xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น”ซูจี”เข้าวิน รู้ผลเลือกตั้งเมียนมาวันนี้ นักวิเคราะห์ชี้ปัญหาเพิ่งเริ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมียนมาปิดคูหาเลือกตั้ง เผยมีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนถึง 80% ชาวเมียนมาหวังการเลือกตั้งครั้งนี้ช่วยให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในประเทศ คนท่าขี้เหล็กต่อแถวเข้าคูหาเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ยาวเหยียด "ซู จี" เดินทางไปใช้สิทธิ ท่ามกลางทัพสื่อ-ฝูงชน ตำรวจระดมกำลังกว่า 4,000 นายรักษาความปลอดภัย นักวิเคราะห์ชี้ปัญหาเพิ่งจะเริ่มต้น

เมียนมาปิดการลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปปี 2558 เมื่อเวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวานนี้ (8 พ.ย.) อย่างเป็นทางการ สื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเดินทางมาลงคะแนนถึง 80% ส่วนผลการลงคะแนนที่ชัดเจน คาดว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยจนกว่าจะถึงเช้าวันนี้ (9 พ.ย.)

ทั้งนี้ มีรายงานว่ามีการปฏิบัติผิดกฎระเบียบการเลือกตั้ง การคุกคามข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งมีการตกหล่นของบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งบ้างในบางคูหาเลือกตั้ง ขณะเดียวกันได้เห็นบรรยากาศที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเข้าแถวรอลงคะแนนเสียงจำนวนมาก บ้างก็ช่วยพาคนชราไปลงคะแนนเสียง ท่ามกลางความหวังว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในเมียนมา

ส่วนที่รัฐมอญ ทางตะวันออกของนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 5 ล้านคน คณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมากล่าวว่า เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งจำนวน 1,800 คนได้เข้าประจำการเพื่อทำหน้าดำเนินการเลือกตั้ง และมีเพียงเมืองเดียวเท่านั้นที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ ส่วนในคูหาเลือกตั้งอื่นๆ มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งระบุว่า อยากเห็นผลการเลือกตั้งที่ทำให้คนหนุ่มสาวมีงานทำในท้องถิ่นและไม่ต้องเดินทางไปทำงานนอกประเทศ ขณะเดียวกัน บรรดาผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วได้ทาหมึกสีม่วงที่นิ้วของตัวเอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงแล้ว

***ท่าขี้เหล็กต่อแถวเข้าคูหายาวเหยียด

บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของเมียนมา หรือเมียนมา ในท่าขี้เหล็กคึกคัก แรงงานผู้มีสิทธิเลือกตั้งข้ามแดนต่อแถวเข้าหน้าคูหากันยาวเหยียด บางคนบอกเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ใช้สิทธิ หลังถูกจัดอยู่นอกระบบผู้มีสิทธิมาตลอด โดยที่หน้าด่านพรมแดนไทย-เมียนมา ด้านอ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังคงมีชาวเมียนมาเข้าแถวทำเอกสารขอข้ามพรมแดนไปเลือกตั้งกันต่อเนื่อง หลังจากบางส่วนเดินทางข้ามแดนไปก่อนแล้ว

นางสาวมู เล อายุ 21 ปี ชาวจ.ท่าขี้เหล็ก ตรงกันข้ามอ.แม่สาย กล่าวว่า ตนทำงานในประเทศไทย และรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้ไปเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะเป็นครั้งแรกของตน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยอยู่ในระบบที่สามารถไปใช้สิทธิได้เลย แต่ยอมรับไม่รู้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเมียนมามากนัก จึงพยายามติดตามข่าวสารในช่วงหลังๆ
ส่วนการไปใช้สิทธิก็ยังคงติดปัญหาเรื่องสถานที่ การไม่ทราบขั้นตอน คูหา เพราะต่างห่างเหินการเลือกตั้งกันมานานแล้ว จึงอาศัยการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ญาติพี่น้อง เช่นเดียวกับแรงงานเมียนมาคนอื่น แต่ทุกคนก็อยากให้พรรคการเมืองที่ดี สนใจเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนเข้ามาบริหารประเทศ

รายงานข่าวจากด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สายแจ้งว่า ตามปกติจะมีผู้เดินทางเข้าออกผ่านด่านพรมแดน อ.แม่สาย เชื่อมกับท่าขี้เหล็กวันละประมาณ 4,000-5,000 คน แต่ในช่วงก่อนการเลือกตั้งระยะเวลา 3 วันมานี้พบว่ามีคนเดินทางเข้าไปยังเมียนมากว่า 6,000-7,000 คน ขณะที่การขนส่งสินค้าจากฝั่งไทย ซึ่งตามปกติจะขนส่งเข้าไปยังประเทศเมียนมาครั้งละมากๆ ก็เข้าสู่ภาวะซบเซาลงชั่วคราว เพราะชาวเมียนมาบางส่วนนัดหยุดงานเพื่อรอไปเลือกตั้ง

ส่วนบรรยากาศตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆในตัวเมืองท่าขี้เหล็ก พบว่ามีประชาชนชาวเมียนมา เข้าแถวเพื่อรอยื่นเอกสารเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งตามคูหาต่างๆ อย่างหนาแน่น บางจุดถึงกับเกิดปัญหารถติด และมีคนต้องเข้าแถวยาวจากหมู่บ้านไปจนถึงจุดเลือกตั้ง แม้แต่ในหอประชุมบางแห่งก็เนืองแน่นไปด้วยผู้คน แต่บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น

