xs
xsm
sm
md
lg

คนใน คนนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชวน หลีกภัย
ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

หลังเดือนพฤษภาคม 2535 ความคิดของผู้คนในสังคมไทยมีแนวโน้มตกผลึกในเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่างก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควรมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาแล้ว ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เราจึงมีนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส.หลายคน

ระหว่างปี 2535 ถึง 2549 ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากส.ส. สี่คน คนแรกเป็นลูกชาวบ้านจบปริญญาตรีอย่างคุณชวน หลีกภัย ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย ถัดมาคืออาเสี่ยบ้านนอกอย่างคุณบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งก็มีโอกาสเป็นกับเขาด้วยเหมือนกัน จากนั้นนายทหารใหญ่อย่างพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ก็เป็นนายกฯอยู่ระยะหนึ่ง และจบลงด้วยอดีตนายตำรวจที่ผันตัวเป็นพ่อค้าอย่างทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งหลายปี แต่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตจนถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่ และถูกรัฐประหารในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผลึกความคิดเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งของผู้คนในสังคมไทยเริ่มมีรอยร้าวในช่วงต้นปี 2549 เมื่อขบวนการประชาชนรวมตัวกันเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมและเดินขบวนขับไล่นายทักษิณ ชินวัตร ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ไล่อย่างไรบุคคลดังกล่าวก็ไม่ยอมออกจากตำแหน่งอยู่ดี

ความคิดในการหาบุคคลที่ไม่ใช่นักการเมืองเพื่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยพยายามเสนอให้ใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จึงเกิดขึ้นและแพร่กระจายออกไปสู่กลุ่มคนจำนวนไม่น้อย กล่าวได้ว่าการกลับมาของความคิดที่ว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากนักการเมืองที่เป็นส.ส. เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการความขัดแย้งและวิกฤติความชอบธรรมในการบริหารประเทศของนักการเมืองนั่นเอง

แต่กลไกของรัฐธรรมนูญที่ประชาชนจะนำมาใช้เป็นกลไกเพื่อเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ เพราะนายทักษิณ ชินวัตรและพรรคพวกของเขาที่ครองอำนาจอยู่ในเวลานั้นไม่ยอมลุกจากเก้าอี้ในรัฐบาล เมื่อกลไกรัฐธรรมนูญใช้ไม่ได้วิกฤติการเมืองก็ยืดเยื้อต่อไปอีกระยะหนึ่ง ท้ายที่สุดสังคมไทยก็ได้คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ดีในปลายปี 2549 แต่แทนที่จะได้มาโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ กลับได้มาโดยต้องฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ทิ้งไป

เลยต้องเสียเงินเสียทองร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประเทศไทยก็มี “คนนอก” อย่างพลเอกสุรยุทธ์ จุลนานนท์ อดีตนายทหารนอกราชการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนนายทักษิณ ชินวัตรก็หมดอำนาจลงไปและมีคดีการทุจริตติดตัวไปอีกหลายคดีซึ่งต่อมาศาลสั่งจำคุก เลยต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ ไม่กล้าย่างเท้ากลับเข้าประเทศไทย

เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 พรรคการเมืองที่นายทักษิณ ชินวัตรสนับสนุนได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด จึงทำให้นักการเมืองรุ่นเก่าอย่างนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งใกล้จะวางมือจากการเมืองแล้ว ส้มหล่นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่คนในสังคมจำนวนมากมองว่ารัฐบาลนายสมัครเป็นหุ่นเชิดของนายทักษิณ

อยู่ได้ไม่นานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการบริหารประเทศของรัฐบาลสมัคร ก็ออกมาเดินขบวนขับไล่ ท้ายที่สุดนายสมัคร ก็ต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรจึงมอบหมายให้น้องเขยของตนเองซึ่งเป็น ส.ส. และเคยทำงานในกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่เป็นได้เพียงไม่กี่วันก็ต้องหลุดจากตำแหน่งโดยคำพิพากษาของศาลเช่นเดียวกัน

นักเรียนนอกผู้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป แต่บริหารประเทศได้ไม่นานก็ถูกมวลชนเสื้อแดงที่อยู่ภายใต้การชี้นำของทักษิณ ชินวัตร เดินขบวนขับไล่ และนายอภิสิทธิ์ ก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ทักษิณ ชินวัตร สนับสนุนชนะเลือกตั้งได้เสียง ส.ส.มากที่สุดอีกครั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาวของนายทักษิณจึงเข้าไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เข้าสู่วงการการเมืองเพียงไม่กี่วันเท่านั้นเอง

