xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วินาศกรรมปารีส “IS+CIA+USA”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนที่แสดงจุดที่เกิดการโจมตีในกรุงปารีส เมื่อ 13 พ.ย.
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข่าวการก่อวินาศกรรมโดยผู้ก่อการร้ายกลางกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำของวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงก่อนเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้กลายเป็นข่าวเด่นประเด็นร้อนที่สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้คนทั่วทั้งโลก ไม่เพียงแต่ชาวฝรั่งเศสเท่านั้น

โดยเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นถือได้ว่าก่อให้เกิดการนองเลือดที่สุดในฝรั่งเศสนับตั้งแต่มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และยังถือเป็นเหตุก่อวินาศกรรมครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินยุโรป นับตั้งแต่เหตุระเบิดรถไฟที่กรุงมาดริดของสเปน เมื่อปี 2004

ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามตามมามากมายว่า ต้นเหตุที่แท้จริงของวินาศกรรมครั้งนี้ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเกิดขึ้นจาก กลุ่มนักรบญิฮัดรัฐอิสลาม (Islamic State : IS) ที่มีฐานอยู่ในซีเรียและอิรักนั้น ใครคือตัวการ ใครคือผู้ที่ทำให้ลัทธิก่อการร้ายแผ่ขยายไปทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน กล่าวกลางวงที่ประชุมซัมมิต G20 ว่า รัสเซียได้แลกเปลี่ยนการข่าวกรองด้านการเงินของกลุ่มก่อการร้าย IS กับชาติสมาชิก G20 ซึ่งพบว่ากลุ่มก่อการร้ายได้รับเงินสนับสนุนจาก 40 ชาติ ซึ่งรวมไปถึงบางชาติที่เป็นสมาชิก G20

ศุกร์ 13 วินาศกรรมหยุดโลก

เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงปารีส รวมถึงที่ย่านชานเมืองอย่าง “แซงต์-เดอนีส์” ที่อยู่ทางตอนเหนือของเมืองหลวงแดนน้ำหอม ที่เกิดขึ้นในจังหวะเวลาใกล้เคียงกันถึง 6 จุด ถูกระบุว่า มีทั้งเหตุกราดยิง การโจมตีของมือระเบิดฆ่าตัวตายและการจับพลเรือนผู้บริสุทธิ์เป็นตัวประกัน ได้นำมาซึ่งความสูญเสียครั้งเลวร้ายอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน

มีการยืนยันในเวลาต่อมาว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 129 รายจากการก่อวินาศกรรมในเมืองหลวงของแดนน้ำหอมคราวนี้ โดยในจำนวนนี้มีถึง 89 รายที่เป็นผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงและจับตัวประกันที่ “โรงละครบาตากล็อง” เพียงแห่งเดียว ขณะที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วกรุงปารีส ต้องรองรับผู้บาดเจ็บจากเหตุโจมตีของผู้ก่อการร้ายครั้งนี้อีกมากกว่า 430 ราย ซึ่งรวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสราว 80 รายที่อาจเสียชีวิตตามมาอีกในไม่ช้า

หลังเกิดเหตุไม่นาน ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำฝรั่งเศสได้ออกมาประณามกลุ่มผู้ก่อเหตุ โดยระบุ เหตุก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างจาก “การประกาศสงคราม” กับฝรั่งเศสโดยตรง พร้อมทั้งมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งกลายเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งแรกของฝรั่งเศส นับตั้งแต่เกิดเหตุจลาจลเมื่อปี 2005 เป็นต้นมา

ยิ่งไปกว่านั้น นี่ยังถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการประกาศ “เคอร์ฟิว” ในกรุงปารีส ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหานครแห่งแสงสี และเป็นเมืองหลวงที่ “มิเคยหลับ”

