ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
หลังจากที่ Full Text ของ TPP ถูกเปิดเผยออกมาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน กระแสคัดค้านและบทวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็ประดังกันออกมาเรื่อยๆ ผมขอนำมาสรุปเป็นข้อที่ 41- 50 ต่อจาก 40 ข้อที่เคยเขียนไว้แล้วนะครับ
• สามารถอ่านตอนที่ 1- 20 ได้ที่ www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000112547
• สามารถอ่านตอนที่ 21- 40 ได้ที่ www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000116183
41.ข้อตกลง TPP มีกลไก Investor-State Dispute Settlement (ISDS) ซึ่งจะอนุญาตให้บริษัทข้ามชาติสามารถฟ้องร้องรัฐบาลของประเทศสมาชิกได้ หากรัฐบาลของประเทศสมาชิกออกกฎระเบียบที่ทำให้บริษัทข้ามชาติ เหล่านั้นเสียประโยชน์ แม้ว่ากฎระเบียบเหล่านั้นจะออกมาบังคับใช้เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของคนในประเทศก็ตาม ทำให้นักประชาสังคมทั่วโลกมองว่า TPP คือการถ่ายโอนผลประโยชน์ของประชาชนในเรื่อง สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และคุณภาพการทำงานของประชาชนจำนวนมากไปให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่
42.กระบวนการฟ้องร้องและดำเนินคดีจะใช้อนุญาโตตุลาการ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้คู่กรณีรู้สึกไม่เป็นธรรมและอาจมีการแทรกแซงกระบวนการได้เมื่อมีผลประโยชน์มหาศาลเป็นเครื่องต่อรอง โดยนักกฎหมายชาวญี่ปุ่น Sachie Mizohata ตีพิมพ์บทความใน The Asia-Pacific Journal, Vol. 11, Issue 36, No. 3. ว่ากระบวนการดังกล่าวเท่ากับเป็นการอนุญาตให้ต่างชาติสามารถเข้ามาแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ ซึ่งเท่ากับเป็นการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตย ซึ่งในขณะนี้หลายๆ กลุ่มในประเทศญี่ปุ่น อาทิ Association of University Faculties (AUF), Japan Medical Association, เครือข่ายนักกฎหมายญี่ปุ่นผู้ต่อต้าน TPP, Central Union of Agricultural Cooperatives (JA-Zenchu), Federation of Housewives (กลุ่มนี้มีพลังมากนะครับในสังคมญี่ปุ่น เนื่องจากสามีญี่ปุ่นทุกคนโอนเงินเดือนของตนเองให้ภรรยาของเขาเป็นคนบริหารจัดการทั้งหมด) ฯลฯ ก็ออกมาคัดค้านการเข้าร่วม TPP ของรัฐบาล นอกจากที่ญี่ปุ่นแล้ว Professor Jane Kelsey จาก University of Auckland ก็ออกมาวิพากษ์ประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน โดยพิจารณาว่านิวซีแลนด์อาจจะได้ประโยชน์จาก TPP ในการขายผลิตภัณฑ์นมได้มากขึ้น แต่นั่นก็เป็นผลประโยชน์ที่ต้องรออีก 20-30 ปีเพื่อที่จะได้รับผลเต็มที่ แต่ผลเสียจาก TPP เกิดขึ้นทันที
43.ประเด็นเรื่องความลับส่วนบุคคล ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงรำคาญเวลาต้องรับโทรศัพท์แล้วคนที่เรากำลังคุยอยู่ด้วยกำลังพยายามขายสินค้าหรือบริการอะไรให้เรา โดยที่เราไม่อยากได้ และไม่อยากเปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์ของเราให้ใครก็ไม่รู้โทรเข้ามา แต่ TPP มีบทบัญญัติให้ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลสุขภาพ ซึ่งกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในประเทศแคนาดา เนื่องจากกฎหมายท้องถิ่นโดยเฉพาะใน British Columbia และ Nova Scotia มีการคุ้มครองและไม่อนุญาตให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ได้หากเจ้าของข้อมูลแต่ละบุคคลไม่อนุญาต ทั้งนี้เพราะในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ หากข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะ Biometric Data และข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคลที่เปิดเผยอาจนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากขบวนการค้าอวัยวะ
