xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อาบาอูด” ผู้บงการโจมตีปารีส จากศิษย์ ร.ร.ดังในเบลเยียม สู่สมาชิกกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายผู้ต้องสงสัย 4 รายที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 พ.ย.  โดยสองคนเป็นมือระเบิดที่เสียชีวิตในเหตุวินาศกรรมปารีสเมื่อ 13 พ.ย. ส่วนอีก 2 คนเป็นคนร้ายที่ยังหลบหนีลอยนวล:
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ใครจะเชื่อว่าครั้งหนึ่งอับเดลฮามิด อาบาอูด ซึ่งเคยเป็นเพียงเด็กนักเรียนธรรมดาของหนึ่งใน โรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม กลับกลายมาเป็นนักรบญิฮัดที่โด่งดังที่สุดของเบลเยียมในเวลานี้ โดยเป็นทั้งสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรงของกลุ่มไอเอสที่อุทิศตนเพื่อก่อสงครามศักดิ์สิทธิ์กับโลกตะวันตก และยังเป็นบุคคลที่ฝรั่งเศสเชื่อว่า คือผู้บงการโจมตีก่อการร้ายกรุงปารีส ที่คร่าชีวิตผู้คนบริสุทธิ์ไปอย่างน้อย 129 ศพ

อับเดลฮามิด อาบาอูด ถูกระบุว่าเป็นบุตรชายของครอบครัวผู้อพยพชาวโมร็อกโก ที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเบลเยียมเขาเติบโตในแถบโมลองบีค-แซงต์-ฌอง ซึ่งเป็นย่านที่มีผู้อยู่อาศัยหลากหลายเชื้อชาติและกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของพวกมุสลิมที่มีแนวคิดสุดโต่งในเมืองหลวงเบลเยียม

รายงานซึ่งอ้างแหล่งข่าวที่เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสซึ่งเกี่ยวข้องกับการสืบสวนเหตุก่อวินาศกรรมนี้โดยตรง ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพี โดยระบุ ฝรั่งเศสเชื่อว่าอาบาอูด มีส่วนพัวพันกับแผนก่อการร้ายหลายครั้งก่อนหน้านี้ที่ถูกสกัดไว้ได้ก่อนหน้านี้ โดยหนึ่งในนั้นคือความพยายามก่อเหตุโจมตีบนขบวนรถไฟความเร็วสูงเที่ยวสู่ปารีส ที่โดนขัดขวางโดยวัยรุ่นอเมริกัน 3 คนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึงแผนโจมตีโบสถ์แห่งหนึ่งย่านชานเมืองของกรุงบรัสเซลส์

“ทั้งชีวิตของผม ได้มองเห็นแต่เลือดของชาวมุสลิมที่หลั่งไหล ผมภาวนาให้พระเจ้าทรงจัดการกับคนชั่วเหล่านี้ กับพวกที่ต่อต้านพระองค์ ผมเชื่อว่าทหารของพระองค์หรือแม้แต่ผู้ที่เลื่อมใสพระองค์ และตัวพระองค์เอง จะกำจัดพวกมันให้สิ้นซาก" อาบาอูด เคยกล่าวในวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อปี 2014

ที่ผ่านมาทางการเบลเยียมยังต้องสงสัยว่าเขามีบทบาทสำคัญในการช่วยจัดตั้งและสนับสนุนเครือข่ายก่อการ ร้ายกลุ่มหนึ่งในเมืองแวร์วิเยร์ ที่ถูกตำรวจติดอาวุธบุกทลายไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม และสังหารผู้สมรู้ร่วมคิดของเขาไป 2 ราย

อย่างไรก็ตาม นอกจาก อับเดลฮามิด อาบาอูด นักรบญิฮัดชาวเบลเยียมเชื้อสายโมร็อกโกที่เชื่อว่าเป็นผู้วางแผนโจมตีแล้ว พนักงานสอบสวนแดนน้ำหอมยังพบว่า คนร้าย 2 ใน 3 คนที่กดระเบิดฆ่าตัวตายภายในโรงละครบาตากล็อง ซึ่งเป็นจุดที่พบผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 89 รายนั้น แท้จริงแล้ว เป็นผู้ที่ “เติบโตในแผ่นดินฝรั่งเศส” ทั้งในรายของซามี อามีมูร์ วัย 28 ปี ที่เคยอาศัยอยู่ในย่านดร็องซี (Drancy) ซึ่งเป็นชุมชนผู้อพยพทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปารีสและเคยทำงานเป็นคนขับรถบัสโดยสาร ก่อนจะถูกจับฐานวางแผนก่อการร้ายในฝรั่งเศสเมื่อเดือน ตุลาคม ปี 2012 และละเมิดเงื่อนไขประกันตัว โดยหลบหนีไปยังซีเรียในราวๆ 1 ปีต่อมาเพื่อเข้าร่วมกลุ่มไอเอส