เพียงไม่กี่อึดใจหลังจากที่เสียงปืนและเสียงระเบิดในกรุงปารีสเงียบสงบลง กลุ่มนักรบญิฮัดรัฐอิสลาม (Islamic State : IS) ที่มีฐานอยู่ในซีเรียและอิรัก ออกมาประกาศอ้างตัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายระลอกนี้ทั้งที่เกิดขึ้นบริเวณด้านนอกสนามกีฬาสต๊าด เดอ ฟรองซ์ (Stade de France) , โรงละครบาตากล็อง (Bataclan theatre) ตลอดจนถนนอีก 4 สายในกรุงปารีส โดยคำแถลงของกลุ่มไอเอสที่มีการเผยแพร่บนโลกออนไลน์ระบุว่า นี่เป็นการแก้แค้นที่ฝรั่งเศสเปิดการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอสในซีเรีย และเป็นการตอบโต้ที่รัฐบาลฝรั่งเศส ดำเนินนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโลกอิสลามและกดขี่ชาวมุสลิม

ด้านตำรวจฝรั่งเศสได้เปิดปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายครั้งใหญ่ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยยกกำลังบุกตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยทั่วประเทศเกือบ 170 แห่ง ทำการจับกุมผู้ต้องหารวม 23 คน และยังสั่งกักบริเวณผู้ต้องสงสัยอีกกว่า 100 ราย ทั้งนี้ ตามคำแถลงของแบร์กนาร์ด กาเซอเนิฟ รัฐมนตรีมหาดไทยเมืองน้ำหอม

ขณะที่นายกรัฐมนตรีมานู เอล วาลส์ ยืนยันว่า เหตุโจมตีนองเลือดที่นำไปสู่การสังเวย 129 ชีวิตในกรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ (13) ถูกดำเนินการและวางแผนจากพื้นที่ควบคุมของกลุ่มไอเอสที่อยู่ในประเทศซีเรีย พร้อมกับออกคำเตือนว่าหน่วยข่าวกรองฝรั่งเศสพบข้อมูลที่ทำให้เชื่อได้ว่า กำลังมีการวางแผนก่อวินาศกรรมครั้งใหม่ทั้งในฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ ทั่วยุโรป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุก่อวินาศกรรมกลางกรุงปารีสได้สร้างความสูญเสียอย่างมิอาจประเมินค่าได้ และนำมาซึ่งการถูกตั้งคำถามของประสิทธิภาพในการทำงานของบรรดาหน่วยงานด้านข่าวกรองและความมั่นคงของทั้งฝรั่งเศส และบรรดาชาติพันธมิตรในโลกตะวันตกที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการป้องกันการโจมตีที่เกิดขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มรัฐอิสลามได้ประกาศผ่านสื่อที่มีการเผยแพร่กันอย่างโจ่งแจ้งบนโลกออนไลน์ว่า จะก่อเหตุโจมตีฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ตลอดจน ชาติพันธมิตรตะวันตกอีกหลายชาติ ที่ร่วมผนึกกำลังกันเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอสในซีเรียก่อนหน้านี้

ในส่วนของปฏิกิริยาจากนานาชาตินั้น บรรดาประมุขของรัฐ ตลอดจน หัวหน้าคณะรัฐบาลของประเทศต่างๆ พากันแสดงออกในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนั่นคือ การแสดงความเสียใจและให้กำลังใจต่อรัฐบาลและประชาชนชาวฝรั่งเศส ที่ต้องเผชิญกับเหตุก่อวินาศกรรมครั้งเลวร้าย พร้อม ๆ กับการประกาศจุดยืนร่วมในการต่อต้านลัทธิสุดโต่ง และการก่อการร้าย ที่กลายเป็นภัยคุกคามความสงบสุขและสันติภาพของโลก

ขณะเดียวกันกลุ่มแฮกเกอร์ชื่อดังอย่าง “Anonymous” ที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศศักดา ด้วยการเจาะระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลและภาคเอกชนในหลายประเทศ ได้ออกมาประกาศจุดยืนของตน ในการประกาศสงครามกับกลุ่มไอเอส โดยยืนยันจะเดินหน้าถล่มเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มนักรบมุสลิมนิกายสุหนี่หัวสุดโต่งกลุ่มนี้ให้ย่อยยับ เพื่อตอบโต้ที่ไอเอสก่อวินาศกรรมในกรุงปารีสโดยมีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเป้าสังหารจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี เหตุโจมตี 6 จุดกลางเมืองหลวงของฝรั่งเศสที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้ลงมือก่อเหตุหลายรายแอบแฝงมากับคลื่นผู้อพยพ ได้ส่งผลกระทบให้บรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองในหลายประเทศทั่วยุโรป เริ่มหันมาทบทวนท่าทีและจุดยืนของตนต่อบรรดาผู้อพยพลี้ภัยจำนวนนับล้านที่ไหลบ่าจากซีเรีย และอีกหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางรวมถึงทวีปแอฟริกา เข้าสู่ยุโรป ตลอดระยะเวลาขวบปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะในเยอรมนีที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กอย่างนางอังเกลา แมร์เคิลประกาศนโยบาย “เปิดประตู” รับผู้อพยพอย่างออกนอกหน้าไปก่อนหน้านี้