แต่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้ไม่นานนัก ขบวนการประชาชนในนาม กปปส. ก็ออกมาชุมนุมและเดินขบวนขับไล่ เช่นเดียวกับพี่ชายของเธอ ประชาชนไล่อย่างไรก็ไม่ออกจากตำแหน่งอยู่ดี จนการเมืองเดินเข้าสู่วิกฤติ ระหว่างการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กระแสความคิดของประชาชนที่ต้องการนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ใช่นักการเมืองก็เกิดขึ้นอีก พร้อมๆกันนั้นกระแสการปฏิรูปการเมืองและประเทศก็ค่อยๆดังขึ้น

ประชาชนจำนวนนับล้านออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่รัฐบาลไม่ยอมลาออก กลับยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา แต่ด้วยความคิดของประชาชนพัฒนาไปไกล นอกจากปฏิเสธตัวนักการเมืองแล้ว พวกเขาก็ยังไม่ยอมรับกระบวนการเลือกตั้งที่ถูกชี้นำและควบคุมโดยนักการเมืองอีกด้วย กระแสการเรียกร้องร้องให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ควบคู่ไปกับความคิดที่ปฏิเสธอำนาจและความชอบธรรมของนักการเมือง

แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เฉยเมย ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนแต่อย่างใด กลับยึดเก้าอี้อำนาจไว้เหนียวแน่นดังติดไว้ด้วยกาว การเมืองจึงตกอยู่ในสภาพที่เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ในที่สุดกลุ่มทหารในนาม คสช. จึงเข้ามาควบคุมอำนาจ รัฐธรรมนูญถูกฉีกอีกครั้ง และมี “คนนอก” มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่จะเรียกว่า “คนนอก” ก็ไม่ค่อยถูกนัก เพราะเมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่มีทั้ง “คนนอก” และ “คนใน” รัฐธรรมนูญ

สองครั้งที่ผ่านมาก็เลยกลายเป็นว่า การที่รัฐธรรมนูญปิดกั้น ไม่เปิดช่องให้มีการนำ “คนนอก” มาเป็นนายกรัฐมนตรีในสถานการณ์ที่มีวิกฤติการณ์เมือง กลายเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งไป กล่าวได้ว่า การคับแคบของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี กลายเป็นสิ่งที่ทำลายตัวมันเอง

นักการเมืองที่ออกมาคัดค้านไม่ให้รัฐธรรมนูญเปิดช่องเอาไว้สำหรับการนำ “คนนอก” มาเป็นนายกรัฐมนตรีในยามเมืองเกิดวิกฤติ ดูเหมือนไม่ได้ตระหนักถึงประเด็นนี้ น่าแปลกใจว่าทำไมนักการเมืองจำนวนมากไม่เรียนรู้บทเรียนในอดีตบ้าง

ความคิดที่ว่า การเปิดช่องให้ “คนนอก” เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการสืบทอดอำนาจนั้นเป็นความคิดที่พ้นสมัยและยากที่จะเป็นจริงในอนาคต การสืบทอดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มทหารนั้นยากที่จะเกิดขึ้นได้ในสภาพสังคมปัจจุบันและอนาคต

การที่ประชาชนยอมรับอำนาจทหารในเวลานี้ก็เพราะว่าความไม่เอาไหนในการบริหารประเทศของนักการเมืองตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมานั่นเอง หากนักการเมืองอยากเป็นนายกรัฐมนตรีและประสงค์ให้ประชาชนยอมรับ ก็ต้องปรับปรุงความคิดและพฤติกรรมเสียใหม่

แต่หากยังคิดแบบเดิมๆ มีพฤติกรรมเดิมๆ แล้วคาดหวังให้ประชาชนยอมรับ ก็เห็นจะเป็นความคาดหวังแบบลมๆ แล้งๆ ซึ่งยากจะเกิดขึ้นได้


ชวน หลีกภัย
บรรหาร ศิลปะอาชา
พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
ทักษิณ ชินวัตร
พลเอกสุรยุทธ์ จุลนานนท์
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
กำลังโหลดความคิดเห็น