ส่วนอีกรายหนึ่ง คือ โอมาร์ อิสมาอีล มอสเตไฟ วัย 29 ปี ซึ่งเกิดที่ย่านกูร์กูรอนน์ส (Courcouronnes) ของกรุงปารีสเช่นกัน โดยที่มอสเตไฟ เคยถูกตำรวจฝรั่งเศสเพ่งเล็งว่าอาจเป็นพวกที่มีแนวคิดสุดโต่งเมื่อปี 2010 และเป็นที่เชื่อกันว่าชายคนนี้ น่าจะเคยเดินทางไปซีเรียเพื่อเข้าร่วมกลุ่มไอเอสมาแล้ว แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน

สำหรับผู้ลงมือก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายบริเวณด้านนอกของสนามกีฬาสต๊าด เดอ ฟรองซ์ในย่านแซงต์-เดอนีส์ ในระหว่างที่มีการแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสและทีมชาติเยอรมนีนั้น ข้อมูลล่าสุดจากทีมสืบสวนของทางการฝรั่งเศสระบุว่า ประกอบด้วยอาหมัด อัล-โมฮัมหมัด วัย 25 ปี ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดอิบลิบ ในประเทศซีเรียและบิลัล ฮัดฟี วัย 20 ปี ซึ่งยังไม่ทราบประวัติที่แน่ชัด

นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า 3 พี่น้องตระกูลอับเดสลามที่ประกอบไปด้วย บราฮิม โมฮัมเหม็ด และซาลาห์ ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย 129 ศพกลางเมืองหลวงของฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน โดยที่บราฮิมวัย 31 ปี ถูกระบุว่าเป็นคนร้ายซึ่งเสียชีวิตใกล้โรงละครบาตากล็อง ขณะที่โมฮัมเหม็ดถูกจับกุมตัวได้ในเบลเยียม และซาลาห์ในวัย 26 ปียังคงหลบหนี

ล้อมกรอบ//

ถล่มปารีส ก้าวที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของไอเอส

แดเนียล บายแมน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เขียนบทความชื่อว่า ISIS' Big Mistakeเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.foreignaffairs.com ของสภาการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 ว่า การโจมตีปารีสเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่ต้องการจะยกระดับสงครามไปสู่ระดับโลก แทนที่จะจำกัดการต่อสู้เอาไว้ที่พื้นที่บริเวณคร่อมชายแดนอิรักและซีเรียเหมือนที่เป็นมา

มองจากมุมมองของสงครามแบบเก่า ก็อาจจะเห็นว่านี่เป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดและทำลายตัวเองได้ เพราะว่า ฝรั่งเศสและพันธมิตรตะวันตกทั้งหมด ซึ่งเคยรีรอว่าจะจัดการกับไอเอสอย่างไรดีคงไม่ลังเลจะรุมถล่มไอเอส อีกทั้งตอนนี้ไอเอสสูญเสียฐานที่มั่นและกำลังพลไปมากแล้ว โดยประมาณว่าไอเอสสูญเสียฐานที่มั่นไป 20% และสูญเสียกำลังพลสูงถึง 80% ในอาฟกานิสถาน ซึ่งเป็นจุดที่ระดมพลสำหรับนักรบไอเอส

