xs
xsm
sm
md
lg

(ตอนที่ 2) ต้อนรับปี 2016 กับก้าวสำคัญของ Apple, Facebook, Google, Samsung และ Sony สู่เทคโนโลยี VR และ AR

เผยแพร่:   โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล

ที่มาของภาพ: http://techassimilate.com/
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาเอกวิทยาการคอมพิวเตอร์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://as.nida.ac.th


ในสัปดาห์ก่อนผู้เขียนได้กล่าวถึงเทรนด์ของ Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในแวดวงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ใช้ทั่วไปได้ในอนาคต โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมาที่แว่น VR/AR แบบสวมหัวครอบดวงตาซึ่งให้ภาพและเสียงสามมิติแบบเสมือนจริงได้นั้น ถูกลงทุนและพัฒนากันอย่างจริงจังโดยบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกมากมายทั้ง Facebook, Samsung, Sony, Google, Microsoft, LG, Panasonic, HTC และ Huawei และในปี 2016 ที่กำลังจะถึงนี้ก็เป็นปีแห่งฮาร์ดแวร์ด้าน VR (Year of VR Hardware) ซึ่งบรรดาแว่น VR/AR ต้นแบบจากบริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้ามีกำหนดจะออกเวอร์ชันสำหรับผู้ใช้ทั่วไปให้ได้ซื้อไปลองใช้กันแล้ว

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการแห่ขุดทองด้าน VR/AR ของบริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีนี้ Apple กลับเป็นบริษัทที่ดูจะไม่ค่อยแสดงท่าทีสนใจใน VR/AR สักเท่าไหร่นัก โดยมีความเคลื่อนไหวน้อยมากโดยเฉพาะถ้าเทียบกับทางฝั่งของ Facebook ที่นอกจากจะกวาดซื้อบริษัทเทคโนโลยีทางด้าน VR/AR ไปถึง 5 บริษัทแล้ว หัวเรือใหญ่อย่าง Mark Zuckerberg ก็แสดงออกถึงการสนับสนุนโปรเจกต์ Oculus Rift อย่างเต็มที่ แต่จากข่าวล่าสุด ดูเหมือนว่าในที่สุดบริษัท Apple ที่สงวนท่าทีต่อเทคโนโลยี VR/AR นี้มาตลอดก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวที่ส่งสัญญาณถึงการออกตัวสู่ตลาด VR/AR อย่างเปิดเผยกับเขาบ้างแล้วค่ะ โดยผู้เขียนได้รวบรวมการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจทางด้าน VR/AR ของ Apple มาให้คุณผู้อ่านโดยเฉพาะแฟนพันธุ์แท้ของ Apple ได้ติดตามกัน 7 ข้อดังนี้

1.(ปี 2013) Apple ซื้อกิจการของ PrimeSense ไปด้วยมูลค่า 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12,000 ล้านบาท) โดยบริษัทนี้คือเจ้าของเทคโนโลยีเซนเซอร์สามมิติซึ่งเป็นกลไกหลักภายในเซนเซอร์ Kinect ของเครื่องเล่นเกม Xbox 360 ของ Microsoft

2.(กุมภาพันธ์ 2015) Apple ประกาศรับสมัครวิศวกรสำหรับพัฒนาฮาร์ดแวร์ทางด้าน VR และวิศวกรซอฟต์แวร์อาวุโสด้านออปติกและการแสดงผล โดยระบุว่าต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ในระบบการแสดงภาพที่หลากหลายและมีความเข้าใจในสภาพแวดล้อมการทำงานของ VR เป็นอย่างดี

3.(กุมภาพันธ์ 2015) Apple ได้รับสิทธิบัตรสำหรับแว่น VR ที่มีลักษณะคล้ายกับ Google Cardboard และ Samsung VR Gear โดยแว่นที่ถูกจดสิทธิบัตรนี้สามารถนำอุปกรณ์ iOS ใส่เข้าไปเพื่อสัมผัสประสบการณ์สามมิติจากหน้าจออุปกรณ์ iOS นั้น ๆ ได้ และยังมีการใช้รีโมตคอนโทรลแยกต่างหากเพื่อให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการแสดงผลบนหน้าจอของอุปกรณ์ iOS ที่ถูกใส่ไว้ในแว่นได้ด้วย
ที่มาของภาพ: www.cnbc.com
4.(มีนาคม 2015) Apple ซื้อบริษัท Metaio ยักษ์ใหญ่ด้าน VR/AR จากเยอรมันเจ้าของสิทธิบัตรทางด้าน VR มากมายไปในมูลค่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,100 ล้านบาท)

5.(สิงหาคม 2015) Apple ว่าจ้างวิศวกรที่เป็นหัวหน้าทีมในการพัฒนาระบบเสียงให้กับโปรเจกต์แว่น AR สามมิติหรือ HoloLens ของ Microsoft

