xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถวายอาลัย...สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันที่ 16 ธันวาคม 2558

เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(เจริญ สุวฑฺฒโน) นับเป็นวโรกาสสำคัญอีกวาระหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งประเทศ จะได้พร้อมใจกันถวายความอาลัย สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นครั้งสุดท้าย

ทั้งนี้ หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2558 รวม 3 วัน โดยในวันที่ 16 ธันวาคมจะมีพิธีเชิญพระศพจากวัดบวรนิเวศวิหารฯ ไปยังวัดเทพศิรินทราวาสฯ เพื่อพระราชทานเพลิงพระศพ จากนั้นในวันที่ 17 ธันวาคมจะเก็บพระอัฐิเพื่อนำไปเก็บไว้ ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหารฯ ต่อไป

และในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนชั้นเครื่องเกียรติยศประกอบพระศพ จากพระโกศกุดั่นใหญ่ เป็นพระโกศทองน้อย ซึ่งถือเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้าเลยทีเดียว

โดยสำนักราชเลขาธิการ ได้ทำหนังสือที่ รล 0002.3/30054 นมัสการ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตโต) รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ความว่า

“ในโอกาสที่พระราชทานเลื่อนเครื่องเกียรติยศประกอบพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จากพระโกศกุดั่นน้อย เป็นพระโกศกุดั่นใหญ่ เป็นกรณีพิเศษนั้น

บัดนี้ ถึงวาระการพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนชั้นเครื่องเกียรติยศประกอบพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จากพระกุดั่นใหญ่ เป็นพระโกศทองน้อย ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ระหว่างวันที่ 15 - 17 ธันวาคม 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศและบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างสมเด็จพระสังฆราชในอดีตด้วยทรงดำรงอยู่ในครุฐานียะ เป็นที่ตั้งแห่งพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่ามาโดยตลอดพระชนม์ชีพ”

นายธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพระราชพิธี อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราช ที่มาจากสามัญชน พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ ที่ได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นพระโกศประกอบพระอิสริยยศ ถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อคราวสิ้นพระชนม์ โดยได้เลื่อนจากพระโกศกุดั่นน้อย เป็นพระโกศกุดั่นใหญ่ ส่วนครั้งที่ 2 คราวออกพระเมรุระหว่าง 15 -17 ธันวาคม 2558 โดยเลื่อนพระโกศกุดั่นใหญ่ เป็น พระโกศทองน้อย ซึ่งพระโกศทองน้อย ถือเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้า

นอกจากนี้ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์(อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ยังให้ข้อมูลด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์หนังสือพระราชทานถวายเป็นพระอนุสรณ์ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จำนวน 4 เล่ม คือ 1.ธรรมบรรยายทางวิทยุ อ.ส. ระหว่างการทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 2.พระไตรรัตนคุณ : พระธรรมบรรยายแนวฝึกหัดอบรมจิตที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงแสดง ณ ตึก สว ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร 3.พระธรรมเทศนาในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุมาศ พระเมรุ ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2493-2555 และ4.โครงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(ฉบับถอดความ)

ส่วนรัฐบาลได้จัดพิมพ์หนังสือโดยเสด็จพระราชกุศล ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ จำนวน 3 เล่ม ดังนี้ 1.คัมภีร์ลลิตวิสตระ พระพุทธประวัติฝ่ายมหายาน ภาษาสันสกฤต 2.คัมภีร์ลลิตวิสตระ พระพุทธประวัติฝ่ายมหายาน ภาษาไทย และ3.การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนหนังสือบวรธรรมพบพิตร ทั้งฉบับพระประวัติ และประมวลพระรูป ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่แจกให้แก่พุทธศาสนิกชนที่มาร่วมพระราชพิธีแล้ว

ขณะที่ มหาเถรสมาคม(มส.) ร่วมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระสังฆราช จึงได้จัดพิมพ์หนังสือชินมหานิทาน เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นภาษาบาลี และภาษาไทย มีเนื้อหา 624 หน้า จัดพิมพ์ 5,000 เล่ม เพื่อมอบให้แก่ผู้ร่วมพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราชด้วย

สำหรับพุทธศาสนิกชนที่ต้องการถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายสามารถถวายดอกไม้จันทน์ตามวัดในเขตกรุงเทพฯ ทั้ง 48 วัด ดังนี้ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเทพศิรินทราวาส วัดคลองเตยใน วัดพิชยญาติการาม วัดพระยาสุเรนทร์ วัดบุญศรีมุนิกรณ์ วัดราชโอรสาราม วัดดอนเมือง วัดพรหมศาราม วัดรัชฎาธิษฐาน วัดปุรณาวาส วัดทุ่งครุ วัดเวฬุราชิณ วัดเจ้าอาม วัดอรุณราชวราราม วัดเทพลีลา วัดเลา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน วัดราชสิงขร วัดราษฎร์บำรุง(งามศิริวิทยาคาร) วัดมัชฌันติการาม วัดบางนาใน วัดนินสุขาราม วัดอาวุธวิกสิตาราม วัดหัวลำโพง วัดนวลจันทร์ วัดปทุมวนาราม วัดทุ่งเศรษฐี วัดไผ่ตัน วัดวชิรธรรมสาธิต วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ วัดบำเพ็ญเหนือ วัดปริวาสราชสงคราม วัดดิสหงษาราม วัดราษฎร์บูรณะ วัดลานบุญ วัดสาครสุ่นประชาสรรค์ วัดบึงทองหลาง วัดธาตุทอง วัดยาง วัดลาดบัวขาว(ราชโยธา) วัดยานนาวา วัดอยู่ดีบำรุงธรรม(ออเงิน) วัดอุดมรังสี วัดหนองจอก วัดหลักสี่ และวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

ส่วนในภูมิภาคจัดทุกอำเภอกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ






กำลังโหลดความคิดเห็น