อย่างไรก็ตาม มุมมองข้างต้นก็มีข้อโต้แย้งว่าพันธมิตรตะวันตกทั้งหมดไม่ได้เป็นเอกภาพและมีการแข่งขันกันเองระหว่างอเมริกา ยุโรป กับรัสเซีย ที่ต่างก็อยากมีบทบาท รัสเซีย ถึงกับชิงลงมือถล่มก่อน ส่วนอเมริกาแม้จะต้องการมีบทบาทในตะวันออกกลางแต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีอาการลังเล เนื่องจากการทุ่มเทในสงครามตะวันออกกลางที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐฯได้ไม่คุ้มเสีย และเวลานี้ประธานาธิบดีโอบามา ก็อยากถอนตัวมากกว่า เพราะการพึ่งพิงน้ำมันจากตะวันออกกลางของสหรัฐฯ ลดน้อยถอยลงเนื่องจากสหรัฐฯสามารถผลิตพลังงานเองได้จากเทคโนโลยีเชลล์แก๊ส อีกทั้งโอบามา ต้องการกลับมาฟื้นฟูบทบาทในเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อคานอำนาจกับจีนมากกว่า

ประการต่อมา นายทุนไอเอสคงคิดหนัก ว่าจะทุ่มเม็ดเงินให้กับภารกิจนี้ได้สักเท่าไหร่ ลำพังกองทุนจากเขตยึดครองทั้งน้ำมันและรายได้อื่นๆ อาจจะเพียงพอแค่การปฏิบัติการครั้งสองครั้ง นานๆ ที แต่จะถ้าทำสงครามยืดเยื้อต่อเนื่องในระดับเดียวกับการตอบโต้จากตะวันตกคงจะลำบาก

นั่นเป็นการวิเคราะห์ของแดเนียล บายแมน

กล่าวสำหรับประเทศที่สนับสนุนไอเอสเวลานี้ถึงแม้มีหลากหลาย แต่เชื่อกันว่าผู้สนับสนุนรายใหญ่คือ ซาอุดิอาระเบีย ที่ทุ่มทุนให้ไอเอสเพื่อคานอำนาจอิหร่านซึ่งสนับสนุนรัฐบาลอัล อัซซาด ของซีเรีย

ประเด็นสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ครั้งนี้ ถ้ามองจากมุมของนักวิเคราะห์ระหว่างประเทศโดยทั่วไป ซึ่งรวมถึง แดเนียล บายแมน ด้วยเช่นกัน คงไม่ใช่ปัญหาว่า ไอเอสจะประสบชัยชนะหรือไม่ สิ่งที่ไอเอสต้องการสำหรับการปฏิบัติการแบบที่เกิดในปารีสคือ เรื่องอุดมการณ์ ในการเผยแพร่รัฐอิสลาม เพราะมันสร้างความฮึกเหิมให้กับคนรุ่นใหม่ของไอเอสได้มาก และถ้าเป็นเรื่องอุดมการณ์แล้ว พวกไอเอสไม่ต้องรอเงินทุนจากแหล่งเดียว กลุ่มเซลย่อยๆ ในที่ต่างๆ ของโลก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ ซึ่งไม่มีใครรู้ชัดเจนว่ามีอยู่นี่ไหนบ้าง และจำนวนเท่าใด อาจจะปฏิบัติการได้เอง นั่นจะเป็นหายนะภัยสำหรับชนชาวโลกทั้งหลาย

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ปฏิบัติการถล่มปารีส จะทำให้ไอเอส เดินตามรอยกลุ่มก่อการร้ายอัลเคด้า คือ สร้างความสะพรึงกลัวให้กับโลกทุนนิยมจนสุดท้ายต้องถูกทำลายไปหลังอัลเคด้าปฏิบัติการโจมตีตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ สหรัฐฯ หรือไม่ เหตุการณ์ที่กลุ่มไอเอส โจมตีปารีส ก็อาจจะมีจุดจบเช่นเดียวกับกลุ่มอัลเคด้าก็เป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากลุ่มก่อการร้ายไม่ได้สูญสลายเพียงแต่กลายพันธุ์ หรือเพาะเชื้อสร้างกลุ่มใหม่ขึ้นมาอีก ดังเช่นที่ก่อนหน้านี้มีกลุ่มอัลเคด้า และต่อมามีกลุ่มไอเอส นั่นเอง

สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่ากังวลนับจากนี้ก็คือ การแตกตัวของกลุ่มไอเอสในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่มีชาวมุสลิมบางส่วนเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสอย่างชัดเจนถึงขนาดมีการประกาศว่าจะจัดตั้งรัฐอิสลามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันเลยทีเดียว




กำลังโหลดความคิดเห็น