ขณะที่รัฐบาลของอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันออกที่ก่อนหน้านี้ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการรับผู้อพยพ ตามการจัดสรรโควตาของสหภาพยุโรป (อียู) มาโดยตลอด ต่างพากันออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นกว่าเดิม และประกาศไม่ยอมรับผู้อพยพลี้ภัยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เข้าสู่ประเทศของตนอย่างเด็ดขาด

จนถึงขณะนี้ ข้อมูลจากการสืบสวนของทางการฝรั่งเศส สรุปได้เบื้องต้นว่า เหตุก่อวินาศกรรม 6 จุดที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 129 ศพในกรุงปารีสนั้น ทางกลุ่มผู้ก่อเหตุซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอสได้วางแผนโจมตีนี้ในประเทศซีเรีย จากนั้นจึงมีการตระเตรียมและจัดตั้งทีมก่อวินาศกรรมขึ้น ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของฝรั่งเศสอย่างเบลเยียม ก่อนที่ทีมโจมตีของกลุ่มไอเอสจะลักลอบเดินทางเข้าสู่ฝรั่งเศส โดยที่มีพลเมืองฝรั่งเศสสมรู้ร่วมคิดด้วย

บุคคลที่ตำรวจฝรั่งเศสเชื่อว่าน่าจะเป็น “ตัวการใหญ่” ที่อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตี 129 ศพกลางกรุงปารีส คือ อับเดลฮามิด อาบาอูด นักรบญิฮัดชาวเบลเยียมวัย 28 ปี ซึ่งเกิดในประเทศโมร็อกโก และเคยมีส่วนวางแผนก่อเหตุร้ายและแสวงหาแนวร่วมใหม่ๆ ในแผ่นดินยุโรปให้กับกลุ่มไอเอสตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนแนวร่วมในการก่อเหตุโจมตีช็อกโลกคราวนี้ถูกระบุว่าอาจมีจำนวนระหว่าง 7-9 ราย ซึ่งหลายรายในจำนวนนี้ได้แฝงตัวเข้าสู่ยุโรปในช่วงก่อนหน้านี้ในฐานะของ “ผู้อพยพหนีภัยสงคราม” ที่น่าสงสารจากซีเรีย


“ปูติน” แฉ 40 ชาติท่อน้ำเลี้ยง IS

การก่อการร้ายครั้งใหญ่ต่อกรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ (13) ที่ผ่านมา กลายเป็นแรงกดดันให้เหล่าผู้นำกลุ่มประเทศจี 20 ที่ร่วมประชุมสุดยอดกันอยู่ที่เมืองอันตัลยาตุรกีในช่วงสุดสัปดาห์ ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการหาทางยุติสงครามกลางเมืองในซีเรียที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2011 และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 250,000 ราย โดยที่สงครามกลางเมืองซีเรียนี้เองที่กลายเป็นต้นตอการถือกำเนิดของกลุ่มนักรบญิฮัดรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตี 129 ศพในกรุงปารีสของฝรั่งเศส

แม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างบารัค โอบามา กับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ยังยอมละวางความขัดแย้งระหว่างวอชิงตันและมอสโก แล้วยอมหันหน้าหารือกันนอกรอบกันนานกว่าครึ่งชั่วโมง ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดจี 20 ที่ตุรกีคราวนี้ เพื่อปรับจุดยืนในซีเรียให้สอดคล้องกันมากขึ้น รวมถึงหาวิธีจัดการกับการก่อการร้ายในปารีสที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 129 ราย