6.(ตุลาคม 2015) เปิดตัวผลงานทางด้าน VR ชิ้นแรกจาก Apple กับ “The Experience Bus” มิวสิกวิดีโอที่ดูได้แบบ 360 องศา ผ่านทางแอปพลิเคชันชื่อ Vrse

7.(พฤศจิกายน 2015) มีการยืนยันข่าวว่า Apple ได้ซื้อบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ตอัป (Tech Startup) สัญชาติสวิสชื่อ Faceshift ไปแล้วในมูลค่าที่ไม่เปิดเผย โดยบริษัทนี้คือผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี Real-time motion capture (MoCap) ที่นำการแสดงออกทางสีหน้าของคนจริงไปใส่ให้กับตัวละครในภาพยนตร์ได้แบบทันทีทันใดซึ่งถูกใช้ในภาพยนตร์ Star Wars: The Force Awakens ที่กำลังจะลงโรงในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

พอดูรวม ๆ อย่างนี้แล้วก็เหมือนจะเห็นภาพการเข้าสู่สังเวียน VR/AR อย่างเงียบ ๆ ของ Apple นะคะ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือ การที่ Apple ตัดสินใจจะลงทุนกับเทคโนโลยีอะไรสักอย่าง นั่นน่าจะแปลว่า เทคโนโลยีนั้นมีอะไรดีมากกว่าแค่ความไฮเทคตามที่ Steve Jobs เคยพูดไว้เกี่ยวกับ “Technology and Liberal Arts (เทคโนโลยีและศิลปะ)” ว่า “แค่เทคโนโลยีอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ผสานศิลปะและความเป็นมนุษย์เข้าไปด้วยถึงจะสร้างผลลัพธ์ที่ให้ความสุขกับผู้คนได้” ซึ่งคำกล่าวนี้ก็จริงในแง่หนึ่ง เพราะแม้เทคโนโลยี VR/AR จะถูกพัฒนาได้ไฮเทคล้ำยุคมากเพียงใด แต่ถ้าไม่มีนักศิลปะที่จะมาผลิตเรื่องราวหรือสร้างสรรค์รูปแบบการใช้งานที่น่าสนใจและเหมาะสมกับเทคโนโลยี VR/AR ให้ ความไฮเทคเหล่านี้ก็คงไร้ประโยชน์ ซึ่งตรงจุดนี้เองที่นักวิเคราะห์บางรายคาดการณ์ไว้ว่า ด้วยคอนเนคชันระหว่าง Apple กับบริษัทผู้ผลิตหนังการ์ตูนสามมิติชื่อดังจากฮอลลีวูดอย่าง Pixar การผนึกกำลังกันเพื่อผสานเทคโนโลยีเข้ากับศิลปะสำหรับสร้างประสบการณ์การชมภาพยนตร์สามมิติแบบเสมือนจริงก็น่าจะมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งถ้าทำได้เช่นนั้นจริงมูลค่าของ VR/AR ก็จะสามารถเพิ่มได้อีกมหาศาลเลยค่ะอ้างอิงจาก Variety.com ที่กล่าวถึงงานวิจัยจาก KZero Worldwide ว่า “เมื่อไหร่ที่ทั้งเทคโนโลยีและเนื้อหาทางด้าน VR พร้อม จำนวนอุปกรณ์แสดงผล VR แบบใช้ส่วนตัวจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้จาก 200,000 รายในปี 2014 ไปเป็น 170 ล้านราย (มากขึ้น 850 เท่า) ในปี 2018 ได้”
ที่มาของภาพ: http://thewiredhomeschool.com/
เทียบกับ Facebook หรือ Google แล้ว Apple อาจดูเหมือนออกตัวช้าไปหน่อยนะคะสำหรับเทคโนโลยี VR/AR นี้ แต่ลักษณะการมาช้าแต่กลับสามารถโดดเด่นหรือแย่งซีนได้ก็เป็นเรื่องที่ Apple เคยทำได้มาก่อนเช่นกัน แต่สุดท้ายแล้วแม้จะมีสิทธิบัตรมากมายแค่ไหนก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าของที่จดสิทธิบัตรนั้นจะได้ออกมาสู่ท้องตลาดจริง บรรดาสาวก Apple คงได้แต่รอลุ้นดูท่าทีกันต่อในปี 2016 นี้ล่ะค่ะว่า Apple จะตัดสินใจลุยต่อทางด้าน VR/AR เหมือนบริษัทเทคโนโลยีเจ้าอื่น ๆ หรือไม่

สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยีทางด้าน VR/AR ทางคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีหลักสูตรปริญญาโททางด้านคอมพิวเตอร์ที่เปิดสอนทางด้านนี้อยู่โดยสามารถสอบถามได้ที่อีเมล์ thitirat@as.nida.ac.th ค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น