44.ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่จะมีการยืดอายุลิขสิทธิ์ออกไปจาก 50 ปี เป็น 70 ปี และไม่อนุญาตให้มีการใช้งานในลักษณะ Fair Use ได้อีกต่อไป โดย Fair Use หรือ การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ เป็นหลักการที่อนุญาตให้ใช้เนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ตัวอย่างการใช้งาน เช่น ใช้ในการวิจารณ์ เสิร์ชเอนจิน การล้อเลียน การรายงานข่าว งานวิจัย การเรียนการสอน การเก็บงานเอกสาร เป็นต้น การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ ประกอบด้วย การใช้โลโก้หรือสัญลักษณ์ทางการค้า หรือการนำภาพส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ หรือปกหนังสือไปใช้งานในความละเอียดต่ำหรือมีขนาดเล็ก โดยไม่ทำให้ก่อให้เกิดความเสียหายของสินค้า หรือทำให้สินค้านั้นขาดรายได้ ซึ่งในประเด็นนี้ Prof. Michael Geist แห่ง the University of Ottawa ประเมินต้นทุนเบื้องต้นที่ประเทศแคนาดาต้องเสียเพิ่มเทียบเท่าเป็นจำนวนเงินที่ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 3,580 ล้านบาทต่อปี)
45.นั่นหมายความว่าเมื่อนำข้อ 1 ข้อ 2 และ ข้อ 4 มารวมกัน แต่เดิม ใครๆ ก็ download หนังจากอินเทอร์เน็ตเข้ามาดูในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวได้เพราะเป็นการใช้ที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ และหนังที่โหลดมาก็มีความละเอียดต่ำ แต่หากเป็นสมาชิก TPP นั่นหมายความว่า ลูกค้าหนึ่งในหลายๆ ล้านคนของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกิดละเมิดข้อ 4 โดยการ Download หนัง Hollywood มาดูซักเรื่อง บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ก็สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ และนั่นจะทำให้บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและรัฐบาลของแต่ละประเทศต้อง มอนิเตอร์ การใช้อินเทอร์เน็ตของทุกบุคคลเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น
46.นอกจาก 30 มาตราใน TPP ที่มีความหนารวมกันมากกว่า 6,000 หน้ากระดาษแล้ว (อย่าลืมนะครับว่ามีเพียง 5 มาตราเท่านั้นที่กล่าวถึงเรื่องการค้าเสรี แต่อีก 25 มาตราเป็นเรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสังคม) Side Letter หรือข้อตกลงเพิ่มเติมที่แต่ละประเทศคู่สัญญาของ TPP ทำเพิ่มขึ้นระหว่างกันก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้การเปิดเสรีภายใต้กรอบ TPP ไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น แคนาดาที่ Side letter อีก 23 ฉบับกับอีก 9 ประเทศสมาชิก TPP ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเองก็มี Side letter อีกจำนวน 50 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับหมายถึงการเจรจาเพื่อขอให้มีการปกป้อง มีการกีดกันทางการค้ากันได้ต่อไป และแน่นอนว่าหากประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีจนกว่าจะมีการเปิดรับสมาชิกใหม่ ถึงเวลานั้นทั้ง 12 ประเทศจะเรียกร้องอะไรจากไทยก็ได้ใน Side letter เหล่านี้ เพื่อให้เขารับรองให้เราเข้าเป็นสมาชิก TPP ซึ่งแน่นอนว่าทุกประเทศมีลิสต์รายการอยู่แล้วว่าเขาอยากได้อะไรจากเราบ้าง และถ้าเราอยากเข้า TPP จริงๆ เราก็ต้องยอมครับ
47.และด้วยประเด็นในข้อ 3 ข้อ 4 และ ข้อ 6 ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงการค้าคนใหม่ของประเทศแคนาดา Chrysita Freeland ออกมาประกาศว่าจะต้องมีการทบทวนและพิจารณาข้อตกลง TPP กันใหม่อีกครั้งก่อนมีการให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้ โดย Trudeau นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดาก็ออกมาสนับสนุนว่าจะต้องมีการนำ TPP มาพิจารณาและถกเถียงกันอย่างรอบคอบในรัฐสภาอีกครั้ง
48.กฎเกณฑ์เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อาทิ ในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลยาซึ่งเคยยกตัวอย่างไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้แล้วว่าประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอีกปีละ 70,000 – 80,000 ล้านบาท จากการศึกษาโดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใกล้เคียงกับการศึกษาโดยประเทศออสเตรเลียที่พิจารณาว่า หากมียาที่มีความจำเป็นในการรักษาโรคร้ายแรง 10 รายการได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรยายาวนานขึ้น ออสเตรเลียจะต้องมีต้นทุนการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกปีละ 205 