ผู้นำชาติมหาอำนาจทั้งสองต่างเห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นในการผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพในซีเรีย โดยมีสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นเจ้าภาพ และยังแสดงจุดยืนสนับสนุนให้มีการหยุดยิง และตั้งรัฐบาลชั่วคราวในซีเรียเพื่อดูแลประเทศนี้ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่เหล่านักการทูตพยายามผลักดัน ระหว่างการเจรจาที่กรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรียในช่วงก่อนหน้านี้

การก่อการร้ายในกรุงปารีสยังทำให้ภารกิจปราบปรามไอเอส กลายเป็นประเด็นร้อนบดบังประเด็นสำคัญอื่นๆ ในซัมมิตจี 20 คราวนี้ไปโดยปริยาย โดยประธานาธิบดีเรเซป ตายยิป เออร์โดกันแห่งตุรกี เปิดการประชุมด้วยการเชิญชวนผู้นำชาติต่างๆ ยืนสงบไว้อาลัยให้แก่เหยื่อโศกนาฏกรรมที่ปารีส ขณะที่ในร่างคำแถลงร่วมของกลุ่มผู้นำจี 20 ต่างเห็นพ้องต่อการยกระดับการเตือนภัยการหลั่งไหลของนักรบต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน รวมทั้งประกาศแบ่งปันข้อมูลด้านข่าวกรอง การติดตามการผ่านแดน และเพิ่มการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน รวมทั้ง ความร่วมมือระหว่างประเทศในการตัดช่องทางระดมทุน เพื่อสกัดความเคลื่อนไหวของเหล่านักรบญิฮัด

นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ความมั่นคงของยุโรปนับจากนี้ ขึ้นอยู่กับการทำลายลัทธิมรณะของกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียเป็นสำคัญ ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกล่าวว่า ลัทธิก่อการร้ายเป็นศัตรูของทุกประเทศ และเรียกร้องให้มี “แนวร่วมต่อต้าน” ภัยคุกคามจากพวกสุดโต่งนี้

แต่ที่เด็ดที่สุดก็คือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย

RT สื่อรัสเซียรายงานเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูตินได้แถลงกับสื่อในที่ประชุมซัมมิต G20 ว่า “ในระหว่างการประชุมผมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวรัสเซียเกี่ยวกับกลุ่ม IS ซึ่งทางรัสเซียพบว่าระบบเงินทุนของกลุ่มก่อการร้าย IS นี้ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ซึ่งดูเหมือนจะมีที่มาจาก 40 ประเทศ ซึ่งรวมไปถึงบางชาติสมาชิกกลุ่ม G20”

RT รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ประธานาธิบดีรัสเซียให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อว่า “ทางเราต้องการความร่วมมือจากสหรัฐฯ ชาติในยุโรป ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และอิหร่าน”

นอกจากนี้ปูตินยังชี้ถึงทิศทางที่เปลี่ยนไปของวอชิงตันในการร่วมมือกับรัสเซียในการต่อต้านก่อการร้าย และผู้นำรัสเซียยังชี้ว่า สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในเวลานี้คือ ต้องระบุให้ได้ว่า กลุ่มติดอาวุธกลุ่มใดบ้างในซีเรียที่ถูกจัดเป็นองค์กรก่อการร้าย

และล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศของเขาไม่ใช่บ่อเกิดกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ทว่านักรบญิฮัดกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากนโยบายของโลกตะวันตกที่สนับสนุนการก่อการร้ายในหลายๆ ทาง

“ผมบอกได้เลยว่า พวกดาเอชไม่ได้มีเครื่องเพาะเชื้อโดยธรรมชาติ หรือเครื่องเพาะเชื้อทางสังคม อยู่ในดินแดนซีเรีย” อัสซาด บอกกับสถานีโทรทัศน์ Rai ของอิตาลี โดยใช้คำว่า “ดาเอช” (Daesh) ซึ่งเป็นชื่อย่อของกลุ่มไอเอสในภาษาอาหรับ

อัสซาดยืนยันว่า นักรบญิฮัดที่เข้ามาฝึกปรือในซีเรียเพื่อออกไปก่อเหตุสังหารหมู่ปารีสและสถานที่อื่นๆ “ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์ รวมถึงนโยบายของชาติตะวันตกที่ส่งเสริมกิจกรรมก่อการร้ายในหลายๆ ทาง”

