg

ทุจริตราชภักดิ์กับมาตรา 112

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

กรณีอุทยานราชภักดิ์ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่มีการกล่าวขานกันตลอด ต้องรอดูว่าผลของกรรมการสอบชุดของพล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม ที่กองทัพตั้งกรรมการสอบกันเองนั้นจะออกมาสร้างความเชื่อถือให้กับสังคมหรือไม่ หลังจากการสอบของกองทัพบกไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม

รวมถึงต้องรอดูว่า การสอบของ สตง.และ ป.ป.ช.ที่มีผู้ยื่นให้สอบสวนแล้วนั้นจะปรากฏผลออกมาอย่างไร

แต่ที่อยากกล่าวถึงก็คือประเด็นเรื่องแผนผังการทุจริตราชภักดิ์ ที่มีเรื่องดำเนินคดีคนโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ไม่ทราบว่าได้เห็นกันหรือยัง

ในผังดังกล่าวมีการโยงใยว่า คนโน้นคนนี้รับผลประโยชน์จากโครงการ มีคนถูกพาดพิงหลายคนรวมถึงนายกฯ และภรรยา กรณีดังกล่าว ตามความเห็นส่วนตัวผมเห็นว่า เข้าข่ายหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 แน่ๆ แต่เป็นความผิดต่อบุคคล ผู้ถูกกล่าวหาในผังได้รับความเสียหายแน่ ดังนั้นนายกฯ หรือใครที่ถูกอ้างในผังได้รับความเสียหายก็ไปฟ้องศาลหรือแจ้งความดำเนินคดี ส่วนใครผิดใครถูกไปพิสูจน์กันในศาลอาญา ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 บัญญัติว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ผมประหลาดใจว่า คนโพสต์แทนที่จะถูกฟ้องดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 กลับถูกดำเนินคดีในมาตรา 116 ซึ่งเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ต้องขึ้นศาลทหาร (ส่วนกรณีที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ด้วยนั้น มาจากการโพสต์แชร์ไลค์ข้อความที่อาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา112 ผมจะพูดแยกอีกประเด็นหนึ่ง) ส่วนความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นเห็นว่าเข้าข่ายอยู่แล้ว

ทำความเข้าใจตรงกันนะว่า ผมสงสัยทำไมไม่ดำเนินคดีตามมาตรา 326ฐานหมิ่นประมาท แต่กลับให้รัฐเป็นผู้ดำเนินคดีตามมาตรา 116 ฐานทำลายความมั่นคงของรัฐ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

จะเห็นว่า ความผิดตามมาตรา 116 เป็นความผิดที่ต้องกระทำต่อรัฐ ถ้าจะผิด 116 ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า คนโพสต์โพสต์แผนผังดังกล่าวด้วยความมุ่งหมายต่อความปั่นป่วนในรัฐ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือชักชวนให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน คำถามว่า นายกรัฐมนตรีหรือคนที่ถูกกล่าวถึงในผังทุจริตเป็นรัฐหรือไม่ ผมว่าไม่น่าจะใช่ ดังนั้นคู่กรณีก็คือคนที่ถูกกล่าวหาในผังกับคนโพสต์ผังไม่ใช่รัฐกับคนโพสต์ผัง

ยกตัวอย่างคุณสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวหาทักษิณ ในขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ทักษิณก็ต้องไปแจ้งความหรือฟ้องศาลในฐานะส่วนตัว ไอ้ตู่ เต้นกล่าวหาคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า ฆ่าประชาชนระหว่างเป็นนายกฯ คุณอภิสิทธิ์ก็ไปแจ้งความหรือฟ้องศาลในฐานะส่วนตัว สามเกลอ ปชป.ไปกล่าวหายิ่งลักษณ์เรื่องโฟร์ซีซั่นระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ก็ต้องไปฟ้องศาลเอาเอง

ความเข้าใจของผมผิดหรือถูกฝากคำถามถึงนักกฎหมายด้วยครับ

มาที่กรณีของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรานี้บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี เห็นได้ชัดว่า มาตรานี้ใช้ปกป้องการล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น