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 5,260 ล้านบาทต่อปี แต่ในข้อตกลงฉบับจริงของ TPP นั่นไม่ใช่แค่เรื่องข้อมูลยาเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึง Source Code ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์อีกด้วย นั่นหมายว่า จะไม่มีใครได้เห็น Source code หรือตัวโปรแกรมของ Software ใดๆ ทั้งสิ้นจนกว่าจะสิ้นสุดการคุ้มครองสิทธิบัตร แน่นอนย่อมส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์และเพิ่มอำนาจผูกขาดให้กับบริษัทซอฟท์แวร์ยักษ์ใหญ่ แต่นั่นยังไม่ร้ายแรงเท่ากับ กรณีการจับกุมดำเนินการผู้กระทำผิดโดยใช้ Software เช่น กรณีบริษัทรถยนต์ Volkswagen ที่เขียนโปรแกรมหลอกการตรวจจับการปล่อยก๊าซเสียจากเครื่องยนต์ให้เครื่องตรวจจับไม่สามารถจับได้ทำให้ดูเหมือนว่ารถยนต์รุ่นดังกล่าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงรถยนต์ก็ยังปล่อยก๊าซพิษในปริมาณมากเกินมาตรฐานต่อไป แน่นอนว่าถ้า Source code ของโปรแกรมเหล่านี้เป็นความลับ การตรวจสอบไม่เกิดขึ้นและการดำเนินคดีกับบริษัทก็ไม่เกิดขึ้น เราก็จะมีบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของตนเองจนไม่คำนึงถึงจริยธรรมและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้อีกมากมาย
49.ในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกของ TPP เช่นในประเทศชิลีก็กำลังถกเถียงกันอย่างรุนแรงในเรื่อง การผูกขาดการค้าเมล็ดพันธุ์พืช โดยสมาชิกวุฒิสภา Francisco Chahuán ของประเทศชิลีเป็นแกนนำหลักในการเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจงว่า เกษตรกรรายย่อยชาวชิลีจะได้รับผลกระทบจาก TPP อย่างไร เพราะในข้อตกลงฉบับนี้จะทำให้อาจทำให้เกิดการผูกขาดการขายและการใช้เมล็ดพันธุ์พืชโดยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และเกษตรกรรายย่อยจะเป็นเหยื่อของการผูกขาดเหล่านี้
50.ในประเด็นสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phyto-Sanitary: SPS) ซึ่งแต่เดิมหลายๆ ประเทศเคยกำหนดให้สินค้าเกษตรและอาหารโดยเฉพาะพืช GMOs ต้องมีการติดป้ายแสดงว่ามีส่วนผสมของพืชตัดต่อพันธุกรรมซึ่งยังไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดว่าหลังจากบริโภคอาหาร GMOs เหล่านี้เข้าไปอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพมนุษย์ หรือหากเมล็ดพืช GMOs แพร่ออกไปในสิ่งแวดล้อมแล้วจะส่งผลเสียต่อพืชท้องถิ่น สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอย่างไร ดังนั้นในหลายๆ ประเทศที่มีสำนึกในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การปกป้องสุขอนามัยของคน สัตว์ พืช และปกป้องสิ่งแวดล้อมจึงมีมาตรการ SPS ในการจำกัดการนำเข้า การประกาศให้ต้องมีการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามามีการปนเปื้อน GMO หรือไม่ และมีการควบคุมการทดลอง และการปลูกพืช GMO อย่างเข้มงวด ผลิตภัณฑ์อาหารคนและอาหารสัตว์ที่มีส่วนประกอบของพืช GMO ก็ต้องมีการติดป้ายชี้แจงรายละเอียดอย่างเด่นชัด ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทเกษตรข้ามชาติหลายๆ บริษัทพิจารณาว่ามาตรการเหล่านี้เป็นการกีดกันทางการค้า และในข้อตกลง TPP ฉบับที่เปิดเผยก็ไม่มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ใช้ SPS เพื่อการคุ้มครองประเด็นเหล่านี้ได้อีกต่อไป และทำให้หลายฝ่ายพิจารณาว่า TPP จะเป็นเครื่องมือของบริษัทเกษตรข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในการดำเนินคดีกับประเทศที่ห้ามการนำเข้า ห้ามการทดลอง ห้ามการทดสอบการปนเปื้อนของผลิตพันธุ์ ห้ามการทดลอง ห้ามการปลูกในแปลงเปิด หลักการปลอดภัยไว้ก่อน หลักการป้องกันไว้ก่อน และการปนเปื้อนของGMO เข้าสู่สภาพแวดล้อมเปิดจึงกลายเป็นความสุ่มเสี่ยง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะควบคุมและเยียวยาให้สิ่งแวดล้อมกลับสู่สภาพเดิมได้ และหากเกิดขึ้นในประเทศที่มีกฎหมาย GMO ที่ไม่เข้มแข็งและมีการบังคับใช้ที่หละหลวม (เช่นในประเทศไทย) การปนเปื้อนเหล่านี้จะถูกอ้างเป็นเหตุสุดวิสัย และบริษัทก็ไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ แต่คนที่ได้รับผลกระทบคือ คนไทยและสิ่งแวดล้อมของประเทศ