“ไอเอสไม่ได้เริ่มต้นในซีเรีย แต่เริ่มในอิรัก และเกิดขึ้นก่อนจะมีสงครามในอัฟกานิสถาน” ผู้นำซีเรียกล่าว พร้อมอ้างคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ แห่งอังกฤษที่ว่า “สงครามอิรักเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไอเอส”

อัสซาดเน้นว่า “คำสารภาพของอดีตนายกฯ อังกฤษ คือหลักฐานยืนยันที่ดีที่สุด”

ผวาซ้ำรอยปารีส! หลายมลรัฐมะกัน ประกาศงดรับผู้ลี้ภัยซีเรีย

5 ผู้ว่าการรัฐของสหรัฐฯเผยในวันจันทร์ (16 พ.ย.) ที่ผ่านมา โดยยืนกรานว่า พวกเขาตัดสินใจจะเดินตามรอยของมลรัฐแอละแบมาและมิชิแกน ในการที่จะไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเข้ามาตั้งรกรากในมลรัฐของพวกเขา โดยระบุว่าอันตรายเกินไปที่จะปล่อยให้คนจากประเทศที่ถูกสงครามฉีดขาดและเป็นต้นตอของลัทธิสุดโต่ง เข้ามาพักอาศัย โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุก่อการร้ายโจมตีกรุงปารีส

เกรก แอ็บบอตต์ ผู้ว่าการรัฐเทกซัส จากรีพับลิกัน, อาซา ฮัตชินสัน จากมลรัฐอาร์คันซอส์, ไมค์ เพนซ์ จากอินดีแอนา, บ็อบบี จินดาล แห่งมลรัฐลุยเซียนา และฟิล ไบรอันท์ จากมลรัฐมิสซิสซิปปี ยืนยันว่ามลรัฐภายใต้การดูแลของพวกเขา ไม่สนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลบารัค โอบามา สำหรับการรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 10,000 คนเข้าประเทศ ในช่วงเวลาหลายปีข้างหน้าอีกต่อไป

อย่างไรก็ตามเหล่าผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายให้ความเห็นว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า บรรดาผู้ว่าการรัฐ จะมีอำนาจในการยับยั้งการรับผู้ลี้ภัยเข้ามาตั้งรกรากภายในสหรัฐ หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ถือเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัย ถ้าหากรัฐบาลกลางอเมริกันยอมเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยซีเรียเข้าประเทศ พวกเขาก็น่าจะได้อยู่ที่นี่ บนแผ่นดินอเมริกาแห่งนี้ ทั้งนี้ เป็นความเห็นของเดโบราห์ อันเคอร์ ศาสตราจารย์ทางกฎหมาย ณ โรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้าของสหรัฐฯ ด้านประเด็นผู้ลี้ภัย

ที่ผ่านมา สหรัฐฯประกาศรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวน 1,682 คนเข้าประเทศ ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน เพิ่มขึ้นจาก 105 คนของหนึ่งปีก่อนหน้านี้ โดยที่มลรัฐเทกซัส แคลิฟอร์เนียและมิชิแกน ได้รับการแบ่งสรรประชาชนผู้หลบหนีภัยสงครามจากซีเรียในจำนวนที่มากกว่ามลรัฐแห่งอื่น ๆ ขณะที่จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เผยในเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า สหรัฐอเมริกาจะเพิ่มจำนวนการรับผู้อพยพจากประเทศต่างๆเป็น 15,000 คนต่อปี ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ยอดรวมจะเป็น 100,000 คนต่อปีในปี 2017

จับตาทฤษฎีสมคบคิด อเมริกาพัวพันหนุนนักรบไอเอส

ก่อนเกิดการก่อวินาศกรรมในกรุงปารีสของฝรั่งเศสนานแรมปี มีการเผยแพร่ “ทฤษฎีสมคบคิด” ในโลกอาหรับว่า ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐอเมริกา คือ ผู้ให้การสนับสนุนอย่างลับๆ ต่อการถือกำเนิด และการแผ่ขยายอิทธิพลสร้างความหวาดกลัวของกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม หรือไอเอส ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพของภูมิภาคตะวันออกกลางและฉวยโอกาสให้สหรัฐอเมริกาได้เข้าแทรกแซงภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งอุดมไปด้วย “ทรัพยากรน้ำมัน”