ดังนั้น การที่รัฐบาลขยายผลจากคนที่โพสต์ผังการทุจริตราชภักดิ์กล่าวหาใครต่อใครให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งผมเห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทนั้น หลังจากตรวจพบว่า บุคคลเดียวกันนั้นไปโพสต์ข้อความ หรือไปคลิกไลค์ข้อความที่อาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 จึงแจ้งข้อหาดำเนินคดีตามมาตรา 112 ไปพร้อมกัน แต่ควรจะต้องอธิบายให้ชัดว่า การแจ้งข้อหาเพราะโพสต์หมิ่นในเรื่องทุจริตอุทยานราชภักดิ์เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การแจ้งความดำเนินคดีในมาตรา 112 นั้นเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระกัน เพราะขณะนี้มีคนมาโจมตีแล้วว่า เอามาตรา 112 มาจัดการกับคนเปิดโปงทุจริตอุทยานราชภักดิ์

เพราะการใช้กฎหมายมาตรา 112 นั้นจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง ใช้เพื่อปกป้องสถาบัน ไม่ให้ถูกมองว่า ใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดความเห็นต่างทางการเมืองซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบัน

คนโพสต์ข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายตามมาตรา 112 นั้นผิดแน่ แต่ที่ถกเถียงกันเรื่องการคลิกแชร์ไลค์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 มีความผิดหรือไม่นั้น มีความเห็นแตกต่างกันไป ซึ่งผมคิดว่า ต้องพิสูจน์เจตนาซึ่งเป็นหลักของกฎหมายอาญา แต่ถ้ารู้อยู่แล้วว่า ข้อความนั้นมีความผิดตามมาตรา 112 แล้วนำไปแชร์หรือไลค์ ความเห็นส่วนตัวผมคนที่แชร์คือร่วมเผยแพร่น่าจะเข้าข่ายร่วมกระทำผิดแน่ เหมือนสื่อเอาความเห็นหมิ่นประมาทบุคคลอื่นของคนหนึ่งมาลงก็จะกลายเป็นจำเลยร่วมด้วย แต่การคลิกไลค์นี่ผิดไหม ยอมรับนะว่า ผมว่าไม่น่าจะผิดนะ

ยกตัวอย่างเมื่อเห็นคนกระทำความผิดผ่านคลิปวิดีโอที่มีคนเอามาโพสต์ แต่คลิปวิดีโอนั้นมีการกล่าวหาบุคคลอื่นรุนแรง คนผิดก็น่าจะเป็นคนที่กล่าวหาบุคคลอื่นในคลิปกับคนโพสต์แชร์เพื่อเผยแพร่ แต่ไปกดไลค์เฉยๆ ไม่น่าจะเป็นความผิด

นักกฎหมายบางคนบอกว่า ไม่มีกฎหมายไหนบัญญัติว่า การแสดงความชื่นชอบอะไรแล้วเข้าข่ายความผิดด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีความเห็นต่างกันในข้อกฎหมายแต่สุดท้ายก็ต้องเป็นการวินิจฉัยของศาลซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำพิพากษาฎีกาที่เป็นบรรทัดฐานออกมาเพราะพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพิ่งจะออกมาบังคับใช้ไม่นาน

แต่บอกตรงๆ ครับว่า ผมเห็นข้อความที่อาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มากมายในโลกโซเชียล แต่ก็ไม่เห็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินการอย่างไรปล่อยให้มีการเหิมเกริมจาบจ้วงอยู่เต็มไปหมด แต่พอมีการแชร์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ก็เอามาดำเนินคดีพ่วงทันที

ผมไม่ได้หมายความว่า ให้นำมาตรา 112 ไปใช้อย่างพร่ำเพรื่อ เหวี่ยงแหกล่าวหาใครไปหมด แต่ต้องใช้กับคนที่กระทำความผิดเข้าข่ายในบทบัญญัติของกฎหมายจริงๆ เพื่อให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่นำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น