***"ซู จี" ไปใช้สิทธิท่ามกลางทัพสื่อ-ฝูงชน

นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านเมียนมา ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ท่ามกลางการรุมล้อมของสื่อที่เบียดเสียดแย่งกันบันทึกภาพนาทีประวัติศาสตร์ ที่หน่วยเลือกตั้งบาฮันในนครย่างกุ้ง เมื่อเวลา 8.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 9.20 น. ตามเวลาในไทย ซึ่งช้าจากกำหนดการเดิม ที่นางซูจี จะไปลงคะแนนเสียงกว่า 1 ชั่วโมง เธอใช้เวลาในคูหาเลือกตั้งนาน 5 นาที และฝูงชนที่เฝ้ารอใช้สิทธิต่างส่งเสียงตะโกนยินดีที่ได้เห็นเธอใช้สิทธิ รวมทั้งหลายคนตะโกนคำว่า ชัยชนะ ชัยชนะ ตอนที่รถของเธอมาถึงหน่วยเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเกือบ 30 ล้านคน และหน่วยเลือกตั้งจะปิดลงคะแนนในเวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นหรือตรงกับ 16.30 น.ตามเวลาไทย ตัวแทนราว 100,000 คน จากพรรคการเมืองต่างๆ บวกกับผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งทั้งในประเทศ และต่างประเทศอีกกว่า 10,000 คน จะร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศที่มีกว่า 40,000 แห่ง ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีการระดมกำลังตำรวจกว่า 40,000 นาย ประจำตามคูหาเลือกตั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการชิงชัยที่นั่งในสภาจำนวน 664 ที่นั่ง และมีผู้สมัครเลือกตั้งมากกว่า 6,000 คน จาก 90 พรรคการเมือง นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลพลเรือน หลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมานานกว่า 50 ปี ท่ามกลางความวิตกเรื่องความเป็นธรรมในการจัดการเลือกตั้ง เพราะมีการกำจัดสิทธิการเลือกตั้งกับชนกลุ่มน้อยจำนวนหลายแสนคนในประเทศ รวมทั้งชาวโรฮีนจา

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองสำคัญอย่างพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือยูเอสดีพี ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกองทัพ กับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ของนางอองซาน ซูจี ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าน่าจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่าตัวของนางอองซาน ซูจี จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ก็ตาม เนื่องจากคุณสมบัติไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะเธอสมรสกับชาวต่างชาติ แต่นางซูจีก็ได้ประกาศล่วงหน้าไว้แล้วว่า เธอจะทำงานอยู่เหนือประธานาธิบดี หากว่าพรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยชนะได้สำเร็จ

ทั้งนี้ พรรคเอ็นแอลดีต้องการที่นั่งในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 67 จึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ที่นั่งในสภาร้อยละ 25 สงวนไว้ให้กับผู้แทนจากกองทัพ โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งด้วย โดยด้านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ผู้นำเมียนมาคนปัจจุบันกล่าวก่อนการเลือกตั้งว่า จะยอมรับต่อผลการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

***EU ระบุการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายอเล็กซานเดอร์ ลอมบ์ดอร์ฟ หัวหน้าคณะสังเกตการณ์เลือกตั้งแห่งสหภาพยุโรป กล่าวว่า จากการสังเกตการณ์เลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาพบว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้จะพบปัญหาเกิดขึ้นบ้างในบางพื้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นปัญหาเฉพาะในพื้นที่นั้นๆ พร้อมยอมรับว่าไม่มีประเทศใดที่สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างสมบูรณ์แบบ

โดยคณะสังเกตการณ์เลือกตั้งแห่งสหภาพยุโรปได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ 150 คน ประกอบด้วยเป็นผู้แทนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจำนวน 28 ประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้งร่วมติดตามการนับคะแนน และปฏิกิริยาหลังจากการเลือกตั้งด้วย หัวหน้าคณะสังเกตการณ์เลือกตั้งแห่งสหภาพยุโรปยืนยันว่า เจ้าหน้าที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด แม้จะพบความผิดปกติขึ้นในระหว่างการเลือกตั้งก็ตาม แต่จะจดบันทึกสิ่งที่พบเห็นและนำมาเป็นข้อสรุปในตอนท้าย

***นักวิเคราะห์มองเค้าลางปัญหาจะเริ่มต้น

วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า นักวิเคราะห์หลายสำนักระบุว่า การเลือกตั้งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเมืองหลายอย่างที่รอการแก้ไข ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะก็ตาม ส่วนซีเอ็นบีซีมองว่า บรรดานักลงทุนต่างจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างมาก เนื่องจากเมียนมากำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปเศรษฐกิจและการลงทุนด้วย ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า หากพรรคเอ็นแอลดีได้รับชัยชนะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางใด เนื่องจากยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศและเศรษฐกิจมาก่อน

ขณะที่เมียนมา ไทม์ส ระบุว่า ทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลยังขาดการหาเสียงด้านนโยบายที่ชัดเจนมากพอว่าจะนำเมียนมาพัฒนาไปอย่างไรทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง

"สิ่งที่สำคัญมากกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ การสร้างความเชื่อมั่น การประนีประนอม และเจรจาแลกประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างฝ่ายที่แพ้และชนะ แต่จากการหาเสียงที่ผ่านมาสะท้อนว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่พร้อมที่จะเจรจากันเท่าใดนัก" นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เมียนมารายหนึ่งกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น