ข่าวลือเรื่องทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวดูจะได้รับความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อจอมแฉอย่างเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนที่เคยเป็นอดีตลูกจ้างหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลอเมริกันออกมาเปิดโปงเอกสารลับสุดยอดของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ที่ระบุว่า แท้จริงแล้ว ผู้นำสูงสุดของกลุ่มไอเอสอย่างอาบูบาการ์ อัล-บักดาดีนั้น เป็นสายลับที่ถูกส่งตรงมาจากหน่วยสืบราชการลับ “มอสสาด” ของอิสราเอล และเป็นเพียง “หุ่นเชิด” หรือ “นักแสดงรับจ้าง” ที่สหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงตะวันออกกลางเพื่อ “ขายอาวุธ” และเข้าถึง “แหล่งน้ำมัน” เท่านั้น

ขณะเดียวกัน สื่อดังอย่างนิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า แท้จริงแล้วสหรัฐอเมริกา อิสราเอล รวมถึงราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียต่างร่วมมือกันสถาปนากลุ่มนักรบรัฐอิสลามขึ้นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ตลอดจนการจำกัดบทบาทของ “อิหร่าน” ที่ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจร่วมกันทั้งของสหรัฐฯ อิสราเอล และซาอุดีอาระเบียตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านั้น สื่อแขนงต่างๆ ทั้งในอียิปต์ ตูนิเซีย ปาเลสไตน์ จอร์แดน และเลบานอน ต่างรายงานข่าวมากมายที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯกับกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม ถึงแม้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงเบรุตของเลบานอน จะเคยออกคำแถลงอย่างเป็นทางการปฏิเสธสายสัมพันธ์ดังกล่าวกับกลุ่มไอเอสที่ในเวลานี้สามารถยึดครองพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคนทั้งในซีเรียและอิรัก และยังมีความเชื่อมโยงกับพวกนักรบสุดโต่งในอีกหลายประเทศทั้งลิเบีย อียิปต์ ไนจีเรีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ดี ไม่ว่ากลุ่มนักรบรัฐอิสลาม หรือกลุ่มไอเอสจะมีความเชื่อมโยงกับเหตุก่อวินาศกรรมกลางกรุงปารีสมากน้อยเพียงใด แต่เหตุก่อการร้ายที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเกือบ 130 รายในครั้งนี้ ส่งผลให้ทั่วโลกหันหน้าเข้าหากันเพื่อผนึกกำลังต่อต้านความรุนแรงจากลัทธิสุดโต่งที่แผ่ขยายอิทธิพลสร้างความหวาดกลัวอยู่ในเวลานี้ และปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังเหตุวินาศกรรมเมืองหลวงของฝรั่งเศส ปัญหาการก่อการร้ายและคลื่นผู้อพยพชาวมุสลิมในแผ่นดินยุโรปจะเป็นประเด็นปัญหาที่ถูกจับตามองมากที่สุดนับจากนี้

เช่นเดียวกับภารกิจในการกวาดล้างกลุ่มนักรบไอเอสของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรที่ต้องเดินหน้าอย่างจริงจัง ไม่ว่ากระแสข่าวลือที่แพร่สะพัด เกี่ยวกับความสัมพันธ์ลับๆ ระหว่างวอชิงตันกับกลุ่มไอเอสจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ก่อนที่จะเกิดเหตุโจมตีนองเลือดโดยผู้ก่อการร้ายเช่นนี้อีกในครั้งต่อไป



 ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส เผชิญความท้าทายครั้งสำคัญหลังเหตุวินาศกรรมปารีส
ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน กล่าวกลางวงที่ประชุมซัมมิต G20 ว่า รัสเซียได้แลกเปลี่ยนการข่าวกรองด้านการเงินของกลุ่มก่อการร้าย IS กับชาติสมาชิก G20 ซึ่งพบว่ากลุ่มก่อการร้ายได้รับเงินสนับสนุนจาก 40 ชาติ ซึ่งรวมไปถึงบางชาติที่เป็นสมาชิก G20
ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย





กำลังโหลดความคิดเห็น