xs
xsm
sm
md
lg

ค้านแก้กม.สสส.ตั้ง“7อรหันต์” ประเมินผลงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

2 สนช.ค้านแก้กฎหมาย สสส.หวั่นกลับสู่ยุคเก่า เน้นการรักษาโรค แนะปรับปรุงแก้ไขระเบียบ สสส. และวิธีการเพื่อสร้างความโปร่งใสแทน ย้ำกรรมการ สสส.ไม่ควรนั่งกรรมการมูลนิธิขอรับทุน เผยประกาศราชกิจจาฯ ประกาศสำนักนายกฯ แต่งตั้ง "7อรหันต์" คณะกรรมการประเมินผล การทำงาน สสส.

วานนี้ (5 พ.ย.) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกระแสข่าวการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ว่า จากการตรวจสอบการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทุกปีเห็นว่า สสส.ทำประโยชน์ได้ดี อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่ใช้มาแล้วและกำลังถูกครหาก็ต้องถูกตรวจสอบ อย่าง สสส.เองก็ต้องถูกตรวจสอบ คนที่ทำความดีก็ต้องตรวจสอบได้ แต่ก็ต้องดูองค์กรที่เข้ามาตรวจสอบด้วยว่าเป็นมาตรฐานหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังเป็นข้อสงสัยทั้งฝ่ายผู้ถูกตรวจสอบและผู้เข้ามาตรวจสอบ สำหรับประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน สสส.เองก็ต้องแก้ไขวิธีการอนุมัติ กรรมการ สสส.ไม่ควรนั่งอยู่ในกรรมการมูลนิธิที่เข้ามาขอรับทุน ตรงนี้ต้องหลีกเลี่ยง รวมถึงดูว่าเรื่องไหนเกินหน้าที่ของ สสส.ต้องแบ่งให้คนอื่นเขาทำ

"หากยืนยันที่จะแก้กฎหมาย อย่าให้ย้อนกลับไปสู่ยุคที่นักการเมืองขย้ำองค์กร สสส.เรียกว่าวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง ซึ่งมันจะกลับไปสู่หลักการคอนเซอร์เวทีฟ คิดแต่เรื่องรักษาโรค ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมี สสส.ก็ได้ เพราะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็มีหน้าที่ตรงนี้อยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าหากจะแก้กฎหมายต้องชัดเจนว่าจุดไหน แค่ไหน กระบวนการต้องชัดเจน ไม่ใช่แก้รื้อจนเขาต้องยุบไปหมด ถ้าเป็นอย่างนั้นรัฐบาลเองก็ต้องตอบคำถามสังคม ต้องอธิบายให้ได้" นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า ขณะเดียวกันระเบียบกฎหมายของ สสส. หากมีปัญหาตรงไหนก็แก้ไขได้ แก้ในส่วนของระเบียบภายใน ปรับปรุงนโยบายวิธีการของ สสส.ซึ่งตรงนี้ทำได้เลย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและตอบคำถามเรื่องโปร่งใสต่อสังคม ส่วนองค์กรที่เข้ามาตรวจสอบต้องมีข้อตกลงร่วมทั้ง 2 ฝ่ายให้ชัดเจน สตง.ต้องมีมาตรฐาน สร้างบรรทัดฐานเรื่องสุขภาพสุขภาวะ ให้ทันสมัยต่อโลก ไม่เช่นนั้นเรื่องที่ทำมาหากใช้ระเบียบเก่าความคิดเก่าในการตรวจสอบงานที่ทำมาก็ผิดกันทั้งประเทศ
นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช. กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากแก้กฎหมาย สสส.เท่ากับเป็นการย้อนยุคนำไปสู่ระบบราชการแบบจารีตนิยมหรือไม่ อย่าพยายามทำให้ สสส.แคบลง หันไปสู่กรอบความคิดเดิม เพราะเป็นระบบที่ตึงไม่เอื้อกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนา ที่สำคัญระบบแบบนี้ยิ่งจะมีการทุจริตมากขึ้น เพราะไม่มีใครล่วงรู้ ไม่มีใครมีส่วนร่วม ทุกอย่างเป็นแนวเส้นตรงจากบนสู่ล่าง มันดูเหมือนดี แต่ระบบแบบนี้พิสูจน์ให้เห็นมานานแล้วว่าเป็นระบบแนวดิ่ง ระบบสั่งการและล่าช้า ไม่ก่อให้เกิดนวัตกรรมสร้างความคิด เพราะทุกคนเกรงกลัวไปหมด ขณะนี้กระแสปราบคนโกงสังคมร่วมตรวจสอบซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ลืมสร้างสิ่งดีๆส่งเสริมให้คนทำดี

“เห็นด้วยว่า สสส.ต้องได้รับการตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขระเบียบ แต่ไม่ควรแก้กฎหมาย เพราะขั้นตอนการทำงาน หรือคนทำงานก็ควรได้รับการปรับปรุงตรวจสอบ หากพบว่ามีการทุจริตใช้เงินไม่คุ้ม ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะโครงการนั้น ซึ่งการปรับปรุงสสส.ควรเป็นการให้สสส.ทำงานที่กว้างขึ้นกว่าเดิมถึงจะส่งผลดีต่อสุขภาวะ สร้างสังคมเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามหากแก้กฎหมายแล้วดึงสสส.ไปสู่บริบทเก่า ก็ไม่ต่างอะไรจากกระบวนการจ่ายเงินมากกว่ามองผลกระทบและผลลัพธ์ที่จะได้” นายมณเฑียร กล่าว

แต่งตั้ง ‘7อรหันต์’ประเมินผลงานสสส.

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ (5พ.ย.) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประเมินผล การดำเนินงานของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 มิ.ย.55 และ 30 ธ.ค.57) อนุมัติให้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 7 คน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 28มิ.ย.55 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 5 มกราคม 2558 นั้น

บัดนี้ ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการดังกล่าวได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปีแล้ว เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 คณะรัฐมนตรีโดยการเสนอแนะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีมติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 อนุมัติให้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 7 คน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป ดังนี้

1.รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการ 2.รองศาสตราจารย์ปาริชาติ วลัยเสถียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการประเมินผล3. รองศาสตราจารย์นภาภรณ์ หะวานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการประเมินผล 4. นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ

5. นางเพชรศรี ศิรินิรันดร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ 6. ศาสตราจารย์วรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน และ 7. นายมนัส แจ่มเวหา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 58 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 58

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น