ซีเอ็นบีซี - สื่อต่างประเทศอ้างนักวิเคราะห์บอกว่าความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในไทยกัดเซาะเศรษฐกิจ แต่ความเสี่ยงแผ่ลามไปทั่วภูมิภาคนั้นถือว่าเล็กน้อยมาก ด้วยบางประเทศถึงขั้นอาจได้ประโยชน์จากวิกฤตนี้ด้วยซ้ำ
เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีของสหรัฐฯ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ตามหลัง 7 เดือนแห่งความยุ่งเหยิงทางการเมือง และ 2 วันหลังจากประกาศอัยการศึกทั่วประเทศ
ซีเอ็นบีซีรายงานว่า เศรษฐกิจของไทยไม่ได้รับบาดเจ็บมากเท่าไหร่จากภาวะความยุ่งเหยิงทางการเมืองก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2014 กลับพบว่าจีดีพีของประเทศหดตัวมากกว่าคาดหมายไว้ที่ร้อยละ 2.1 กระตุ้นให้เหล่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ปรับลดประมาณการเติบโตตลอดทั้งปีลง
กระนั้นก็ดี ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ซึ่งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม ตอนที่เริ่มต้นประท้วงต่อต้านรัฐบาลใหม่ๆ จนถึงต้นเดือนมกราคม ร่วงลงเกือบร้อยละ 19 ทว่านับตั้งแต่นั้นมันก็ค่อยๆ ฟื้นขึ้นและถีบตัวกลับมากว่าร้อยละ 15 แล้ว
"ผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของวิกฤตการเมืองไทยน่าจะจำกัดวงอยู่แค่ภายในประเทศเท่านั้น" คริสตัล ตัน นักเศรษฐศาสตร์เอเชียจากสถาบันแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ให้ความเห็นกับซีเอ็นบีซี "นักลงทุนตระหนักดีว่าความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของไทยเป็นกรณีโดดๆ และประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคมีภูมิคุ้มกันเงินทุนจากภายนอก ซึ่งสามารถจำกัดความเสี่ยงจากภาวะลุกลามได้" เธอกล่าว
นอกจากนี้แล้ว ตันยังบอกว่าขณะที่เงินทุนต่างประเทศไหลออกจากไทยนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน การไหลบ่าของเงินทุนต่างประเทศเข้าสู่อาเซียนก็ยังเป็นบวกอยู่ "นับตั้งแต่เดือนพฤษจิกายน ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียดีกว่าภูมิภาคเกิดใหม่อื่นๆ แม้ว่าตลาดทุนของไทยต้องดิ้นรนอย่างหนักก็ตาม"
ซีเอ็นบีซีรายงานต่อว่ามีนักวิเคราะห์บางรายเห็นแย้ง ด้วยบอกว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตของไทย "มันส่งผลกระทบทางลบด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค ด้วยในเอเชียเป็นการขายแบบแพกเกจ ดังนั้นถ้ามีปัญหาในประเทศหนึ่งๆ มองได้ว่ามันน่าจะส่งผลกระทบทั้งภูมิภาคด้วย" นายฮัค บิน ชัว นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเมอร์ริลล์ ลินซ์ พร้อมชี้ว่า ศูนย์กลางทางการเงินอย่างสิงคโปร์อาจได้รับผลกระทบทางลบ ในขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและกระแสการลงทุนในหลักทรัพย์ของไทยลดลง
อย่างไรก็ตาม ตันเชื่อว่าความยุ่งเหยิงทางการเมืองของไทยอาจเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจชาติเพื่อนบ้าน ผ่านรายได้ด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระลอกใหม่ ขณะที่ผู้คนทบทวนปรับแผนการลงทุนและเดินทาง
นักเศรษฐศาสตร์เอเชียจากสถาบันแคปิตอล อีโคโนมิกส์ รายนี้ชี้ว่าอาจพบเห็นเวียดนามและมาเลเซียมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์อาจกลายเป็นแหล่งลงทุนทางเลือกที่น่าดึงดูดใจ โดยเฉพาะได้มีการปรับปรุงพื้นฐานทางเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้
ยิ่งกว่านั้น บริษัทต่างชาติหลายแห่งอาจเริ่มทบทวนแผนลงทุนระยะยาวในไทย อ้างถึงกรณีที่ ฮอนด้า บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นที่ปรับลดการผลิตในไทยเมื่อไม่นานที่ผ่านมา และชะลอแผนเปิดโรงงานใหม่มูลค่ากว่า 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